SHORT CUT
ความหมายของคำว่าชาติล้วนผกผันไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย คำว่าชาติมีวิวัฒนาการและพัฒนาการอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆ กับทุนนิยมและในที่สุดจะพัฒนาไปสู่รัฐประชาชาติ
เมื่อพูดถึงคำว่า “ชาติ” อาจเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ใครๆ ก็พูดถึงกันจนติดปาก แต่น้อยคนนักจะเข้าใจความหมายและวิวัฒนาการของชาติอย่างเข้าใจ และอธิบายให้กับสังคมได้รับรู้ในลักษณะที่เข้าใจง่าย
SPRiNG มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ผู้สอนภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ณ ประเทศอังกฤษ (SOAS - School of Oriental and African Studies, University of London) ใช้เวลาเกินกว่า 2 ทศวรรษ มีผลงานวิทยานิพนธ์ “The Rise and Decline of Thai Absolutism” เป็นเสมือนตำราวิชาประวัติศาสตร์การเมือง ที่ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิชาการระดับโลก London: Routledge Curzon,
อธิบายให้เห็นความหมายของคำว่าชาติ ที่มีวิวัฒนาการ และความเห็นที่แตกต่างออกไปของคนในแต่ละสังคมให้เราเข้าใจมากยิ่งเข้า
อ.กุลลดา กล่าวว่า อาจารย์เรียนมาด้านรัฐศาสตร์ แต่พอทำวิจัยสนใจที่จะอธิบายปรากฏการณ์ในประวัติศาสตร์ อยากรู้ว่าชาติที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเกิดขึ้นมาในสมัยอะไร มีคำอธิบายอย่างไร โดยตอนนั้นทุกคนเข้าใจว่าลัทธิชาตินิยมที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6
อันที่จริงแล้วคำว่าชาติไม่ได้มีมาดั้งเดิม แต่เราเข้าใจคำว่าชาติกับการที่เราไปมีปฏิสัมพันธ์กับลัทธิทุนนิยม การรับรู้คำว่าชาติเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ประเทศสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับตะวันตก เราจึงรับรู้การมีอยู่ของคำว่าชาติ
คำถามต่อไปจะใช้ประโยชน์อย่างไร คำตอบคือสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 นั้นมีความจำเป็นต้องทำให้คนอยู่ในอาณาบริเวณหนึ่งร่วมกันเกิดความรับรู้ร่วมกันว่ากำลังเกิดเป็นชาติ ต้องมีลักษณะร่วมที่เหมือนกันบางประการ เช่น ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เกิดการสร้างความคิดให้มีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
อาจารย์รัฐศาสตร์หลายคนเรียกว่า Imagined Communities หรือ ชาติในจินตนาการ มีความพยายามทำให้คนเข้าใจว่ามีลักษณะร่วมกัน
เราต้องเข้าใจว่าการสร้างการรับรู้เรื่องชาติทำให้คนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความต้องการสร้างคำว่าชาติ ด้วยเหตุผล “ต้องการให้คนที่อยู่ในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสมทรัพยากรส่วนรวม” เป็นความหมายที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่พยายามสร้างความเข้าใจผ่านระบบการศึกษาของประเทศ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 คำถามของความจำเป็นในการสร้างชาติถูกตัดออกไป สิ่งที่รัชกาลที่ 6 จำเป็นต้องทำคือการสร้างจิตสำนึกของคำว่าชาติ เกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีจำกัดความ 3 อย่างคือ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ขึ้นมาทำให้คนรับรู้ว่าจุดร่วมของคำว่าชาติคือการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นความหมายใหม่ที่แตกต่างจากสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอุดมการณ์ที่สร้างโดยรัฐให้คนตระหนักถึงชุมชนในจินตนาการ
