svasdssvasds

หมอวีระศักดิ์ ยัน อะมีบากินสมอง ไม่ใช่โรคระบาด

หมอวีระศักดิ์ ยัน อะมีบากินสมอง ไม่ใช่โรคระบาด

หมอวีระศักดิ์ ยัน อะมีบากินสมอง หรือ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบาไม่ใช่โรคระบาด หลังพบชายเกาหลีใต้กลับจากไทยติดเชื้อจนเสียชีวิต สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการสำลักน้ำในเเหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สะอาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

จากกรณีข่าวชายชาวเกาหลีใต้อายุ 50-60 ปี เสียชีวิตจากโรคสมองอักเสบจากการติดเชื้อ "อะมีบา Naegleria fowleri" หรืออะมีบากินสมอง หลังกลับจากประเทศไทยนั้น

ล่าสุด "หมอหมู" รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับโรค "อะมีบากินสมอง" หรือ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา โดยระบุว่า...

อะมีบากินสมอง (โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา) ไม่ใช่โรคระบาด

ข้อเท็จจริงตามเนื้อข่าว

1) เกาหลีใต้ ยืนยันพบผู้เสียชีวิตจากเชื้ออะมีบากินสมองรายแรกของประเทศ เป็นชายวัย 50 ปี ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศไทย

2) สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีใต้ (KDCA) แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ (26 ธ.ค.) ว่า เกาหลีใต้ พบผู้เสียชีวิตรายแรกจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา หรืออะมีบากินสมอง โดยผู้เสียชีวิตเป็นชายอายุประมาณ 50 ปี มีประวัติเดินทางกลับจากไทยเมื่อ 10 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา หลังพำนักในไทยประมาณ 4 เดือน โดยเขาถูกนำส่งโรงพยาบาล และตรวจพบเชื้อเมื่อ 11 ธ.ค. 65 และเสียชีวิตเมื่อ 21 ธ.ค. 65

3) สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีใต้ ระบุว่า มีการตรวจทางพันธุกรรมเพื่อยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตของชายคนดังกล่าวแล้ว โดยพบว่า 99.6 เปอร์เซ็นต์ ตรงกับเชื้ออะมีบากินสมองที่พบในต่างประเทศ นับว่านี่เป็นผู้เสียชีวิตจากเชื้ออะมีบากินสมองรายแรกที่พบในเกาหลีใต้ หลังจากที่พบผู้ป่วยรายแรกในโลกที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2480

ข้อเท็จจริงจากงานวิจัยเชิงระบาดวิทยา

1) โรคอะมีบากินสมอง มีรายงานครั้งแรกจากประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2508 ส่วนในไทยก็พบผู้ป่วยรายงานครั้งแรกในปี 2525

2) พบการแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะที่ไทย (อินเดีย สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น) ตั้งแต่ปี 2560 มีผู้ติดเชื้อดังกล่าวทั่วโลก 381 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกา 154 คน และมีอัตราเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 97

3) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526-2564 ประเทศไทยพบเพียง 17 ราย ในจำนวนนี้ 14 คน (82%) เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 12 ปี (ต่ำที่สุด 8 เดือน มากที่สุด 71 ปี) เป็นสัญชาติไทย 16 ราย เเละสัญชาตินอร์เวย์ที่เดินทางกลับจากไทย 1 ราย

4) ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีประวัติสำลักน้ำที่ไม่สะอาดจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ (แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง)

5) ไม่ติดต่อจากการดื่มน้ำ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน

ความเห็น

“ไม่ควรตระหนกกับโรคอะมีบากินสมอง แต่ควรตระหนักกับปัญหาเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ”

โอกาสที่คนเราจะติดเชื้ออะมีบาจนถึงขั้นสมองอักเสบ และเสียชีวิตนั้นมีน้อยมาก แต่เราพบกับปัญหาเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่า โดยพบว่าใน ปี 2564 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำ 6.0 คนต่อประชากรเด็กแสนคน หรือ 658 คน ซึ่งถือเป็นสาเหตุการตายสูงสุดสำหรับเด็กวัยนี้มากกว่าสำลักน้ำ แล้วติดเชื้ออะมีบากินสมองไม่รู้กี่เท่าตัวครับ

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบา

เกิดจากเชื้ออะมีบาชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri) เข้าสู่คนผ่านการ "สำลักน้ำที่มีเชื้ออะมีบานั้นเข้าจมูก" โดยการว่ายน้ำและเกิดการสำลักน้ำเข้าจมูกอย่างรุนแรง เชื้อที่ปนอยู่ในน้ำ จะผ่านเข้าทาง ประสาทรับรู้กลิ่นในจมูก และเข้าสู่สมอง

สำหรับอาการทั่วไปของผู้ติดเชื้อนี้จะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ เวียนหัว และอาเจียน ปวดศีรษะ ซึ่งจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยจะแสดงอาการตั้งแต่ 3-15 วัน แต่ยังไม่พบการติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ ในรายที่รุนแรงจะพบเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

วิธีการป้องกันติดเชื้ออะมีบาจากการสำลักน้ำ

1) หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในเเหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สะอาด

2) หากสำลักน้ำเข้าจมูกให้รีบสั่งน้ำออกแรงๆ และล้างจมูกด้วยน้ำต้มสุกที่สะอาดหรือน้ำเกลือ

3) หากมีประวัติเสี่ยงร่วมกับมีอาการป่วยน่าสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำไม่สะอาด

อ้างอิงข้อมูลจาก: The Straits Times / CNN / CDC (USA.) / PubMed / กรมควบคุมโรคฯ

ขอบคุณภาพจาก: MCOT NEWS FM 100.5 / CNN / PubMed

เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี

อะมีบากินสมอง

อะมีบากินสมอง

อะมีบากินสมอง

 

related