svasdssvasds

รัฐประหาร 2557 ต้นตอ "อาคารหรู-ทุจริต" ไร้โปร่งใส-ไร้ตรวจสอบ

รัฐประหาร 2557 ต้นตอ "อาคารหรู-ทุจริต" ไร้โปร่งใส-ไร้ตรวจสอบ

ผลพวงรัฐประหาร 57 ปัญหาทุจริตไร้ตรวจสอบ, รธน.สืบทอดอำนาจผ่าน สว.-องค์กรอิสระ, เสี่ยง "รัฐล้มเหลว" หากชนชั้นนำไม่เปลี่ยนโลกทัศน์

SHORT CUT

  • การรัฐประหารถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการอนุมัติสร้างอาคารหรูของหน่วยงานรัฐที่ไม่โปร่งใส มีการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่คุ้มค่าและไร้การตรวจสอบ เช่น กรณีอาคาร สตง. ถล่ม หรือโครงการของรัฐจำนวนมากที่ถูกทิ้งร้าง รวมถึงการแต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจเพื่อตอบสนองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มและการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำ
  • รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 ถูกออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. โดยเฉพาะการแต่งตั้ง สว. ซึ่งมีอำนาจคัดเลือกองค์กรอิสระ ทำให้เกิดปัญหา "ฮั้ว" ในการแต่งตั้ง กลไกเหล่านี้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก และมีการใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม
  • หากชนชั้นนำไม่เปลี่ยนโลกทัศน์และพฤติกรรมของผู้มีอำนาจยังคงกัดกร่อนความเข้มแข็งของรัฐและทำลายความไว้วางใจจากประชาชน อาจนำไปสู่ "รัฐล้มเหลว" ได้ในศตวรรษนี้ การป้องกันรัฐประหารและปัญหาในระยะยาวไม่เพียงพอแค่การต่อต้านกองทัพ แต่ต้องมีการ สถาปนาระเบียบใหม่ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

ผลพวงรัฐประหาร 57 ปัญหาทุจริตไร้ตรวจสอบ, รธน.สืบทอดอำนาจผ่าน สว.-องค์กรอิสระ, เสี่ยง "รัฐล้มเหลว" หากชนชั้นนำไม่เปลี่ยนโลกทัศน์

ที่งาน แถลงข่าวและอภิปรายทางวิชการเนื่องในวาระ 33 ปีพฤษภา 35 11 ปีรัฐประหารพฤาภา 2557 สรุปบทเรียนการเมืองไทยประชาธิปไตยจะไปอย่างไรต่อ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รัฐประหาร 2557 ต้นตอ \"อาคารหรู-ทุจริต\" ไร้โปร่งใส-ไร้ตรวจสอบ

อาคารหรูหราผลพวงจากการรัฐประหาร

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มองว่า การรัฐประหารเป็นหนึ่งในผลพวงทำให้เกิดการอนุมัติสร้างอาคารหรูของสำนักงานภาครัฐต่างๆ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับทุนต่างประเทศที่ใช้นายพลเป็นเกราะกำบังในการก่อสร้าง ขณะเดียวกัน อ.พิชาย มองว่า การรัฐประหารเป็นการสร้างความเฉื่อยชาทางการเมือง และเป็นเพียงเสื้อคลุมของบาดแผลจากคอร์รัปชัน แม้ว่าจะมีการใช้วาทกรรมอ้างว่าเป็นการปราบปรามการทุจริต แต่กลับเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ที่ยากต่อการตรวจสอบ ด้วยการแต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจเพื่อตอบสนองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำ

รัฐประหาร 2557 ต้นตอ \"อาคารหรู-ทุจริต\" ไร้โปร่งใส-ไร้ตรวจสอบ

อ.พิชาย กล่าวว่า ตลอด 11 ปีของการรัฐประหาร สะท้อนให้เห็นว่า การป้องกันรัฐประหารไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงแค่ต่อต้านกองทัพ แต่ต้องมีการสถาปนาระเบียบใหม่ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
 