ต่อมาเมื่อการเมืองผกผัน การพยายามสร้างการรับรู้เรื่องชาติ จึงแตกต่างไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย ไม่ได้มีกรอบที่จำกัดที่ลงตัว แต่ตอบสนองความต้องการของแต่ละยุคแต่ละสมัย
ชาติที่พูดมาคือ อุดมการณ์ที่สร้างโดยรัฐ แต่มีลัทธิชาตินิยมที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันด้วย เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงประโยชน์ร่วมกันของคนที่อยู่ในชาติ มีความจำเป็นที่ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ลัทธิชาตินิยม 2 ชุดที่มาโต้กัน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475
โดยที่คนอยากร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งเป็นรูปแบบชาตินิยมอีกแบบหนึ่ง เพื่อผลประโยชน์ของคนในชาติ ต้องรู้ว่ามี 2 ส่วนที่เกิดการต่อสู้กัน
ในปัจจุบันก็คือการต่อสู้กันระหว่างแนวคิดอนุรักษนิยมและแนวคิดแบบก้าวหน้า เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการของคนในสังคมในประเด็นชาตินิยม
“นั่นเท่ากับว่าคนในสังคมมองชาติไม่เหมือนกันอย่างชัดเจนที่สุด” เพราะพลังที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นมีมากขึ้น ในขณะที่พลังที่ต้องการรักษาระบบเดิมเอาไว้ซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง ทำให้มีพลังพอสมควร
อ.กุลลดา ชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยและเข้าถึงได้ง่ายทำให้คำว่าชาติในแต่ละความเข้าใจ หรือการสร้างชุมชนของคนแต่ละกลุ่มเข้มแข็งขึ้น ชุมชนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงเข้มแข็งขึ้น
รัฐจำเป็นสำหรับคนที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่พลังของคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงนั้นเข้มแข็งมากขึ้น พลังของคนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงลดน้อยลง เป็นสิ่งที่บอกว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน อ.กุลลดา กล่าว
อ.กุลลดา ชี้ให้เห็นว่า เส้นทางของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน เพราะการผ่านประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน เช่นการกดขี่ของระบบเผด็จการที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แล้วพบว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติที่แท้จริง ทำให้เขาคิดว่าจะมีระบบอะไรที่ทำได้ดีกว่าระบบประชาธิปไตยจอมปลอม นี่คือเส้นทางของแต่ละสังคมที่คล้ายกัน แต่ก็มีปรากฏการณ์พิเศษของแต่ละสังคมด้วย เพราะเป็นการรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
สังคมที่ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงโครงสร้างอำนาจไม่ได้ครอบงำโครงสร้างอำนาจ บริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ สังคมที่มีการครอบงำเป็นตัวอย่างที่ออกนอกจากระบบ นั่นหมายความว่าเขาเดินไปสู่รัฐประชาชาติแล้ว (“รัฐชาติ” หรือ Nation State ในภาษาอังกฤษ ความจริงหากเราดูที่ความหมายก็จะเห็นได้ว่า มันก็คือการรวมกันของคำว่า รัฐ กับ ชาติ นั่นเอง โดยความหมายหลักหมายถึง รัฐซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน มีความผูกพัน มีความรู้สึกภูมิใจที่เป็นสมาชิกของกันและกัน)
“กรณีของไทยกำลังอยู่ในเส้นทางที่กำลังไปสู่รัฐประชาชาติ”
