ไม่ใช่เพียงแต่แคลิฟอร์เนียเท่านั้นที่กำลังเจอปัญหาไฟป่า ล่าสุดเกิดกรณี #saveเขาใหญ่ เมื่อมีรายงานไฟไหม้ป่าสงวนแห่งชาติใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมาต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน ผุดคำถามว่าทำไมถึงควบคุมไฟไม่สำเร็จเสียที
เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ทำไมถึงควบคุมไฟป่าไม่สำเร็จเสียที และรัฐบาลทำอะไรเพิ่มเติมแล้วบ้าง
นับตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. มีรายงานเกิดเหตุไฟป่าในพื้นที่ด้านหลังวัดอุดมสุข ม.7 ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทำให้ทางศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าฯ ส่งกำลังเข้าไปควบคุมจนสามารถดับได้แล้วเสร็จในช่วงมืดของวันดังกล่าว มีพื้นที่เสียหายประมาณ 200 ไร่
ต่อมาวันที่ 5 ม.ค. ได้รับแจ้งเกิดเหตุไฟป่าอีกครั้งบริเวณบ้านหัวโกรก ม. 7 ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จึงมีการส่งเจ้าหน้าที่จำนวน 12 นายเข้าไปตรวจสอบ พบไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงได้แค่เพียงบางส่วน เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่มีความลาดชัน มีหินลอยเสี่ยงตกเขา และลมที่รุนแรง ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบากและต้องถอนกองกำลัง ก่อนกลับเข้าไปใหม่ในเช้าวันต่อมา
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังไม่สรุปสาเหตุของไฟป่าครั้งนี้ แต่พบปลอกกระสุนปืนจำนวนหนึ่งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ จึงสันนิษฐานอาจเป็นการเผาเพื่อต้อนสัตว์ป่าสำหรับล่า
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุดในฐานะทีมอาสาสมัครที่ทำงานป้องกันไฟป่าใน จ.เชียงใหม่ต่อเนื่อง 5 ปีให้ความเห็นว่า จากการติดตามข่าวของเขา สาเหตุที่ทำให้ไฟป่าในพื้นที่เขาใหญ่ไหม้ติดต่อกัน 7 วันเกิดจากสาเหตุ 3 ข้อ ดังนี้
สาเหตุแรก เชื้อเพลิงที่เผาไหม้ป่าครั้งนี้เป็นไผ่ตายขุย หรือไผ่แห้ง จึงทำให้ไฟลุกลามค่อนข้างง่าย บวกกับสภาพภูมิประเทศที่เข้าไปดับไฟยาก จึงทำให้มีปัญหาในการควบคุมเพลิง
สาเหตุสอง จำนวนบุคลากรที่เข้าไปควบคุมไฟ โดยปกติ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะแบ่งพื้นที่ดูแลไฟป่ากันชัดเจน ไม่มีการข้ามเขตไปช่วยเหลือกันและกัน ดังนั้น ปัญหาเรื่องบุคลากรที่เข้าควบคุมเพลิงเป็นอีกข้อหนึ่งที่ส่งผลให้ไฟป่าครั้งนี้ยาวนาน
สาเหตุสาม วิธีการที่ใช้ดับไฟป่า ตามปกติแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้วิธีดับไฟทางอ้อม หรือใช้เครื่องเป่าลมเพื่อแยกเชื้อเพลิงออกจากันในการควบคุมไฟ อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยไฟไหม้ครั้งนี้มีเชื้อเพลิงเป็นไผ่ ไม่สามารถใช้ลมเป่าเพื่อแยกเชื้อเพลิงออกจากันได้ จำเป็นต้องใช้น้ำเท่านั้นจึงจะได้ผลมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ปัญหาข้อนี้ก็กลับมาสัมพันธ์กับเรื่องบุคลากรอีก เพราะการจะลำเลียงน้ำขึ้นไปดับไฟในป่า จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรจำนวนมาก คำถามสำคัญจึงกลายเป็นว่า บุคลากรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมไฟป่าครั้งนี้มีเพียงพอหรือไม่
“เวลาที่ผมเจอไฟป่าที่ใช้เครื่องเป่าลมดับไม่ได้ ผมต้องใช้น้ำ แต่ว่าทีมของรัฐหน่วยนึงมีคนประมาณ 8 - 12 คนเอง แล้วพอไม่ใช่เทศกาลไฟ (ฤดูแล้ง) เขาจะปล่อยให้แต่ละพื้นที่ดับกันเอง สุดท้ายมันเลยไหม้ยาวนาน แทนที่จะเกิดแล้วรีบกดตั้งแต่วันแรกให้จบ” บก.ลายจุดกล่าว
ทางด้าน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีโพสต์ทวิตเตอร์ระบุว่า ได้กำชับให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการดับไฟป่าไม่ให้ลุกลาม เพื่อป้องกันความเสียหายและดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และขอให้มีรายงานความคืบหน้าให้ทราบทุกระยะค่ะ
ก่อนที่ต่อมาเพจเฟซบุ๊ก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้โพสต์ว่า ได้มีการส่งกำลังเพิ่มเติมจากหลายหน่วยงาน รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ทิ้งน้ำดับไฟเข้าไปดับไฟป่าในพื้นที่เขาใหญ่แล้ว โดยคาดว่าจะดับไฟแล้วเสร็จภายในอีก 2 วัน หรือในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2568
รมต.ทรัพยากรชี้แจงข้อมูลว่า มีพื้นที่ป่าเสียหายแล้วกว่า 1,700 ไร่ โดยจุดที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน พื้นที่ทั้งหมดอยู่ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รับผิดชอบโดยกรมป่าไม้
เขาเพิ่มเติมว่าพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ยังห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ประมาณ 5 กิโลเมตร หรือแปลว่าเขาใหญ่ยังคงไม่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ SPRiNG พยายามติดต่อหา เฉลิมชัย เพื่อถามถึงสาเหตุที่ปล่อยให้ไฟไหม้นานถึง 7 วัน และแนวทางในการจัดการไฟป่าในคราวหน้า แต่ไม่สามารถติดต่อได้