SHORT CUT
เคนเนดี จูเนียร์เคยแสดงจุดยืนต่อต้านวัคซีนโควิด - 19 และเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Fox News ว่า โรคออทิสติกในเด็กมีที่มาจากวัคซีน ทั้งที่ประเด็นดังกล่าวไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ยืนยัน และมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปดังกล่าว
มาตรฐานของ FDA ถือเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วทั้งโลกยอมรับ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนมาตรฐานการผลิต การอนุมัติยา และการวิจัยภายใต้รัฐมนตรีคนใหม่ อาจส่งให้ไทยต้องคำนึงถึงการนำเข้ายาและอาหารจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น
การปรับปรุงกฎของ FDA ครั้งใหญ่ อาจจะส่งผลต่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ของทั่วโลก โดยเฉพาะด้านวัคซีน
ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์ ลูกชายของอดีตประธานาธิบดีคนสำคัญของสหรัฐฯ กำลังก้าวเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ และจุดยืนทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของเขา กำลังทำให้ผู้คนในวงการการแพทย์และวิทยาศาสตร์ต้องหนักใจ
ถึงแม้ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ แต่เขาก็ได้วางขุนพลบริหารหลายคนไว้ในตำแหน่งเรียบร้อย และหนึ่งในชื่อที่เป็นที่ถกเถียงมากที่สุดคือ โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์ ที่ถูกวางให้เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขในรัฐบาลทรัมป์สมัยที่ 2
นับตั้งแต่ชื่อของเขาโผล่ขึ้นมา วงการการแพทย์และวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ต่างออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและคัดค้านการเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว เพราะนอกจากเขาจะไม่มีภูมิหลังทางด้านการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์แล้ว เขายังมีความเห็นหลายข้อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์และขัดแย้งกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมา
และล่าสุด ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทั้งหมด 77 คนจากหลากหลายสาขา ได้ร่วมลงนามในจดหมายคัดค้านการเข้ารับตำแหน่งของเขา
“การให้ มร.เคนเนดีเข้ารับตำแหน่ง รมต.สาธารณสุข จะทำให้ระบบสาธารณสุขตกอยู่ในอันตราย และลดทอนสถานะผู้นำด้านการแพทย์สุขภาพของอเมริกาบนเวทีโลก” ข้อความในจดหมายระบุ
ผู้ที่เข้าร่วมลงชื่อในจดหมายดังกล่าว เป็นผู้ชนะรางวัลโนเบลในหลากหลายสาขาทั้งการแพทย์, ฟิสิกส์, เคมี และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึง ดารอน อาเซโมกลู และ ไซมอน จอห์นสันที่ชนะรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ และ วิกเตอร์ แอมโบรส (Victor Ambros) และ แกรี รุฟคุน ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์
ทำไม เจ.เอฟ.เค จูเนียร์ถึงสร้างความกังวลให้ปัญญาชนในสหรัฐฯ มากเหลือเกิน เขามีจุดยืนทางด้านการแพทย์อย่างไร และจะส่งผลต่อไทยมากน้อยแค่ไหน
เคนเนดี จูเนียร์มีจุดยืนทางการแพทย์ที่แตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์และหมอส่วนใหญ่ เขาเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญที่ออกมาต่อต้านวัคซีนโควิด - 19 หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่ม Anit Vax อย่างไรก็ตาม ภายหลังเขาได้ออกมากล่าวว่าเขาต้องการเพียงให้มีการศึกษาวัคซีนเพิ่มเติม และลูกของเขาเองก็เข้ารับวัคซีนเช่นกัน
แนวคิดต่อต้านวัคซีนโควิด - 19 เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะในปี 2566 เคนเนดีจูเนียร์ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Fox News ว่า โรคออทิสติกในเด็กมีที่มาจากวัคซีน อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ยืนยัน และถูกคัดค้านโดยงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเรื่องนี้
