วราวุธ สั่งการ รักษาการ อธิบดีอุทยานฯ เร่งนำทีมเจ้าหน้าที่ แก้ปัญหาไฟป่า จ.กาญจนบุรี พร้อมประสานกรมฝนหลวงฯ สร้างฝนเทียม 11-13 มี.ค.นี้ ตั้ง War Room เฝ้าระวังทั่วประเทศ เตือนผู้บุกรุกป่าโทษหนักจับ-ปรับจริง
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3, นายชัชวาล ศิริสมบัติ ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า, นายสันติ ศิริเลิศ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันไฟป่า, นายชัยวุฒิ อารีย์ชน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์, นายสุพล คำเสนาะ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค, นายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง), นายประวัตร พวงทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ, นายอภิสิทธิ์ สมบัติมาศ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม, นายศุภฤกษ์ กลั่นประเสริฐ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านทิศตะวันตก และคณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ ประชุมแผนปฏิบัติการไฟป่า ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
โดยขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองการบินสำนักงานปลัดกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการบินสำรวจ บริเวณอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์, อุทยานแห่งชาติไทรโยค, อุทยานแห่งชาติเขาแหลม บริเวณจุดชมวิวป้อมปี่, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู และพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณอำเภอสังขละบุรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• 24 ก.พ. วันปลอดควันพิษจากไฟป่า : โลกร้อน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งไฟป่าเผาใจ
• "วราวุธ" สั่ง ตรวจสอบ กรณีพบคราบน้ำมันระยอง เบื้องต้นสภาพน้ำทะเลเป็นปกติ
• “วราวุธ” ชูนโยบายจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG
นายอรรถพล กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน ในจังหวัดกาญจนบุรี เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วง 3-5 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ป่าตะวันตก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, อุทยานแห่งชาติเอราวัณ, อุทยานแห่งชาติลำคลองงู และพื้นที่ใกล้เคียง โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการ หรือ War Room โดยมีศูนย์บัญชาการของกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นศูนย์บัญชาการหลัก และมีเครือข่ายในหัวเมืองหลัก เช่นในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ที่เป็น War Room ส่วนหน้าในการประสานงานกับทุกจังหวัด
รวมถึง War Room ของอุทยานแห่งชาติฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่จะส่งกำลังพลออกปฏิบัติการดับไฟป่า ซึ่งขณะนี้เราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ และท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ลงพื้นที่ดับไฟจำนวนมาก
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สำหรับปฏิบัติการบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, อุทยานแห่งชาติเอราวัณ และอุทยานแห่งชาติลำคลองงูนั้น ทางกระทรวงฯ ได้สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำ เพื่อใช้สำหรับเคลื่อนย้ายกำลังพล ในการส่งเสบียง และการทิ้งน้ำเพื่อดับไฟ ซึ่งจะต้องทำงานไปพร้อม ๆ กับเจ้าหน้าที่ชุดภาคพื้น อย่างเร่งด่วน เพื่อลดปัญหาหมอกควันที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลกระทบเชิงท่องเที่ยว
สำหรับสถานการณ์ไฟป่าในประเทศไทย ขณะนี้เกือบจะทุกพื้นที่ ภาคเหนือตอนบน กลาง ล่าง รวมถึงพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานเกิด Hotspot จำนวนมาก รวมไปถึงพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นฝั่งตะวันตก และตะวันออกค่อนข้างมี Hotspot ค่อนข้างสูง
นายอรรถพล กล่าวภายหลังขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจบริเวณพื้นที่ป่าตามแนวเขตอุทยานแห่งชาติฯ ที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นนั้น พบ Hotspot เป็นจำนวนมาก ทั้งจุดที่เคยเกิดขึ้นไปแล้ว และกำลังมีการเผาไหม้ โดยเฉพาะด้านทิศเหนือริมเขื่อนศรีนครินทร์ที่มีการเผาไหม้ เกิดเป็นกลุ่มไฟขนาดใหญ่ กินพื้นที่เป็นบริเวณวงกว้าง ทั้งป่าเต็งรัง, ป่าเบญจพรรณ และมีการลุกลามไปยังป่าดิบแล้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าถึงได้อย่างยากลำบาก หากเดินเท้าต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง
ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนจะต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ขนน้ำเพื่อดับไฟ และกรมฯ ยังได้เร่งประสานกรมฝนหลวง และการบินเกษตร ในการทำฝนเทียม ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มปฏิบัติการได้ในวันที่ 11-13 มีนาคม 2566 นี้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาไฟป่าเบื้องต้น และหลังจากนี้จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมฯ มีการสั่งปิดพื้นที่อุทยานฯ และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เป็นการชั่วคราว หลายแห่ง และจะปิดจนกว่าสถานการณ์ไฟป่าจะคลี่คลาย หลังจากนี้คาดว่าจะต้องมีการปิดอุทยานฯ เพิ่มเติม โดยจะมีการประเมินสถานการณ์ความสุ่มเสี่ยงต่อไป นอกจากนี้กรมฯ ยังได้เตรียมแผนเฝ้าระวัง- ควบคุมไฟป่า ในพื้นที่ความเสี่ยงโดยเฉพาะ พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก แถวอุทยานแห่งชาติแม่ปิง, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในรอยต่อของอุทยานแห่งชาติสาละวิน และในส่วนของป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติไทรโยค, อุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังอุทยานแห่งชาติทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นพื้นที่ที่พบ Hotspot เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ขอให้พี่น้องประชาชนหยุดการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบจุดไฟเก็บหาของป่าล่าสัตว์ หรือแม้แต่การเก็บเห็ด เลี้ยงวัว ขอให้หยุด เพราะว่าตอนนี้เราใช้การบังคับกฎหมายแล้ว และผู้กระทำผิดจะได้รับการดำเนินคดีอย่างหนัก เพราะถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และเป็นความเสียหายที่กระทบต่อประชาชน รวมถึงสัตว์ป่าด้วย
จึงต้องขอความกรุณาพี่น้องประชาชน ในส่วนของเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าจะปฏิบัติงานอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนต่อไป สำหรับพี่น้องประชาชน พบเห็นไฟป่า หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดไฟป่า แจ้งสายด่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง