"ดร.เสรี" เตือนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2566 คาดไทยได้รับผลกระทบรุนแรงทั้งภัยแล้ง น้ำท่วมใหญ่ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นภายในปี พ.ศ. 2573
การเปลี่ยนแปลงระบบภูมิอากาศ โดยมนุษย์เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกสู่บรรยากาศโลกในช่วง 150 กว่าปีที่ผ่านมา ก๊าซเรือนกระจกดูดซับและกักเก็บความร้อนที่แผ่ออกจากโลก ผลคือโลกร้อนขึ้น โดยเฉพาะการกระทำของมนุษย์ทั้งจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อนและในที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า
ขณะนี้สภาพอากาศรุนแรงทั่วโลกกำลังส่งสัญญาณต่อประเทศที่มีความเปราะบางอย่างประเทศไทย รวมถึงอุณหภูมิที่สูงผิดปกติในยุโรป จีน ญี่ปุ่นในช่วงฤดูหนาว อากาศหนาว และร้อนภายในวันเดียว อเมริกาพายุหิมะถล่มมลรัฐตอนกลาง และตะวันออก ปริมาณฝนตกหนักในฝั่งตะวันตกจากแม่น้ำในชั้นบรรยากาศ ภัยแล้ง และน้ำท่วมที่โหดร้ายกับประเทศอาร์เจนตินา และปากีสถานตามลำดับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• อังกฤษ ต้อง เจอสภาพอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในปี 2022
• ภัยพิบัติสภาพอากาศจากทั่วโลกช่วงปีใหม่ 2023 สะท้อนปัญหา Climate Change
• เหตุการณ์ บอมบ์ไซโคลน - โลกรวน ทำให้สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโกเจอวิกฤตสภาพอากาศ
ทางฝั่งคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าอุณหภูมิโลกอาจจะสูงขึ้นประมาณ 1.5oC ภายใน 5 ปีข้างหน้า ไทยจะเผชิญกับภัยคุกคาม และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
เริ่มจากภัยแล้งที่ยาวติดต่อกันตั้งแต่ปี 2566-2569 (โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80%) และตามมาด้วยน้ำท่วมใหญ่ในปี 2572-2573 และหลังปี 2573 ภัยคุกคามดังกล่าวจะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกอาจจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2oC (Overshoot) โดยเฉพาะระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พื้นที่ริมอ่าวไทยหัวตัว ก (สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กทม. และสมุทรปราการ) จะอยู่กันอย่างไร?
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ผมได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา (ท่านสังศิต พิริยะรังสรรค์) ไปสำรวจสภาพแหล่งน้ำทั้ง จ.ชัยภูมิ (น้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้ว) และมุกดาหาร ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนาไม่มีมีน้ำใช้ ทั้งๆที่อยู่ติดแม่น้ำโขงปริมาณน้ำมากมาย เวลาฝนตกก็ท่วมหลากผ่านไปลงแม่น้ำโขง
รศ.ดร.เสรี เผยว่า ได้สร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ของ จ.ชัยภูมิ ได้หารือกับท่านนายก อบจ. (ท่านอร่าม โล่ห์วีระ) เพื่ออธิบายเหตุ และผลของน้ำท่วม และน้ำแล้งของชัยภูมิ และเราจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ด้วยโครงการขนาดเล็ก ฝายแกนดินซีเมนส์ต้นน้ำ บ่อบาดาล สระเก็บน้ำ (รวมทั้ง จ.มุกดาหารของท่านนายก อบจ. ดร. จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์) เราไม่สามารถรอโครงการขนาดใหญ่ ที่พึ่งพิงงบประมาณภาครัฐได้ (กว่าจะมา 5-10 ปี) ชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไร เพราะปัญหา และความทุกข์มันเกิดขึ้นแล้ว และจะรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไข ชุมชนต้องเข้มแข็งด้วยตนเอง ชุมชนต้องกำหนดอนาคตตนเองว่าจะผ่านเรื่องน้ำแก้จนได้อย่างไร ?
รศ.ดร.เสรี คาดการณ์สภาพอากาศในประเทศไทย
ตั้งแต่วันที่ 16-20 มกราคม สภาพอากาศหนาวเย็นจะกลับมาจากความกดอากาศสูงจากแผ่นดินใหญ่น่ะครับ ภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบนอุณหภูมิจะลดลงจากปัจจุบัน (อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 12-14oC) พื้นที่ กทม. และปริมาณฑลก็จะมีอุณหภูมิเย็นสบายๆช่วงเช้าๆ (ประมาณ 19-20oC) ท่านใดที่วางแผนไปเที่ยวภาคเหนือ ภาคอีสานเตรียมเสื้อหนาวไปด้วยน่ะครับ มีลมแรงบ้างในบางพื้นที่ ส่วนปริมาณฝนตกหนักจะไม่มีน่ะครับ (ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม)
ที่มา : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์