svasdssvasds

อนาคตการเมือง 2567: เด็ดก้าวไกลสะเทือนถึงรัฐบาล

อนาคตการเมือง 2567: เด็ดก้าวไกลสะเทือนถึงรัฐบาล

มองการเมืองปี 2567 โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องจัดการทั้ง 'งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567-กระตุ้นเศรษฐกิจและหาเงินเข้าประเทศ-ปรับสมการการเมือง' ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมขีดเส้นชะตากรรมของพรรคก้าวไกลภายในต้นปี ที่จะสะเทือนถึงรัฐบาลและอนาคตการเลือกตั้ง

ปีหน้าฟ้าใหม่ แต่อาจจะไม่ถูกใจชาว "ฟ้ารักพ่อ" เพราะเดือนมกราคม 2567 คือ ช่วงเวลาที่จะตัดสินสองคดีสำคัญของพรรคก้าวไกล ได้แก่ คดีหุ้นสื่อไอทีวี ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น สส. ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (3) กรณี "เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่” โดยศาลรับคำร้องและสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา และศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. แนวทางในการวินิจฉัย ได้แก่

  1. หากศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง หรือพิจารณาว่าพิธาไม่ได้ถือครองหุ้นหรือหุ้นดังกล่าวไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ จะทำให้พิธาได้กลับมาเป็น สส. อีกครั้ง นั่นหมายความว่าเขาอาจจะกลับมาทำหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลและผู้นำฝ่ายค้านได้อีกด้วย
  2. แต่หากศาลพิจารณาแล้วพบว่าถือครองหุ้นจริงหรือหุ้นดังกล่าวประกอบกิจการสื่อ พิธาก็จะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามให้พ้นจากการดำรงตำแหน่ง สส. แต่ในกรณีนี้ อนาคตทางการเมืองของพิธาก็ยังไปได้อีกสองแนวทางใหญ่ๆ คือ
  • หากมีการยื่นฟ้องศาลอาญา ตามมาตรา 151 ว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ" อาจต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท หรือให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสูงสุด 20 ปี
  • หากไม่มีการยื่นฟ้องต่อ พิธายังไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และยังสามารถที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งใน กทม. ได้หากมีเขตใดเขตหนึ่งว่างลง

อย่างที่ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พูดมาตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งว่าตอนนี้เป็นการปรับทัพชั่วคราวเนื่องจากเหตุจำเป็นทางกฎหมาย และพร้อมคืนเกาอี้ให้กับพิธาเสนอหากเขากลับมาทำหน้าที่ สส. 

ถ้าดูตามโพลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Line Today นักการเมืองแห่งปี 2566 หรือนิด้าโพลที่สำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองไตรมาสสุดท้ายปี 2566 ก็ต่างได้ผลสำรวจตรงกันว่าผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดก็คือ พิธา มีคะแนนทิ้งห่างเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เท่าตัว ดังนั้นการดึงแม่เหล็กอย่างเช่นพิธากลับมาเพื่อเรียกความนิยมจึงเป็นสิ่งจำเป็นของพรรคก้าวไกล

แต่วิบากกรรมยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะยังมีคดีที่สองจ่อคิวอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 31 มกราคม 2567 นั่นคือ คดีพรรคก้าวไกลและสส.พรรคก้าวไกล พฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ โดย ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความส่วนตัวของพุทธะอิสระ อดีตแนวร่วม กปปส. ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า "การกระทำของพิธาและพรรคก้าวไกลที่หาเสียงเลือกตั้งด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่" โดยคำร้องนี้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการเคลื่อนไหวเรื่อง 112 โดยเด็ดขาดเท่านั้น ไม่ใช่การยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์ทางการเมือง ซึ่งแนวทางการพิจารณาอาจจะออกมาเป็นสองแบบคือ

 

  1. หากศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง พรรคก้าวไกลก็ยังสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปกติ
  2. แต่ถ้าศาลสั่งให้พรรคก้าวไกลยุติการเคลื่อนไหวทุกอย่างในเรื่องมาตรา 112 อาจจะเป็นการเปิดช่องให้มีคนนำผลคำวินิจฉัยดังกล่าวไปยื่น กกต. ให้ยุบพรรคก้าวไกลต่อไป ตามมาตรา 92 (2) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ที่บัญญัติว่า “หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้ กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค”

