svasdssvasds

คืบหน้า "ซีเซียม-137" หายจากโรงไฟฟ้า ยกระดับการค้นหา หวั่นผลกระทบประชาชน

คืบหน้า "ซีเซียม-137" หายจากโรงไฟฟ้า ยกระดับการค้นหา หวั่นผลกระทบประชาชน

ความคืบหน้า กรณีท่อบรรจุสารซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้าใน จ.ปราจีนบุรี ยกระดับเร่งติดตามค้นหา หวั่นถูกนำไปยังโรงหลอมเหล็ก รังสีเบต้าและแกมมาซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็งจะกระจายไปในอากาศในวงกว้าง

 ความคืบหน้า กรณีท่อบรรจุสารซีเซียม-137 จากโรงไฟฟ้าพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี หายปริศนาซึ่งอาจถูกนำไปขายเป็นของเก่าและอาจจะมีผลกระทบต่อสุขภาพปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อม ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ถ้าผ่าท่อรังสีทำให้เนื้อเน่าเปื่อยภายใน 3 วันที่มีระดับรังสีเข้มข้นจนเป็นที่หวาดกลัวต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีเป็นอย่างยิ่ง

 หลังจากที่ นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้มีการแถลงข่าวกรณี วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ในโรงไฟฟ้าพื้นที่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี จำนวน 1 ชิ้น ห่อหุ้มด้วยท่อเหล็กกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ใช้เป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโลของโรงไฟฟ้า ติดตั้งใช้งานเมื่อปี 2538 ได้หายไป 

โดยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2566 เวลา 23.00 น. สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.ปราจีนบุรี ได้รับแจ้งว่าวัสดุกัมมันตรังสีได้สูญหายจากโรงงานฯ และจากการรวบรวมข้อมูลได้ความว่า มีวัสดุกัมมันตรังสีสูญหายประมาณวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทฯ ได้สอบถามพนักงานขับรถที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทราบว่า ได้ยินเสียงดังมากเหมือนว่ามีโลหะตกลงพื้นและไม่คิดว่าเป็นวัตถุอันตรายซึ่งวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ติดตั้งอยู่บนถังไซโลเก็บขี้เถ้า โดยมีความสูงจากพื้นดินประมาณ 16-17 เมตร

 คาดว่า วัสดุกัมมันตรังสีจะตกอยู่ในพื้นที่ 200 ตารางเมตรจากจุดที่มีการติดตั้งวัสดุกัมมันตรังสี วัสดุกัมมันตรังสีมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกมีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นใน และห่อหุ้มด้วยเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม และมีป้ายติดรายละเอียดแสดงข้อมูลของวัสดุกัมมันตรังสีและมีสัญลักษณ์ทางรังสีขนาดเล็กติดอยู่ โดยวัสดุกัมมันตรังสีผ่านการใช้งานมาแล้วประมาณ 28 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้า หากพบห้ามจับ-เข้าใกล้เด็ดขาด

• ทำความรู้จัก ซีเซียม 137 คืออะไร ? อ.เจษฎา เตือน ห้ามจับ-เข้าใกล้เด็ดขาด

• 7 ปีสึนามิญี่ปุ่น กับปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่รัฐบาลไม่เปิดเผย

หลังจากพบว่าสูญหาย บริษัทฯก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินภายในโรงงาน และจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจำนวน 50 คน โดยมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติให้การสนับสนุนการปฏิบัติ เพื่อดำเนินการค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ที่สูญหาย ในพื้นที่โรงงานทั้งหมดโดยจาการตรวจสอบไม่พบวัสดุกัมมันตภาพรังสีที่สูญหายภายในโรงงาน ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า อาจมีการนำวัสดุกัมมันตภาพรังสีออกนอกโรงงานไปแล้ว

โดยเจ้าหน้าที่จาก อ.ศรีมหาโพธิ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และบริษัทฯได้ออกค้นหาและตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือวัดทางรังสีในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เช่น ร้านขายของเก่า ร้านรับซื้อเศษโลหะมือสอง เป็นต้น ซึ่งวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ที่สูญหาย เป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่มีตะกั่วปกป้องอยู่ ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็กโดยวัสดุกัมมันตรังสีจะอยู่ในชั้นในสุด

หากวัสดุกัมมันตรังสียังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมและกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ที่สูญหาย มีการถอดประกอบหรือชำแหละเครื่องกำบังที่ห่อหุ้มจนทำให้วัสดุกัมมันตรังสีมีลักษณะเปลือยเปล่า จะมีรัศมีการแผ่รังสีออกจากวัสดุกัมมันตรังสีประมาณไม่เกิน 1-2 เมตร หากมีการสัมผัสวัสดุกัมมันตรังสีโดยตรง จะทำให้ผู้สัมผัสเกิดผื่นแดง หรือเป็นแผลไหม้บริเวณที่สัมผัส จากการประเมินสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง ดังนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

 ด้านเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ติดอยู่ที่ไซโล ใช้วัดระดับของขี้เถ้าบนถังไซโล มีความสูงประมาณ 16-17 เมตร และจากการสอบถามและตรวจสอบใน บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ก็ไม่พบวัตถุชิ้นนี้แล้ว ส่วนจะไปอยู่ในสถานที่ใด ต้องให้ฝ่ายสืบสวนดำเนินการตรวจสอบ และทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จะส่งเจ้าหน้าที่ร่วมค้นหาด้วย
 
 เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หากอยู่ในสภาพปกติจะไม่เกิดผลกระทบใดๆ ยกเว้นมีการผ่าและสารกัมมันตรังสีรั่วไหลผู้ที่สัมผัสจะเกิดอันตราย แต่จะไม่เท่ากับโคบ๊อล 60 ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้

 สำหรับวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หากถูกนำไปทิ้งน้ำโดยที่สภาพไม่ชำรุด จะไม่เกิดอันตราย แต่วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 จะอยู่ได้อีกราว 300 ปี ถึงจะหายไป

 ด้านนายกิตติพันธ์ จิตต์เป็นธรรม ผู้แทนโรงไฟฟ้า บ.เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์  5 เอ จำกัด ระบุว่า ทางบริษัทฯ ยังไม่ยืนยันว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่หายไปเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ /เกิดจากฝีมือมนุษย์ หรือเกิดจากอุบัติเหตุ ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด แต่โดยปกติบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ ยกเว้นได้รับอนุญาต 

 ขณะที่ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพนักงานบริษัท ขณะนี้ยังมีการเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา และ หากพบเห็นวัตถุดังกล่าว โปรดแจ้งกลับมาที่คุณอารีย์ จักษ์ตรีมงคล ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด หมายเลขโทรศัพท์ 0858350190 (ตลอด 24 ชั่วโมง) สำหรับผู้ที่ชี้เบาะแสจนสามารถนำวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหายกลับมาได้ จะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท

สารซีเซียม-137 ที่สูญหายหากถูกนำไปยังโรงหลอมเหล็ก รังสีเบต้าและแกมมาซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็งจะกระจายไปในอากาศในวงกว้าง

สารซีเซียม 137 ที่หายจากโรงไฟฟ้า หากแพร่ในอากาศอันตรายแค่ไหน?

1.สารซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าบริษัทเนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5 A จำกัดตั้งอยู่ที่ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยสาร กัมมันตภาพรังสีดังกล่าวขะถูกห่อหุ้มด้วยสารตะกั่วล้อมรอบและหุ้มด้วยท่อเหล็กกลมขนาด 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัมอีกชั้น ใช้เป็นเครื่องมือวัดระดับของขี้เถ้าในไซโลของโรงไฟฟ้าโดยติดตั้งใช้งานตั้งแต่ปี 2538 คาดถูกขโมย

2. ซีเซียม137 เป็นโลหะอ่อนสีขาวเงินที่ตีขึ้นรูปได้ง่ายจะมีสภาพเป็นของเหลวที่อุณหภูมิประมาณ 28 องศา มีครึ่งชีวิตที่ 30 ปีเมื่อสลายตัวจะปล่อยรังสีเบต้าและแกมมา ซึ่งอันตรายมากและเปลี่ยนตัวมันจะเปลี่ยนเป็นสารแบเรี่ยม 137 ที่สลายตัวปล่อยรังสีได้เร็ว

3.ในทางอุตสาหกรรมซีเซีม-137 จะใช้วัดความชื้นและความหนาแน่นในการก่อสร้าง,ใช้ในเครื่องมือทางแพทย์เพื่อรักษามะเร็ง,ใช้ในมาตรวัดกระ แสน้ำในท่อ,ใช้วัดความหนาของสิ่งต่างๆ เช่น กระดาษ แผ่นโลหะ เป็นต้น

4. หากแท่งซีเซียม-137 สูญหายหรือถูกขโมย บุคคลที่ครอบครองไปตัดหรือแกะออกจะได้รับอันตรายจากรังสีที่แผ่ออกมาได้เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อรับเข้าสู่ร่างกายเล็กน้อยโดยทางหายใจหรือผิวหนัง รังสีจะถูดดูดซึมไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ ตับและไขกระดูกสามารถถูกขับได้ทางเหงื่อและปัสสาวะแต่หากสูดดมหรือรับเข้าไปด้วยความเข้มข้นสูงหรือเป็นระ ยะเวลาพอสมควรจะก่อให้เกิดมะเร็งกับอวัยวะที่สัมผัส

5. หากท่อของสารซีเซี่ยม137ดังกล่าวถูกนำไปขายยังโรงแปรรูปเหล็กและถูกหลอมในเตาเผาจะอันตรายมากคือรังสีจะถูกปล่อยออกมาทางปล่องควันกระจายไปในสิ่งแวดล้อมและเกิดการเปรอะเปื้อนของรังสีเบต้าและแกมมาซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอย่างรุนแรงในสภาพแวดล้อมในวงกว้าง

6. ผู้ครอบครองทั้งร้านรับซื้อของเก่า โรงงานรีไซเคิล โรงงานหลอมหล่อเหล็ก ที่รับท่อหุ้มดังกล่าว ผู้ครอบครองถือว่ากำลังตกอยู่ในอันตรายหากไปกองไว้ฝนตกน้ำชะจะไหลปนเปื้อนลงในน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน หากนำไปหลอมยิ่งกระจายทางอากาศ นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งในอนาคตอันใกล้

 

related