ในประเด็น โควิด - 19 เคนเนดียังเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีโอกาสติดโรคโควิด-19 มากที่สุดคือ คนผิวสีและคอเคเซียน (คนผิวขาว) ขณะที่ชาวยิวและชาวจีนมีภูมิคุ้มกันโรคดังกล่าว และอย่างที่ทราบกันดีว่า คำกล่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เชื้อโรคโควิด-19 ไม่เลือกอายุ เผ่าพันธุ์ หรือผิวสี
“คำกล่าวของโรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์เป็นเรื่องร้ายแรงมาก และสะท้อนว่าเขาไม่สนใจหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เลย” เมลินดา มิลล์ อาจารย์ด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแสดงความเห็น “ขณะที่งานวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 หลายชิ้นพบว่า อัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับฐานะทางสังคมและชาติพันธุ์ เกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียม, การกีดกัน และการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่มากกว่า”
“คำกล่าวของโรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์เป็นเรื่องร้ายแรงมาก และสะท้อนว่าเขาไม่สนใจหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เลย”
อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่คาดว่าเคเนดี จูเนียร์จะทำคือ การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบของ FDA ครั้งใหญ่ โดยนอกจากประกาศว่าไล่พนักงานหลายร้อยคนที่เขาอ้างว่ามีส่วนกับการทุจริตออก ยังคาดว่าเขาจะเข้มงวดกับการใส่สีและวัตถุกันเสียในอาหารมากขึ้น และ ห้ามบริษัทยาโฆษณาทางโทรทัศน์ เป็นต้น
นอกจากประเด็นเรื่องวัคซีน เคนเนดี จูเนียร์ยังมีจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านอาหารแปรรูปขั้นสูง (ultra-processed food) เพราะเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของโรคอ้วนในสังคมอเมริกัน และสนับสนุนให้กินนมดิบ ซึ่งทาง FDA และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) เคยออกมาเตือนว่าถ้าบริโภคเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่ออาการไตล้มเหลวและเสียชีวิต
ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบสาธารณสุขสหรัฐฯ ถือเป็นเสาหลักที่สำคัญของระบบสาธารณสุขของโลก ไม่ว่าการวางระบบกฎเกณฑ์ การประกาศรับรองยา หรือการสนับสนุนงานวิจัยด้านการแพทย์ต่างๆ ดังนั้น นโยบายที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ รมต.สาธารณสุขคนใหม่ของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกับไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อแรก มาตรฐานของ FDA ถือเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วทั้งโลกยอมรับ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนมาตรฐานการผลิต การอนุมัติยา และการวิจัยภายใต้รัฐมนตรีคนใหม่ อาจส่งให้ไทยต้องคำนึงถึงการนำเข้ายาและอาหารจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น
ข้อสอง การปรับปรุงกฎของ FDA ครั้งใหญ่ อาจจะส่งผลต่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ของทั่วโลก โดยเฉพาะด้านวัคซีน ซึ่ง ดร.เดวิด เอลลิแมน ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ในเด็กของโรงพยาบาลเกรทออร์มอนสตรีต ในกรุงลอนดอนให้ความเห็นว่า
“ถ้าเขา (เคนเนดี จูเนียร์) ยังคงมีจุดยืนเรื่องวัคซีนเหมือนเดิม ผมกังวลว่ามันจะไม่กระทบแค่การผลิตและพัฒนาวีคซีนในสหรัฐฯ แต่อาจรวมถึงการพัฒนาวัคซีนของทั้งโลก และระบบสาธารณสุขอีกด้วย” ดร.เอลลิแมนกล่าว
เมื่อว่าที่ รมต.สาธารณสุขคนใหม่สหรัฐฯ มีจุดยืนที่ไม่อิงกับงานวิจัยและไม่เป็นวิทยาศาสตร์เท่าไหร่นัก จึงต้องจับตาดูต่อไปว่าเมื่อเข้ารับตำแหน่งจริงๆ แล้ว โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี จูเนียร์ จะยกเครื่อระบบสาธารณสุขอเมริกาอย่างไร และจะส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของโลกมากน้อยแค่ไหน
นโยบาย “ทำให้อมเริกันกลับมาสุขภาพดีอีกครั้ง (Make American Healthy Again)” ของเขาจะเป็นไปในทิศทางไหน และเป็นอย่างไร อีกไม่นานเราจะได้เห็นกัน