ถ้าผลออกมาในรูปแบบที่เป็นลบกับพรรคก้าวไกลที่สุดคือการยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค อาจจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมืองอีกครั้ง แม้พรรคก้าวไกลส่วนที่เหลือจะออกมาตั้งพรรคใหม่ แต่จำนวน สส. ที่ย้ายไปร่วมกับพรรคใหม่ก็จะน้อยลงไปกว่าเดิม และอาจถูกพรรคร่วมรัฐบาลดูด สส. หลายคนไปร่วมสังกัดพรรคเพื่อเติมเสียง เพิ่มอำนาจต่อรองเก้าอี้ในรัฐบาลก็เป็นได้ ยิ่งในช่วงที่ สว. ชุดปัจจุบันหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 ด้วยแล้ว อำนาจโหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาก็จะเป็นเรื่องของ สส. 500 คนเท่านั้น ถึงตอนนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้

ขณะที่ฝั่งรัฐบาลเอง ยังคงมั่นใจในเสียงข้างมาก 314 เสียงในสภาว่าจะประคองให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม 4 ปี โดย เศรษฐา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังการประชุม ครม. ในวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ต่อประเด็นฉายาการเมือง "เซลล์แมนสแตนด์ชิน" ว่าเป็นเงาของแพรทองธาร ชินวัตร เจ้าตัวยืนยันว่า วันนี้ยังเป็นนายกฯ อยู่และพยายามทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ และพยายามตั้งใจให้ครบ 4 ปีให้ได้ 

นอกจากเศรษฐาจะดับกระแสข่าวลือการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในปี 2567 แล้ว ยังปิดประตูการดึง 25 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาลในอนาคตด้วย โดยให้เหตุผลว่า "ในแง่ของตัวเลขก็อาจจะดีขึ้น แต่ในแง่ของต้องมาเกลี่ยกระทรวงกันใหม่ มันก็ลำบากขึ้น ไม่มีอะไรดีหมดหรอกครับ ยึดคำพูดที่ผมพูดไว้แล้วกัน 314 เสียงพอแล้ว และรัฐมนตรีทุกท่านก็ทำงานกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ผลงานก็เริ่มทยอยออกมาแล้ว” แต่ปัญหาที่ต้องมานั่งคิดต่อคือ ถ้าไม่มีการปรับ ครม. เขย่ากันใหม่แล้วปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลครองกระทรวงมหาดไทยต่อไปเรื่อยๆ เท่ากับเพื่อไทยยื่นเนื้อชิ้นโตให้ภูมิใจไทยปูทางไปสู่การชนะการเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตภายใต้โมเดลผู้ว่า CEO ที่มีพรรคภูมิใจไทยเป็นประธานบริษัท

อย่างไรก็ตาม การเมืองปี 2567 คงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งสร้างผลงานหลังผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ การหารายได้เข้าประเทศ และการลดรายจ่ายให้กับประชาชนในระยะยาว เพราะจากผลสำรวจของโพล มหาวิทยาลัยศรีปทุม เสียงข้างมาก 27.1% ยังคงไม่พอใจลงานภาพรวมของรัฐบาล แม้จะมีมาตราการของขวัญปีใหม่ออกมาให้ประชาชนมากมาย แต่หลายฝ่ายยังมองว่าเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นและไม่ได้แตะปัญหาเชิงโครงสร้าง 

ขณะเดียวกันผลโพลยังสะท้อนว่า หากมีการเลือกตั้งวันนี้ พรรคก้าวไกลจะได้คะแนนนำถึง 39.14% หรือ 196 ที่นั่ง ทิ้งห่างพรรคเพื่อไทยที่ผลโพลออกมาเหลือ 106 ที่นั่งเท่านั้น และหากเกิดการยุบพรรคก้าวไกล หลายฝ่ายก็กังวลว่าจะเป็นการจุดชนวนความโกรธของคนในสังคมและจะลงเอยด้วยการลงคะแนนด้วยอารมณ์ความรู้สึก และทำให้ส้มแลนด์สไลด์มากขึ้นกว่าเดิมอีกหรือไม่

related