svasdssvasds

"อนุทิน" ปลื้ม รมว.สธ.มาเลเซียสนใจนำ กัญชา-กระท่อมใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

"อนุทิน" ปลื้ม รมว.สธ.มาเลเซียสนใจนำ กัญชา-กระท่อมใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

รองนายกฯไทยเผย รมว.สธ.มาเลเซียสนใจนำ กัญชา-กระท่อม ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พร้อมเตรียมศึกษาดูงานของไทยระหว่าง ระหว่างในช่วงการประชุมรมว.สธ.เอเปค ขณะที่ “อนุทิน” ฟุ้งหลังไทยปลอดล็อกพ้นยาเสพติด ผู้เข้าถึงกัญชาแล้วต้องมารับการรักษาพยาบาลในรพ.ของรัฐจำนวนลดลง

เมื่อวันที่  15 ส.ค.2565 ด้านกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข(รมว.สธ.) ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลัง H.E.Dato Jojie Sarnuel เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ที่เข้าพบว่า เป็นการหารือเพื่อเตรียมการการเยือนประเทศไทยของรมว.สาธารณสุข ประเทศมาเลเซีย ที่จะมาเข้าร่วมการประชุมรมว.สธ.เอเปค

ซึ่งก่อนหน้านี้ระหว่างการประชุมใหญ่องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้มีการหารือทวิภาคี โดยท่านได้แจ้งว่าอยากมาศึกษาว่ากระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ไทย มีการจัดการบริหารนโยบายกัญชาทางการแพทย์อย่างไร  เนื่องจากสธ.มาเลเซียกำลังพิจารณาดำเนินการเรื่องการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกระท่อมด้วย และมีการตั้งเป็นเป้าหมายว่าเป็นการนำพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน

ด้านนายอนุทิน กล่าวอีกว่า สธ.ไทยวางแผนเตรียมการจะนำเข้าเยี่ยมชมอุตสาหกรรมกัญชา การปลูกกัญชาให้ได้คุณภาพช่อดอกที่ดีในการนำมาทำสารสกัดเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และจะมีการหารือเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายว่าเมื่อดำเนินการนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์นั้น ประเทศไทยพบปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง  เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ซึ่งประเทศมาเลเซียกำลังอยู่ในระหว่างการร่างกฎหมายกัญชาเช่นกัน

“ถ้าประเทศไทยและมาเลซียร่วมกันสนับสนุนให้พืชกัญชาสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้มากที่สุด เท่ากับมีประเทศเพื่อนบ้านที่มีกฎหมายยาเสพติดแรงกว่าไทยมาก ยังเชื่อว่าถ้านำไปใช้ในทางที่ถูก นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ น่าจะเกิดประโยนช์กับประเทศ ตรงกับเจตนารมย์ของประเทศไทยและไม่สนับสนุนเรื่องการใช้ในทางสันทนาการ สูบเสพไม่ได้ สิ่งที่ห้ามก็จะเป็นแนวเดียวประเทศไทย ก็คงมาขอดูด้วยว่าไทยมีข้อจำกัดตรงไหนที่ไทยไม่ให้ใช้ เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ”นายอนุทินกล่าว

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งผู้สื่อข่าวถามว่าประเทศไทยมีการถอดบทเรียนถึงปัญหา อุปสรรคในการดำเนินนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์อย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า การนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ ไปสูบเสพไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชงนั้น คณะกรรมาธิการจะพิจารณาสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้าย ก่อนนำเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร

และส่งเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา หากไม่มีอะไรก็ตั้งเป้าให้เสร็จโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้สธ.มีประกาศที่นำมาใช้ในการป้องกันการใช้ในทางที่ผิดทั้งประกาศกรมอนามัยเรื่องกลิ่นควันกัญชาเป็นเหตุรำคาญ และประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม

พร้อมถามต่อว่าปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดมา 2 เดือน สธ.มีการเฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร  นายอนุทิน กล่าวว่า รายงานผู้ที่เข้าถึงกัญชาแล้วต้องมารับการรักษาพยาบาลในรพ.ของรัฐ จำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าคนเริ่มเข้าใจเพิ่มมากขึ้น  และหันไปใช้ในทางที่ถูกมากขึ้น

ทั้งนี้จากนี้ไปแพทย์ก็กล้าที่จะสั่งใช้ยากัญชากับผู้ป่วยที่สมควรได้รับไม่ต้องหลบซ่อนเหมือนเมื่อก่อน ผู้ใช้ยากัญชาก็ไม่ต้องถูกตรวจค้น หรือดำเนินคดี ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย  แพทย์ทางเลือกก็สามารถใช้กัญชามารักษาผู้ป่วยได้ตามหลักวิชาชีพ วิชาการ  จึงมีจำนวนผู้เดือดร้อนจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ลดลงมาก

“ส่วนผู้ที่สูบเสพกัญชาในทางที่ไม่ถูกต้อง สูบในพื้นที่สาธารณะ เย้ยกฎหมาย  ท้าทายกฎหมาย  มีสิทธิ์ถูกดำเนินคดีถ้าก่อให้เกิดความรำคาญ” นายอนุทินกล่าว

ทางด้านนพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งจะกำหนดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ แต่ไม่ได้นำกลับเข้าเป็นยาเสพติดอีกเพราะปลดล็อคแล้ว การควบคุมน่าจะได้ประมาณ 70- 80 % เพื่อรอร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชงมีผล ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ส.ค. นี้

และจะมีการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ที่มีปลัดสธ.เป็นประธาน หากที่ประชุมเห็นชอบก็จะเสนอให้รมว.สธ.ลงนามต่อไป ส่วนเรื่องของอำนาจในการจับกุมต่างๆ ยังกำหนดให้เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งในต่างจังหวัดคือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) คือผู้ได้รับมอบอำนาจ ใน กทม.ก็เป็นอธิบดี เป็นผู้ชี้เป้าหมายว่าแบบใดคือการกระทำผิด แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดำเนินการต่อ เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ

อนึ่ง จากฐานข้อมูล การบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศ ของกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูล ปี 2565 ณ วันที่ 10 ก.ค. 2565 ในส่วนของผู้ป่วยกัญชา  ปี 2561 จำนวน  13,838 ราย ปี  2562 จำนวน 18,180 ราย ปี 2563 จำนวน 10,766 ราย ปี  2564 จำนวน 7,609 ราย และปี 2565 จำนวน 3,364 ราย

related