svasdssvasds

ปิดตำนาน แดงซ่า ช้างประจำเขาสอยดาวล้มแล้ว จากเหตุรั้วไฟฟ้าช็อต

เปิดวีรกรรม พลายสีดอแดง ช้างแสนรู้ตัวใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่เสียชีวิตเมื่อเช้าวันที่ 21 ธ.ค. 64 จากการถูกรั้วไฟฟ้าช็อต บ่งชี้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่าง คนกับช้าง

เมื่อเช้าวันที่ 21 ธ.ค.2564 เวลา 07.00 น. เจ้าหน้าที่ไดรับแจ้งมีช้างถูกลวดไฟฟ้าช็อตตาย 1 ตัว บริเวณสวนผลไม้ราษฎร ริมเขาสอยดาวใต้ หมู่ 1 ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน  จ.จันทรบุรี

“พลายสีดอแดง” หรือ “แดงซ่า” เป็นช้างป่าเพศผู้ อายุ 18 ปี น้ำหนักราว 7 ตันกว่า มีชื่อเสียงกว้างไกลในเขตพื้นที่อำเภอเขาคิชฌกูฏ อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทรบุรี เคยมีคดีติดตัวจากพฤติกรรมทำร้ายคนจนเสียชีวิต แต่ฉายานี้ไม่ได้มาง่ายๆ ไปดูวีรกรรมในอดีตของแดงซ่ากัน 

ปิดตำนาน แดงซ่า ช้างประจำเขาสอยดาวล้มแล้ว จากเหตุรั้วไฟฟ้าช็อต พลายสีดอแดง ถือว่าเป็นช้างที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและมีความฉลาดอย่างมากในการหาทางหนีออกไปจากศูนย์กักกัน เช่น  มันฟื้นจากยาสลบที่ฉีดไป 12 เข็มและวิ่งหนีไป วิธีการหนีของมันคือ บริเวณรอบๆศูนย์กักกันจะมีคูน้ำลึกกันช้างหนี แต่มันกระทืบคูน้ำซ้ำๆเพื่อให้คูตื้นเขินขึ้น และข้ามไป จากนั้นใช้โคลนมาพ่นใส่ตัวเอง รอให้โคลนแห้ง แล้วค่อยๆเดินเบียดลวดไฟฟ้าให้ลำตัวชินกับกระแสไฟกว่า 9,000 โวลต์ และทำแบบนี้สลับไปมาหลายครั้ง จนหลบหนีออกไปได้สำเร็จ และแม้ว่ามันจะมีเครื่องส่งสัญญาณที่คอ มันก็ไม่เคยเกรงกลัวเลย

พลายสีดอแดง ล้ม เช้าวันที่ 21 ธ.ค.64 Cr.นอภ.มะขาม /นอภ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาช้างไทยถูกลวดไฟฟ้าช็อต

ประเทศไทยมีจำนวนช้างถูกลวดไฟฟ้าช็อตเสียชีวิตหลายราย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรณีปัญหาการออกนอกพื้นที่ของ “ช้างป่า” ถือเป็นเรื่องที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามพฤติกรรมของสัตว์ โดยทุกๆปีเราจะพบกับข่าวว่าช้างออกหากินตามสวนผักผลไม้ของชาวบ้านอยู่เป็นประจำ สร้างความหวาดกลัวให้กับคนในพื้นที่

แต่การที่จะสร้างความสงบและการอยู่ร่วมกันอย่างเสรี ระหว่างคนกับช้างได้นั้น ตามข้อคิดเห็นและข้อมูลจากบทความของมูลนิธิสืบนะคะเสถียร ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่าง คน-ช้างป่า ทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เราต้องเข้าใจพฤติกรรมของช้างป่า ส่วนวิธีการแก้ปัญหาอาจขึ้นอยู่กับบริบทชุมชนนั้นๆ เหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่ว่าเคยเกิดขึ้นเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น และปัญหาจำนวนช้างประชิดขอบป่ามากขึ้นนั้น สิ่งที่ดีกว่าคือการเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับช้าง แม้ว่าในบางพื้นที่จะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ด้วยข้อจำกัดของชุมชนและปัจจัยต่างๆ

ปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ป่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและดูจะทวีความรุนแรงขึ้น ระหว่างคนกับช้าง ช้างเข้าไปทำลายพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร หรือทำร้ายมนุษย์ และชาวบ้านก็มักจะตอบโต้ด้วยการทำร้ายช้างกลับ ทำให้มันตื่นกลัว ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตทั้งคนและช้าง และปัญหานี้ต้องเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด แม้ว่าวิธีที่นำมาใช้นั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อยถ้าสามารถลดความสูญเสียได้บ้างก็คงดี

