svasdssvasds

นภาพล จี้ถามแผนใช้หนี้บีทีเอส ส่วนต่อขยาย ปล่อยหนี้ท่วม

นภาพล จี้ถามแผนใช้หนี้บีทีเอส ส่วนต่อขยาย ปล่อยหนี้ท่วม

นภาพล จี้ถามแผนใช้หนี้บีทีเอส ส่วนต่อขยายที่ 1-2 ปล่อยดอกเบี้ยเดินรายวันสร้างยอดหนี้ท่วมหัว “ชัชชาติ” ยันกทม.พยายามทำอยู่ แต่เงินก้อนโตต้องถามหน่วยงานให้รอบคอบ

SHORT CUT

  • กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีหนี้ค้างชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ให้กับบีทีเอสเป็นจำนวนมาก หนี้ส่วนนี้ถึงกำหนดชำระมานานแล้วและกำลังก่อให้เกิดภาระดอกเบี้ยรายวันถึง 5.4 ล้านบาท
  • การชำระหนี้ดังกล่าวมีความซับซ้อนและติดขัดปัญหาด้านกฎหมายและขั้นตอนการพิจารณา เนื่องจากเป็นเงินจำนวนมาก
  • ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) และรองผู้ว่าฯ (นายวิศณุ ทรัพย์สมพล) ยืนยันว่ากำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรอบคอบที่สุด โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องหนักใจและทราบดีว่ามีดอกเบี้ยเดินอยู่ทุกวัน

นภาพล จี้ถามแผนใช้หนี้บีทีเอส ส่วนต่อขยายที่ 1-2 ปล่อยดอกเบี้ยเดินรายวันสร้างยอดหนี้ท่วมหัว “ชัชชาติ” ยันกทม.พยายามทำอยู่ แต่เงินก้อนโตต้องถามหน่วยงานให้รอบคอบ

วันพุธที่ 30 เมษายน 2568 การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปี พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายนภาพล จีระกุล ส.ก. เขตบางกอกน้อย ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง การดำเนินการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ในส่วนที่ค้างชำระ รายงานการศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวพิจารณาเสร็จตั้งแต่เดือนมีนาคม มีการรายงานผลให้สภา กทม. ทราบเมื่อวันที่ 9 เมษายน แต่ไม่ทราบว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทราบหรือไม่

นายนภาพล กล่าวว่า หนี้ค่าเดินรถและซ่อมบำรุงของส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2  ถึงกำหนดชำระมานานแล้ว และต้องเสียดอกเบี้ยวันละ 5,400,000 บาท  ขณะนี้มี 3 ส่วนที่ต้องชำระ คือ ส่วนแรกบีทีเอสฟ้องศาลอยู่ขณะนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 - ตุลาคม 2565 รวม 12,245 ล้านบาท และช่วงหลังฟ้องที่ถึงกำหนดชำระแล้ว แต่ กทม. ยังไม่ได้ชำระ ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 – ธันวาคม 2566 เงินต้นรวมดอกเบี้ย กว่า 15,499 ล้านบาท นายนภาพลถามว่าตอนนี้ ผู้ว่าฯ ได้ดำเนินการไปถึงไหน อย่างไรแล้ว

“แต่ละวันนับจากที่คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหารถไฟฟ้ารายงานผล จนถึงวันนี้ เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 แล้ว รวม 21 วัน มีหนี้ที่ต้องจ่ายวันละ 5.4 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยตอนนี้เดินหน้าไปอีก 113.4 ล้านบาท และจากวันนี้ผ่านไปอีกวันละ 5 ล้านบาทไปเรื่อยๆ ท่านจะทำอย่างไร”

นายชัชชาติ ยอมรับเป็นเรื่องหนักใจเพราะเป็นเงินจำนวนมาก ที่ผ่านมา กทม. จ่ายให้บีทีเอสแล้วประมาณ 31,700 ล้านบาท และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องหลายเรื่อง เช่น ป.ป.ช.  และสัญญาส่วนที่ 2 ที่สภา กทม. ยังไม่ได้พิจารณาเนื่องจากมีความละเอียดอ่อน  ส่วนรายงานของคณะกรรมการวิสามัญฯ นั้นรับทราบแล้ว 