ในการเป็นผู้นำในระบบทุนนิยมโลกของสหรัฐอเมริกานั้นสร้างปัญหาด้วย ด้วยความรู้สึกกว่าตนเองมีอำนาจมากมาย ที่สามารถกำหนดความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ นั่นคือที่เรารับรู้จากสหรัฐอเมริกา
คำถามคือการที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปสร้างสรรค์เศรษฐกิจโลกใหม่ ทำให้เกิดการนำทรัพยากรไปใช้ ในเรื่องการเมือง สงคราม ทำให้สหรัฐอเมริกา ลดบทบาทผู้นำในระบบนี้ไปทุกที ตอนนี้เราจึงอยู่ในสภาวะส่งถ่ายบทบาทของการเป็นผู้นำโลกจากสหรัฐอเมริกา
เราต้องเข้าใจว่าศูนย์กลางทุนนิยมโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตอนนี้ที่น่าสนใจคือเรากำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนถ่าย ซึ่งไม่รู้ว่าจะนานเท่าไหร่ แต่ต้องเดินไปข้างหน้า
“เพราะไม่มีใครสามารถเป็นผู้นำโลกทุนนิยมได้ตลอดเวลา ต้องมีศูนย์กลางขึ้นมาแทนที่” อ.กุลลดา กล่าว
หลายคนมองว่าหลังจากนี้เป็นรุ่งอรุณแห่งภูมิภาคเอเชีย เมื่อมองกลับมาประเทศไทยจะอยู่ตรงไหน อ.กุลลดา มองว่า หากดูประสบการณ์ของผู้นำไทย ไม่เห็นศักยภาพของการที่จะรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น หากดูประวัติศาสตร์ไทยเราจะเห็นศักยภาพนั้นมีน้อย
เราจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงโดยที่เราไม่รู้ว่าผลประโยชน์อยู่ตรงไหน นี่คือข้อวิตกของสังคมไทย
รัฐบาลเพื่อไทยอย่างน้อยเคยมีอุดมการณ์เพื่อประชาชนแต่ตอนนี้ไม่เห็นแล้วเราเห็นแต่ผลประโยชน์ของรัฐบาล
ประชาชนต้องเอาตัวรอดจากระบบทุนนิยมไปก่อนแล้วกัน อ.กุลลดา กล่าวพร้อมหัวเราะ
เมื่อมองเรื่องกลุ่มทุนไทย อ.กุลลดา บอกว่าโดยหลักการไม่เคยเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงการส่งเสริมผลประโยชน์ของทุนใหญ่ หากจะแก้ไขต้องมีรัฐบาลที่มีจุดยืนที่แตกต่างออกไป
“ชาติที่จริงแล้วคือประชาชน แต่ในสังคมไทยแสดงถึงความไม่เข้าในอุดมการณ์ชาติของรัฐไทย”
จากการอธิบายของ อ.กุลลดา จะเห็นได้ว่าการไล่เรียงลำดับพัฒนาการของคำว่าชาติในสังคมไทย มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีความแตกต่างในการประกอบสร้างที่แตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าในสังคมใดสังคมหนึ่งไม่ได้มีความคิดเห็นหรืออุดมการณ์ที่ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ปรากฏความคิดเห็นที่แตกต่างกันออก
ซึ่งในเรื่องชาติเองก็มีแนวคิดที่ต่างกันออก เกิดการปะทะของอุดมการณ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐจากผู้ถืออำนาจกลุ่มเดิมมาสู่มือของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้คำนิยามของคำว่าชาติล้วนประกอบสร้างในบริบทที่ต่างกัน
แต่สุดท้ายแล้วชาตินั้นเท่ากับประชาชน ไม่ใช่เท่ากับชนชั้นนำ หรือกลุ่มทุน แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะในโลกยุคปัจจุบันเราไม่อาจปฏิเสธคำว่ารัฐประชาชาติที่มีประชาชนเป็นที่ตั้งได้นั่นเอง
เห็นได้ชัดจากแนวคิดของ ฌอง-ฌาคส์ รุสโซ เสนอว่าอำนาจอธิปไตยควรเป็นของ “ประชาชน” ไม่ใช่ของพระเจ้า หรือกษัตริย์ เขาเป็นผู้วางรากฐานแนวคิด “เจตจำนงร่วม (General Will)” ซึ่งหมายถึงความต้องการรวมของประชาชนที่เป็นเจ้าของชาติ
รวมไปถึง แอร์เนสต์ เรอน็อง งเน้นว่า "ชาติ" ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนา แต่คือ “ความสมัครใจของประชาชนที่จะอยู่ร่วมกันในปัจจุบัน และความทรงจำร่วมในอดีต” กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชาติคือ "ประชาชนที่เลือกจะเป็นชาติร่วมกัน"