svasdssvasds

“เศรษฐา” มั่นใจ "แจกเงินดิจิทัล" ไปต่อได้ “กฤษฎีกา” ปัดไฟเขียวให้รัฐกู้แจก

“เศรษฐา” มั่นใจ "แจกเงินดิจิทัล" ไปต่อได้ “กฤษฎีกา” ปัดไฟเขียวให้รัฐกู้แจก

“เศรษฐา” มั่นใจแจกเงินดิจิทัลไปต่อได้ ยืนกรานออก พ.ร.บ. ขอถกวงดิจิทัลก่อน บอกถึงเวลาจะเปิดความเห็นกฤษฎีกา ด้าน “กฤษฎีกา” ปัดไฟเขียวรัฐบาลกู้เงิน 500,000 ล้าน แจกเงินดิจิทัล แจงหากทำตามความเห็นปลอดภัยแน่นอน ยืนยันจะตรา พรบ./พรก.ก็ได้

วันที่ 9 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุมครม.ยังไม่มีการพิจารณาถึงร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน เพื่อมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นมายังรัฐบาล เพราะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ตนเป็นประธานก่อน โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กำลังดูเวลาอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีรายงานว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในตารางการประชุมของตน เมื่อถามว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนหนึ่งพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกู้เงินที่ต้องเป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกัน

เมื่อถามว่า มองว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีความชัดเจนหรือไม่ว่าทำได้หรือไม่ได้ นายกฯ กล่าวว่า ตนอยากจะฟังความเห็นของทุกๆ ฝ่ายด้วย เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกมาให้ฟังความเห็นของทุกๆ ฝ่ายที่ต้องมีความเห็นของ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตทุกคน ต้องให้ความสำคัญกับทุกเสียง

เมื่อถามว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้มีความชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ได้ใช่หรือไม่ ในความรู้สึกของนายกฯ นายเศรษฐา กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าทำได้หรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องของดุลพินิจและต้องรับฟังความคิดเห็น ถึงบอกว่าจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการ

เมื่อถามว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องรัฐบาลเปิดคำถามและคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาสมควรก็จะเปิดเผย เมื่อถามว่า แสดงว่าเรื่องนี้จะต้องใช้ระยะเวลาไปอีกสักระยะ นายกฯ กล่าวว่า ต้องประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตนนั่งเป็นประธานก่อน อย่างที่ตนได้เรียนให้ทราบ ยังไงก็ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ เพราะมีหลายฝ่ายร่วมอยู่ และต้องมาแสดงความคิดเห็น

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวนายกฯ มั่นใจว่าเรื่องนี้เดินไปต่อได้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไปต่อได้แน่นอนครับ ชัดเจนครับ และต้องขอประชุมคณะกรรมการดิจิทัลก่อน และจะตอบเนื้อหาที่หลัง เมื่อถามว่า จะทันเดือน พ.ค.67 หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ณ เวลานี้ยังยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม แต่ต้องขอประชุมก่อน ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะอะไรอีกหรือไม่

อย่างที่บอกนัยสำคัญของกฤษฎีกาคือต้องฟังความคิดเห็นของทุกๆฝ่าย เมื่อถามว่ายืนยันการออกเป็นพระราชบัญญัติจะทำได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยืนยันถ้าออกก็ออกเป็นพระราชบัญญัติ เมื่อถามว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ทำให้เกิดความหนักใจอะไรใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ทุกเรื่องมีความหนักใจหมดเพราะต้องดูเรื่องของความถูกต้อง ความครบถ้วนในแง่ของการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า ความเห็นที่แตกต่างของนายกฯ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนหนึ่งมองว่าอาจมีผลกระทบต่อนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า คนอยู่บ้านเดียวกันเห็นไม่ตรงกันก็หลายอย่าง ตนว่าอยู่ในสังคมเดียวกันเชื่อว่าหลายๆ ท่านมีจุดประสงค์เดียวกันคืออยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น แต่เรื่องของการปฏิบัติงานหรือเรื่องนโยบายต่างๆ อาจมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกัน

เมื่อถามว่าจะมีโอกาสเชิญผู้ว่า ธปท. มาพูดคุยกันเหมือนช่วงแรกๆหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ยังยืนยันและขอบคุณที่สื่อมวลชนบอกว่าไหนบอกจะมีการพูดคุยกันทุกๆเดือน แต่รู้สึกว่าเดือน ธ.ค.ไม่ได้พูดคุยกันแต่ก็มีการยกหูโทรศัพท์คุยกัน ขอบคุณที่เตือนมา ตนก็ได้นัดไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ซึ่งท่านก็ตอบรับโดยดีไม่ได้มีเรื่องอะไร เป็นเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน

“แน่นอนไม่ปฏิเสธว่าเห็นตรงกันทุกเรื่อง ผมเชื่อว่าท่านก็เห็นตรงกับผมบางเรื่อง ผมก็เห็นตรงกับท่านบางเรื่อง แต่บางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันก็ต้องมาพูดคุยกันและเหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเยอะ ก็เป็นหน้าที่ผมที่จะต้องโน้มน้าวความคิดเห็นของท่านว่าเหตุการณ์มันเปลี่ยนไป ตรงนี้มองว่าเป็นการอยู่ร่วมกันเป็นธรรมดาก็ต้องมีการพูดคุยกัน”

เมื่อถามถึงกรณีเอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยววันที่ 10 ม.ค.จะมีการพูดคุยกับรมช.คลัง และผู้ว่าฯธปท. ในเวลา 13.30 น. ซึ่งจะมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งความเห็นการกู้เงินของรัฐบาล 500,000 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า เนื้อความเห็นดังกล่าว รัฐบาลอาจต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตอีกครั้ง และความเห็นดังกล่าว เป็นเรื่องลับ

ดังนั้น จะต้องให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียด แต่ยืนยันว่า ไม่มีคำว่า “ไฟเขียว” เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบกลับความเห็นเป็นข้อกฎหมายว่า เนื้อความในมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินและการคลัง ที่จะต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง หรือแก้ไขวิกฤตของประเทศ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่า นโยบายฯ จะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำตอบได้เพียงเท่านี้

ส่วนจะออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่นั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ย้ำว่า ตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ให้ออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะเป็นพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด ก็ถือเป็นกฎหมายเช่นกัน

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันด้วยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ให้ข้อเสนอแนะใดๆ ในความเห็นดังกล่าว แต่เป็นการอธิบายมาตรา 53 และให้รัฐบาลไปรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันได้ โดยไม่ได้ระบุบ่งชี้ว่า ควรจะทำนโยบายดังกล่าวหรือไม่ เพราะกฤษฎีกา เป็นนักกฎหมาย และต้องอาศัยตัวเลขทางเศรษฐกิจ

ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา สามารถใช้อ้างอิงได้หรือไม่หากดำเนินการตามแล้วจะไม่ผิดกฎหมายนั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่า ใช้อ้างอิงได้ เพราะคณะกรรมการกฤษฎา ได้ยืนยันตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการตาม ก็การันตีได้ว่า จะปลอดภัยแน่นอน

ส่วนหากในอนาคตโครงการดังกล่าวนี้มีปัญหา จะสามารถอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีเป็นเกราะป้องกันได้หรือไม่นั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ย้ำว่า หากดำเนินการไปตามเงื่อนไขทุกอย่าง ก็จะไม่มีปัญหา

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังปฏิเสธที่จะอธิบายถึงการตีความวิกฤต เนื่องจาก GPD โตไม่ทัน เนื่องจาก กฤษฎีกา เป็นนักกฎหมาย จึงไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลอ้างภาวะวิกฤตแต่กลับตราการกู้เงินเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติ ที่มีขั้นตอนมากกว่าพระราชกำหนดนั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่า ไม่มีปัญหา เนื่องจาก พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ให้สามารถกู้เงินได้โดยตราเป็นกฎหมาย ซึ่งกฎหมายดังกล่าว รัฐบาลจะตราเป็นพระราชบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณา 3 วาระรวดก็ได้ หรือพระราชกำหนด เหมือนที่ผ่านมาก็ได้ 

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังยืนยันว่า กฤษฎีกาไม่ได้ห่วงกังวลใดๆ เพราะการดำเนินการของรัฐบาล จะต้องอยู่บนข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ถูกต้อง จึงเชื่อมั่นว่า รัฐบาล จะยึดข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหล่านี้

related