อย่างไรก็ตาม กทม. คุยกันตลอด แต่การจะเอาเงินของประชาชนไปจ่าย สภากทม. ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน หากไม่รอบคอบ ไม่มีรายละเอียดชัดเจน เชื่อว่าเสนอเข้าสภากทม.พิจารณาก็ไม่มีทางอนุมัติให้ และเรื่องนี้ไม่ใช่เกิดในสมัยเราเป็นคนเริ่มต้น ไม่ใช่จบแค่นี้ หากไม่รอบคอบในอนาคตอีก 10 ปี เรื่องนี้อาจจะกลับมาหาทุกคนได้

ด้าน นายวิศณุ  ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ฝ่ายบริหารมีการเจรจาต่อรองขอลดเงินต้นและดอกเบี้ย และเร่งรัดการชำระหนี้ตามกฎหมาย โดยชำระหนี้บางส่วนไปแล้ว 37,000 ล้านบาท ตามคำสั่งศาลในคดีที่ 1 ส่วนที่ยังไม่ได้จ่ายในคดีที่ 2 ประมาณ 12,000 ล้านบาท และค่าจ้างเดินรถที่ยังไม่ได้ฟ้อง 17,000 ล้านบาท  และในปี 2568 อีกประมาณ 8,700 ล้านบาท ส่วนเรื่องที่ค้างในคดีที่ 6 เป็นค่าเดินรถและซ่อมบำรุงปี 2568 อยู่ระหว่างการเจรจา เนื่องจากติดที่สัญญายังไม่ผ่านสภา จึงต้องต่อรองร่วมกันก่อนที่จะนำกลับมาสู่สภากทม. พิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ กทม. ได้ตั้งกรรมการเจรจากับบีทีเอสไป 3 ครั้ง ขอปรับลดเงินต้น จากกรณีที่มีคอขวดบริเวณสะพานตากสิน และขอปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งบีทีเอสยังไม่ได้ตอบ แต่ได้ส่งหนังสือตามไปอีกครั้ง และยังมีการเจรจาเพิ่มในประเด็นค่าจ้างเดินรถปี 2568 ในอนาคตหลังจากหมดสัมปทานปี 2572 ที่จะมีการซื้อรถใหม่ที่จะนำมาหารเป็นค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน เพื่อให้กำหนดไว้ในสัญญาเดินรถครั้งใหม่ 

นอกจากนี้ยังมีหนังสือถามไปยัง ป.ป.ช. ว่าสามารถจ่ายค่าจ้างเดินรถในคดีที่ 2 ได้หรือไม่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา จะมีการถามไปอีกครั้งในเร็วๆ นี้ รวมถึงถามสำนักงานอัยการสูงสุดไป 2 กรณี คือ การชำระค่าจ้างระหว่างคดีที่ 2 ที่ยังไม่มีคำพิพากษามา และกรณีหลังการฟ้องจนถึงปัจจุบันจ่ายได้หรือไม่ โดยได้รับคำตอบมาเมื่อวาน (29 เมษายน 2568) ว่ากรณีที่ 1 ไม่อาจให้ความเห็นได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ส่วนกรณีที่ 2 ให้ กทม. พิจารณาตามอำนาจหน้าที่

นายนภาพล ถามต่อว่า ที่ชี้แจงว่ามีการตั้งกรรมการต่อรองกับบีทีเอสนั้นไม่ใช่เป็นการต่อรอง เพราะการก่อสร้างช่วงคอขวดที่มีการทำรางเดียว แต่ในสัญญาระบุ 2 ราง และคิดเงินไปแล้ว จึงถือเป็นการต่อรองเรื่องเงินต้นที่ค้างชำระ ถามว่ามีการลดเงินต้นและดอกเบี้ยหรือไม่ 

