svasdssvasds

"ทานตะวัน" ได้ประกันตัวแล้ว หลังศาลอาญาอนุญาต ส่งรักษาตัวใน รพ.ธรรมศาสตร์

"ทานตะวัน" ได้ประกันตัวแล้ว หลังศาลอาญาอนุญาต ส่งรักษาตัวใน รพ.ธรรมศาสตร์

ศาลอาญาอนุญาตให้ประกัน "ทานตะวัน" จำเลยคดี 112 เป็นเวลา 1 เดือน หลัง ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ยื่นคำร้องจำเป็นต้องรักษาตัว สุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤต อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

 วันนี้ (7 ก.พ.2566) ผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอปล่อยชั่วคราวในคดีหมายเลขดำ อ.1237/2565 ที่พนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง น.ส.ทานตะวัน เป็นจำเลยคดี ม.112
โดยผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ้างถึงสถานะในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐในสถานพยาบาลที่ได้รับมอบตัวผู้ต้องควบคุมภายใต้อำนาจศาลไว้ดูแล และได้รับมอบหมายจากกรมราชทัณฑ์ ขอปล่อยชั่วคราวจำเลย

 ซึ่งได้รายงานถึงสุขภาพของจำเลย ที่ได้อดข้าวและน้ำเพื่อเรียกร้องตามข้อเรียกร้อง ตั้งแต่เย็นวันที่ 18 ม.ค.2566 โดยระบุถึงอาการล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 6 ก.พ.2566 ด้วยว่าอาการโดยรวมของผู้ถูกควบคุมตัวมีภาวะคีโตนในเลือดสูงมากขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานกรองของเสียของไตลดลงอย่างมาก อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งโรงพยาบาลเห็นว่าจำเลยอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การควบคุมตัวระหว่างพิจารณา และสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ตะวัน-แบม อาการแย่ต่อเนื่อง มีภาวะเลือดเป็นกรด หมอเตือน ไม่รักษาอาจไม่รอด

• "ตะวัน-แบม" อาการไม่เข้าขั้นวิกฤต ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ยืนยัน "ยังสื่อสารได้"

• "ตะวัน-แบม" อัปเดตอาการล่าสุด รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เผย อ่อนเพลีย ภาวะเลือดเป็นกรด

 จึงขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนหมายขังและให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีเงื่อนไข ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ใน เรื่องการสันนิษฐานจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา และหลักการการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้มีการหลบหนีซึ่งจะทำให้การรักษาตัวและฟื้นฟูสภาพร่างกายของจำเลยทำได้สะดวกและลดเงื่อนไขที่อาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต

 ศาลอาญา พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยอยู่ในความดูแลรักษาของโรงพยาบาลที่ผู้ร้องเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่ เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายแพทย์รายงานมาว่าจำเลยอยู่ในภาวะวิกฤตอาจเสียชีวิตได้

 

ประกอบกับการเข้าเยี่ยมจำเลยจากบุคคลใกล้ชิด ในกรณีที่จำเลยยังอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ต้องเป็นไปตามระเบียบซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในการเยียวยาจิตใจของจำเลย ขณะอยู่ในภาวะวิกฤต 

 กรณีมีเหตุสมควรให้ออกหมายปล่อยจำเลยชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลา 1 เดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคสาม เมื่อครบเวลาปล่อยชั่วคราวแล้วให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาล โดยให้ออกหมายปล่อยจำเลยวันนี้ และแจ้งผู้ร้องทราบด้วย