รัฐล้มเหลวอยู่แค่เอื้อมหากชนชั้นนำไม่เปลี่ยนโลกทัศน์

อ.พิชาย ยังกล่าวถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลวของรัฐ เช่น ความสำนึกความเป็นชาติของสังคมไทยที่ลดลง สถาบันทางการเมืองและพฤติกรรมของผู้มีอำนาจในสถาบันเหล่านั้น กำลังกัดกร่อนความเข้มแข็งของรัฐ ขณะที่ชนชั้นนำยังเข้าใจผิดว่าระบบอภิสิทธิ์จะทำให้รัฐเข้มแข็ง ทั้งที่จริงแล้วเป็นการทำลายความไว้วางใจจากประชาชน และสะท้อนความไร้ความรับผิดชอบของข้าราชการบางกลุ่ม เช่น การสร้างอาคารที่เปรียบเสมือน “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ซึ่งอาจนำไปสู่ “รัฐล้มเหลว” ได้ในศตวรรษนี้

ในภาคธุรกิจ อ.พิชาย เห็นว่า มีการผูกขาดมากขึ้นจนไม่เป็นธรรม เช่น กรณีค่าไฟ ก็สะท้อนความล้มเหลวของระบบรัฐ

อ.พิชาย เห็นว่า ยังมีความหวังจากภาคประชาสังคม ที่พยายามตรวจสอบการทุจริตและคอร์รัปชัน แม้กระบวนการนี้จะชะลอการล้มเหลวของรัฐได้เพียงบางส่วน แต่หากชนชั้นนำยังไม่เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ก็อาจหลีกเลี่ยงรัฐล้มเหลวไม่ได้

ตึก สตง. ถล่มสะท้อนกระบวนการตรวจสอบไร้ประสิทธิภาพ

รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลอด 11 ปีนับตั้งแต่รัฐประหาร พ.ค. 2557 วิธีป้องกันอำนาจเผด็จการคือการสถาปนาระเบียบใหม่ในทุกมิติ

รัฐประหาร 2557 ต้นตอ \"อาคารหรู-ทุจริต\" ไร้โปร่งใส-ไร้ตรวจสอบ

อ.ปริญญา กล่าวว่าหลายคนมักโจมตีระบบประชาธิปไตยว่ามีปัญหาทุจริต แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เช่น อาคารสำนักงานใหม่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ก็เป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการใช้เงินแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นตัวอย่างของการใช้งบประมาณที่ไร้การตรวจสอบ

อ.ปริญญา ชี้ว่า โครงการของรัฐจำนวนมากในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกทิ้งร้าง เช่น อาคารที่สร้างไม่เสร็จ มูลค่าหลายพันล้านบาท ผ่านการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช. ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ข้าราชการบางคนตั้งงบประมาณให้กับกลุ่มพรรคพวกของตน

รวมถึงการแต่งตั้ง สว. โดย คสช. ซึ่งมีอำนาจในการคัดเลือกองค์กรอิสระ ทำให้เกิดปัญหาฮั้วในการแต่งตั้งที่ควรจะต้องได้รับการแก้ไขในรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นเรื่องยาก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ล็อกไว้หลายชั้น เช่น สว. ต้องเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเสียง 1 ใน 3

สว. คือคนของประชาชน ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองของใคร

อ.ปริญญา ย้ำว่า สว. ควรเป็นคนของประชาชน ไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบที่แท้จริง พร้อมเรียกร้องให้พรรคการเมืองร่วมมือกันกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย

อ.ปริญญา ย้ำว่า "ฮั้วเลือก สว.เป็นผลจากระบบ ขอให้เป็นเรื่องตามหลักฐานและข้อเท็จจริงตามกฎหมาย และตามกระบวนการยุติธรรม อย่าให้เป็นเรื่องของการเมือง ระหว่างพรรคการเมือง ที่ร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคสีแดง  สีน้ำเงินอะไรก็แล้วแต่ เรื่องนี้เนื่องจาก สว. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระจึงเป็นแรงจูงใจ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น คือจะเกิดผลกระทบกับกฎหมาย"