นายวิศณุ ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการลดอะไรเลย เราจึงต้องอ่านสัญญาให้ละเอียด เช่น กรณีช่วงสะพานตากสินที่มีการดูจำนวนเที่ยวที่วิ่งผ่าน เดิมมีการลดค่าไฟ 6 ล้านบาท ซึ่งตามสัญญาปี 2564 ระบุจำนวนเที่ยวควรจะมากกว่านี้ แต่ทำไม่ได้ตามนั้น จึงต้องนำส่วนนี้มาคิดด้วย ควรลดราคาได้เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องขอความเห็นใจให้ลดเงินต้น และดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่เขาจะพิจารณาเอง และตอนนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ

นายนภาพล ถามคำถามที่สองว่า กรณีการทำหนังสือถามไปที่กฤษฏีกา ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องอย่างไร  หากอัยการตอบกลับมาแนวทางเดิม จะทำอย่างไร จะรอจนกว่าศาลปกครองจะพิพากษาใช่หรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ส่วนของดอกเบี้ยจะทำอย่างไร 

นายชัชชาติ ชี้แจงว่า ตนถามเพื่อความรอบคอบ เพราะสุดท้ายแล้วการตัดสินใจไม่ใช่เฉพาะผู้บริหาร แต่ต้องร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติของกทม.ด้วย  ที่ยื่นถามกฤษฏีกาเพราะมีข้อขัดแย้งเรื่องสัญญาส่วนที่ 2 ยังไม่ได้ผ่านสภา กทม. ถือเป็นข้อขัดแย้งทางกฎหมายหรือไม่  ก็ได้รับคำตอบให้ไปถามมหาดไทย 

“ยืนยันว่าเป็นความพยายามทำทุกอย่างให้รอบคอบที่สุด  ทราบว่าดอกเบี้ยมันเดินตลอด แต่การทำก็ต้องรอบคอบด้วย เพราะหากจ่ายผิดพลาดไป ไม่สามารถอ้างได้ว่าเพราะดอกเบี้ยมันเดินวันละ 5 ล้าน เราถึงต้องตัดสินใจแบบนี้”

อย่างไรก็ตามทางอัยการเพิ่งได้ตอบกลับมาเมื่อเย็นวานนี้ (29 เมษายน 2568) ต้องกลับไปดู ต้องไปพูดคุยว่ามองอย่างไร  เพราะเท่าที่ทราบทั้งคณะศาลปกครอง และอัยการเป็นชุดใหม่ อาจจะมีการมองต่างกัน 

นายนภาพล กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีหนี้ในอนาคต นั่นคือ หนี้ค่าจ้างเดินรถตามสัญญาระบุว่า จะชำระเงินทุกวันที่ 20 ของเดือน แต่พบว่า มกราคม - มีนาคม 2568 ยังไม่มีการชำระเลย โดยบอกว่าตอนนี้อยู่ที่ฝ่ายบริหารจะเซ็นหรือไม่ ถามว่าช่วง 2 เดือนจะมีการคิดดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะทราบว่าจะมีการมาขอเงินกับ กทม. แล้วจะมีการชำระเมื่อไหร่ เพราะตนเกรงว่าจะเป็นการอ้างว่าเป็นสัญญาเดียวกับที่ฟ้องอยู่ในศาลหรือต้องรอถามอัยการก่อนว่าชำระได้หรือไม่

นายวิศณุ ชี้แจงว่า ได้ขอทำเรื่องเพื่อขอตั้งงบประมาณรายจ่ายไปแล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักการคลัง และอีกไม่นานคงจะมีการเอาส่วน 1 และส่วน 2 มาจ่าย นายนภาพล ถามต่อว่า สรุปแล้วตอนนี้การจ่ายเงินยังไม่มีข้อมูลหรือสรุปได้ว่าจะจ่ายเมื่อไหร่ อย่างไรเพราะอัยการคงไม่ฟันธงว่าจ่ายได้หรือไม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นตอนนี้มันค่อนข้างจะเยอะ

“ ผมถามว่ากล้าจ่ายหรือไม่ จริงๆผมเห็นด้วยกับการจ่ายเพราะเราไม่ต้องแบกภาระ อย่างผมบอกว่าดอกเบี้ยมันเดินทุกวัน แต่ท่านต้องตัดสินใจอะไรสักอย่างบนพื้นฐานที่ทำให้ กทม. เสียประโยชน์ หรือเสียหายให้น้อยที่สุด” นายนภาพลกล่าว

related