วิธีการที่สามารถบรรเทาความเสียหายและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้จากการรวมรวมความคิดเห็นจากบุคคลที่มีความเชี่ยวชายและประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับช้างป่า ได้ใจความว่า

ศึกษาพฤติกรรมและสำรวจกลุ่มประชากรช้างป่า – การเก็บข้อมูลทั้งหมดทั้งประชากร การกระจายพื้นที่หากิน พฤติกรรมการหาอาหาร จะนำไปสู่การวางแผนการจัดการที่ดีเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารของช้าง – หากช้างที่พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เพียงพอ โอกาสที่จะออกนอกเขตป่าจึงเป็นไปได้น้อยลง

การสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือกับคนในพื้นที่หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย – การลงพื้นที่อธิบายทำความเข้าใจพฤติกรรมช้างป่ากับชาวบ้าน รวมไปถึงวิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ซึ่งหน้าระหว่างคนกับช้างป่า เบื้องต้นควรทำอย่างไร

และสำหรับผู้ที่เดินทางผ่านหรือเข้าออกพื้นที่ที่มีช้างป่ากำลังออกหากินนั้น ขอความร่วมมือไม่ส่งเสียงดังรบกวนโขลงช้างและบันทึกเบอร์ฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไว้ เช่น สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362

หรือทำ 10 ข้อปฏิบัติเมื่อเจอฝูงช้างบนถนน

  1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้ค่อยๆเคลื่อนรถหนีอย่างมีสติ
  2. อย่าใช้แตรรถ  หรือส่งเสียดังรบกวนหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้มันโกรธและตรงเข้ามาหาได้
  3. งดการใช้แฟรชถ่ายรูป เหมือนกับเสียงแตรรถ ช้างอาจตกใจและตรงเข้ามาทำร้ายได้เช่นกัน
  4. ให้ติดเครื่องยนต์ไว้เสมอ อย่าดับเครื่อง เพื่อหลบหนีได้อย่างท่วงทีหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน
  5. หากพบช้างตอนกลางคืน ให้เปิดไฟหน้ารถไว้เสมอ เพื่อสังเกตท่าทีของช้าง และห้ามกระพริบไฟ เพราะอาจดึงดูดช้างให้เข้าหา
  6. ประสาทสัมผัสที่ดีที่สุดของช้าง คือ หู จมูกและตา ถ้าดับเครื่องบยต์แล้วช้างเข้ามาหา แสดงว่ามันใช้การดมและสัมผัส แต่จะเข้ามาแค่แตะๆ
  7. หากอยู่กลางวงล้อมของช้าง หากเป็นกลางคืนให้ใช้ไฟต่ำและค่อยเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย ห้ามดับเครื่องหรือปิดไฟเป็นอันขาด
  8. ไม่ควรจอดรถดูช้าง หากมีรถตามหลังมา คุณจะสามารถหลีกหนีออกมาได้ยากหากเกิดเหตุไม่คาดคิด
  9. ความสามัคคีคือพลัง หากคันด้านหน้าเริ่มมีท่าทีไม่ดี คันหลังต้องค่อยๆถอยออกมา
  10. อย่าลงไปจากรถเพื่อไปถ่ายรูปหรืออะไรก็แล้วแต่ หากช้างวิ่งมา คุณอาจวิ่งขึ้นรถไม่ทันก็ได้ และอย่าลืมว่าช้างอยู่กันเป็นครอบครัวหรือฝูง การที่คุณเห็นช้างยืนอยู่ตัวเดียวไม่ได้ทำให้คุณปลอดถัยขึ้น เมื่อเกิดเหตุช้างที่คุณไม่เห็นอาจโผล่มาทำร้ายคุณได้

ที่มาข้อมูล

https://d.dailynews.co.th/regional/

https://www.facebook.com/NBTcentral11HD/

https://www.facebook.com/DNP1362/

เฟซบุ๊ก เสกสม แจ้งจิต

https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_416362

https://www.facebook.com/tnamcot/

https://www.matichon.co.th/region/news_2027514

https://www.seub.or.th/bloging/news/

https://www.seub.or.th/bloging/

https://www.seub.or.th/bloging/

https://news.thaipbs.or.th/content/276253

related