svasdssvasds

รมช.คมนาคม ฟาด "ศิริกัญญา" อ่านรายงาน "แลนด์บริดจ์" ผิดฉบับ

รมช.คมนาคม ฟาด "ศิริกัญญา" อ่านรายงาน "แลนด์บริดจ์" ผิดฉบับ

“มนพร” ฟาด “ศิริกัญญา” อ่านรายงาน “แลนด์บริดจ์” ผิดฉบับแล้วเอามาพูด ลั่นรัฐบาลกล้าสบตาประชาชน เล็งนำตัวแทนคนเห็นต่าง พบนายกฯ หลังจบ ครม.สัญจรวันพรุ่งนี้ "สุริยะ" ซัดฝ่ายค้านอย่าจินตนาการว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ หลังนายกฯ พบตปท.นักลุงทุนต่างชาติสนใจเพียบ

ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ จ.ระนอง และ ชุมพรบางส่วน ผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบ จากโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” และยังมีประเด็นที่จากกรณีที่ สส.บัญชี พรรคก้าวไกล นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล เรียกร้องให้ทบทวนรายงานการศึกษา และหันมาสบตาประชาชนให้มากขึ้น เพื่อจะได้รับฟังปัญหาและเสียงสะท้อนที่แท้จริง

เปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ติง "ศิริกัญญา" ไม่ได้ดูข้อมูลปัจจุบัน

ล่าสุดนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ได้ให้ความเห็นว่า ผลการศึกษาดังกล่าว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกแต่ละคน สามารถแสดงความเห็นได้อย่างกว้างขวาง หาสภาฯ ให้ความเห็นชอบ ก็ส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีตามลำดับ

ส่วนความเห็นของนางสาวศิริกัญญา ที่ระบุว่า รายงานการศึกษาดังกล่าว ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่รัฐบาลจะดำเนินการ เช่น เรื่องการวางท่อน้ำมันนั้น นางมนพร ยืนยันว่าอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งนางสาวศิริกัญญาอาจไม่ได้ดูข้อมูลปัจจุบัน ไปดูผลการศึกษาในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

ดังนั้น การที่ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาใหม่ ก็เพื่อต้องการความเห็นปัจจุบัน วันนี้โลกเปลี่ยนไปความต้องการของประชาชนก็เปลี่ยนไป

เตรียมนำตัวแทนผู้เห็นต่าง เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอความเห็น

นางมนพร ยืนยัน รัฐบาลยินดีรับฟังทั้งความเห็นร่วมและความเห็นต่าง และไม่ใช่เพียงแค่ไปสบตาประชาชน แต่รัฐบาลยังเปิดหูเปิดตารับฟังอีกด้วย 

รมช.คมนาคมย้ำว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จังหวัดระนอง มาเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยเตรียม นำตัวแทนผู้เห็นต่าง เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอความเห็น หลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม.สัญจร ในวันพรุ่งนี้

“เรากล้าสบตาประชาชน และ จะเปิดหูเปิดตา ในการรับฟังความเห็นทุกความเห็น” นางมนพร กล่าว

สำหรับทางออกของกลุ่มประมงพื้นบ้านที่กังวลผลกระทบต่ออาชีพ จากโครงการ “แลนด์บริดจ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบบ้าง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะมีทางออก

ถือเป็นโอกาสดี ที่จะได้บอกถึงประโยชน์ของ “แลนด์บริดจ์”

นางมนพร กล่าวว่า แม้โครงการ “แลนด์บริดจ์” จะถูกลากมาเป็นประเด็นทางการเมือง แต่รัฐบาลก็ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้ตอบข้อมูลทางวิชาการ และความต้องการของประชาชน เปิดกันให้เห็นว่า เมื่อโครงการนี้มาถึง ประชาชนสูญเสียอะไร ประชาชนจะได้อะไร และประเทศชาติได้อะไร

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปโครงการแลนด์บริดจ์ MR8 จังหวัดระนอง , โครงการแนวเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ระนอง - สตูล ว่า ในปี 2545 นาย ทักษิณ ชิณวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องการให้กระทรวงคมนาคมก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อก่อสร้างเสร็จ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคซึ่งตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

20 ปีผ่านไปเราไม่มีโครงการใหญ่แบบนี้เลยเมื่อพิจารณาแล้ว นายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน เห็นว่า การที่ประเทศไทยจะสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเราได้ เราจึงควรมีในกับโปรเจกต์เรื่องแลนด์บริดจ์ขึ้นมา ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์นี้เป็นการศึกษาจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ที่มีการศึกษาออกมาอย่างชัดเจน แต่ในหลักการของโครงการทางรัฐบาล จะลงทุนในส่วนของการเวนคืน ส่วนการลงทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนการ สร้างรางรถไฟและการก่อสร้างอื่นๆ เป็นการลงทุนของภาคเอกชนทั้งสิ้น 

ดังนั้น ที่มีการตั้งคำถามในสิ่งที่ สนข.ศึกษาไว้นักลงทุนต่างประเทศจะเชื่อหรือไม่ ก็บอกได้เลยว่าหากเขาไม่เชื่อเขาก็ไม่มาลงทุน นอกจากนี้ เมื่อครั้งนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ต่างประเทศก็ได้ไปประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้และพบว่ามีนักลงทุนจำนวนมากที่ให้ความสนใจ 

"ส่วนที่มีคำถามจาก สส.ฝ่ายค้านว่าเราจะไปหลอกนักลงทุนหรือไม่ ก็ตอบได้เลยว่านักลงทุนเราจะไปหลอกเขาได้หรือ โครงการนี้จะทำให้ GDP ของเราเพิ่มขึ้น 5-6% อีกทั้งจะมีการสร้างงานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย ฉะนั้นตนเข้าใจว่าฝ่ายค้านไม่ได้เห็นบรรยากาศที่เราไปเจอ จึงจินตนาการไปว่ามันเกิดไม่ได้" นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะยัง กล่าวด้วยว่า สำหรับการสร้างความเชื่อมั่น ต่อนักลงทุนที่มีการถมทะเลกว่า 12,000 ไร่นั้น ตนให้นโยบายกับสนข.ไปว่า ต้องให้ความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่สิ่งใดที่รับฟังมาแล้วแก้ไขได้ต้องหาวิธีแก้ไข อะไรที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่เข้าใจก็ต้องอธิบาย ทั้งนี้หากภาคประชาชนและนักลงทุนทั้งหลายมีความเข้าใจก็จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปได้

ส่วนทำไมถึงไม่การพัฒนาต่อจากท่าเรือเดิมที่มีอยู่ เพราะการเดินเรือ ผ่านช่องแคบมะละกา ใช้เวลานานและเกิดอุบัติเหตุบ่อย ส่วนท่าเรือระนองที่คนไม่มาใช้เพราะเล็กเกินไป ดังนั้นเมื่อต้องการที่จะสร้างในสิ่งที่นักลงทุนจากทั่วโลกให้ความสนใจเราต้องสร้างพื้นที่ให้ใหญ่ ส่วนเรื่องผลกระทบ ต่อท่าเรือเล็กๆต่างๆก็จะต้องไปหารือกันต่อในเรื่องของการเยียวยา 

ตอนนี้ฝ่ายค้านเขาไม่เชื่อว่าคนจะมาลงทุนนั่นคือประเด็นหลัก ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมกับสภาพัฒน์ได้มีการพูดคุยกันอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เราต้องการที่จะสร้าง Mega Project เพื่อจะยกขีดความสามารถในภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สำคัญ และไม่กลับโปรเจคนี้เราเห็นแล้วว่ามีการเติบโตทางด้านการสร้างงานทางด้านเศรษฐกิจที่จะเติบโตขึ้น แต่ฝ่ายค้านพยายามบอกว่าเรื่องนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะการลงทุนมันไม่คุ้ม ซึ่งนักลงทุนทั้งหมดจะต้องมีการแข่งขันการลงทุนและจะได้ผลตอบแทนที่ดีต่อภาครัฐ ซึ่งเราบอกแล้วว่าหากใครให้ผลตอบแทนต่อเราดีที่สุดเราก็จะให้คนๆนั้น

นายสุริยะ ยังกล่าวว่า สำหรับค่าชดเชยให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ถ้าโครงการนี้เริ่มต้นขึ้นก็จะเริมการเยียวยาได้ ส่วนประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ก็ต้องแยกการเยียวยาออกอีกแบบ ซึ่งได้มีการหารือกันกันต่อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related