svasdssvasds

สอท. ถก Shopee คลายปมเงินลูกค้าถูกดูดจากบัญชี คาดกรอกข้อมูล เว็บ-แอป เถื่อน

สอท. ถก Shopee คลายปมเงินลูกค้าถูกดูดจากบัญชี คาดกรอกข้อมูล เว็บ-แอป เถื่อน

ตำรวจไซเบอร์ ถกช้อปปี้ เร่งคลายปมกรณีเงินลูกค้าถูกดูดออกจากบัญชีที่ผูกไว้หายปริศนา คาดกรอกข้อมูล "เว็บไซต์-แอปพลิเคชัน" เถื่อน พร้อมแนะวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

 จากกรณีที่มีกลุ่มผู้เสียหายเข้าร้องเรียนว่าถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารที่ผูกไว้กัแอปพลิเคชัน Shopee (ช้อปปี้) โดยไม่ทราบสาเหตุ และเจ้าของบัญชีไม่ได้มีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แต่อย่างใด

 ล่าสุดทางกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ ได้มีการเข้าร่วมหารือกับ ช้อปปี้ ประเทศไทย และช้อปปี้เพย์ ประเทศไทย เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรและใครคือผู้กระทำความผิด

จากการตรวจสอบเบื้องต้น สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการที่ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้เข้าไปกรอกข้อมูลทางการเงินผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปใช้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

 ทั้งนี้ สอท.จะนำข้อมูลที่ได้รับจากการประสานงานทางบริษัทช้อปปี้ มาเปรียบเทียบกับคำให้การของผู้เสียหาย แต่ละรายว่า คนร้ายมีแผนประทุษกรรม กี่รูปแบบ เพื่อนำมาวิเคราะห์ รูปแบบ และวิธีการของคนร้าย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• เตือนภัย! SMS ปลอมจากมิจฉาชีพ เปิดจุดสังเกตที่ต้องรู้ ก่อนตกเป็นเหยื่อโจร

• Shopee แจ้งปิดชำระเงินผ่านบัญชีธนาคาร 6 ธ.ค. พบคนละช่องทางปมเงินลูกค้าหาย

• ผู้เสียหาย เดินหน้าขอเข้าพบ Shopee หลังปัญหาไม่คืบ

 การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการ ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 และหากมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้พึงระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

 

แนวทางป้องกันเพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

หลีกเลี่ยงการให้หักเงินในบัญชีธนาคารอัตโนมัติ

ใช้วิธีเก็บเงินปลายทาง หรือชำระสินค้าผ่าน QR code แทน

บัญชีธนาคารที่ผูก หรือเชื่อมไว้กับแอปพลิเคชันซื้อสินค้าออนไลน์

ควรมีจำนวนเงินในบัญชีไม่มาก

หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก

หากไม่รู้ที่แหล่งมา ควรดาวน์โหลดใน AppStore หรือ Playstore เท่านั้น

ระมัดระวังการกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม

ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาให้เหมือนกับเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันจริง เพื่อหลอกเอาข้อมูล โดยหากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ด้วยตัวเองเท่านั้น

ตั้งค่าการแจ้งเตือนการทำรายการบัญชีธนาคารผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือแอปพลิเคชันไลน์ (Line)

หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือออนไลน์

ที่ต้องกรอกข้อมูลเลขด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวหลังบัตร (CVV)

ควรนำแผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร (CVV)

หรือจำรหัส 3 ตัวดังกล่าวเก็บเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตรเพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน

หากพบสิ่งผิดปกติของบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต ให้ทำการแจ้งไปยังธนาคาร

เพื่อทำการอายัดบัตร และปฏิเสธการชำระเงินค่าบริการทางออนไลน์

 ทั้งนี้หากประชาชนได้รับความเสียหาย ให้ทำการตรวจสอบรายการเดินบัญชี รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งความกับพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนกฎหมาย หรือพบเบาะแสการกระทำผิด ข้อขัดข้องใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ thaipoliceonline หรือช่องทางบริการลูกค้าอย่างเป็นทางการของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม อาทิ Shopee และ ShopeePay ทุกกรณีจะถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. - CCIB

related