อ.ปริญญา ยังกล่าวด้วยว่า รัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ พฤษภา 2535 ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก กระบวนการยุติธรรมต้องได้รับความเชื่อมั่นกลับคืน

รัฐประหารฝันหวานที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการด้านความมั่นคง จากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เคยเชื่อว่าหลังเหตุการณ์ พ.ค. 2535 จะไม่มีการรัฐประหารอีก แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น

รัฐประหาร 2557 ต้นตอ \"อาคารหรู-ทุจริต\" ไร้โปร่งใส-ไร้ตรวจสอบ

อ.วันวิชิต เล่าว่า ในช่วงปี 2567–2568 ได้ถามนักศึกษาเรื่องการรัฐประหาร ทุกคนตอบว่า “ยังอาจเกิดขึ้นอีก” ไม่มีใครบอกว่าจะไม่มีอีกเลย

อ.วันวิชิต กล่าวว่า ในรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ประชาชนแทบไม่มีบทบาทในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมและกองทัพกลับเล่นเกมได้ยืดหยุ่นขึ้น เช่น การใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมืออำพรางอำนาจ

งบปรับปรุงสภา สะท้อนการไม่สนใจความทุกข์ของประชาชน

อ.วันวิชิต ยังชี้ให้เห็นถึงการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่สะท้อนการใช้งบประมาณโดยไม่คุ้มค่า และเป็นสัญญาณของความไม่สนใจต่อความทุกข์ของประชาชน 

“เหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนคือการปรับปรุงอาคารรัฐสภา หากเปรียบเทียบตามสามัญสำนึกการปรับปรุงบ้านต้องเป็นบ้านที่เคยใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ถึงจะมีการปรับปรุงใหม่ได้ เป็นภาพสะท้อนการกระทำที่ย้อนแย้งขังขื่นกับสังคม”

อ.วันวิชิต กล่าวว่า การเป็นนักการเมืองจะตระหนักถึงความทุกข์ยากของประชาชนแต่ผู้ประกอบการทางการเมืองจะหักหลังทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตนเอง

รัฐสภาในต่างประเทศจะพูดถึงการพัฒนาประชาธิปไตยการได้มาของประชาธิปไตยแต่ของประเทศไทยเรามองแต่เรื่องวิจิตรศิลป์

สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ช่วง 5 ปีแรกภายใต้ พล.อ. ประยุทธ์ ขับเคลื่อนไปได้ แต่หลังจากนั้นกลับเห็นปัญหา โดยเฉพาะความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สวนทางกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์

ไทยไม่เรียนรู้ความเจ็บปวดจากเผด็จการ

รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปรียบเทียบว่า ประเทศไทยหลังรัฐประหารไม่ได้เรียนรู้จากอดีตเหมือนกับอิตาลี ที่มีวันรำลึกถึงการต่อต้านเผด็จการ เบนิโต มุสโสลินี

รัฐประหาร 2557 ต้นตอ \"อาคารหรู-ทุจริต\" ไร้โปร่งใส-ไร้ตรวจสอบ

อ.บุญเลิศ กล่าวว่า รัฐประหารปี 2557 ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางและนำไปสู่รัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ คสช. การใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือทางการเมืองยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง จนเปรียบเสมือนประเทศไทยเป็นแบบ “ฟิลิปปินส์” มากกว่าจะเป็น “ทศวรรษที่หายไป” แบบญี่ปุ่น

องค์กรอิสระเครื่องมือทำลายคนเห็นต่างที่เปลืองงบ

ที่แย่กว่าการเลือกองค์กรอิสระมาปกป้องตนเองคือการใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม องค์กรอิสระแบบนี้มีแล้วแย่แบบนี้ไม่มีดีกว่าเปลืองงบประมาณ หากมองย้อนไปในอดีตประเทศไทยเคยมีมาตรฐานที่ดีกว่านี้ อ.บุญเลิศ กล่าว

อ.บุญเลิศ เรียกร้องให้นักการเมืองและสื่อพัฒนาคุณภาพตัวเอง และให้วงการวิชาการกลับมามีบทบาทมากขึ้นในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม

related