13 พ.ย. 2562 เวลา 8:49 น.
จากกรณีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรหรือส.ป.ก. และกรมป่าไม้ เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินของ น.ส. ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในพื้นที่ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 1,700 ไร่ โดยได้นัดหมายรังวัดแนวเขตวันนี้ (13 พ.ย.)
ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากกะทันหันจาก ส.ป.ก.จังหวัดราชบุรีว่า ขอยกเลิกการเดินรังวัดแนวเขตในพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่ขอระบุเหตุผล ขณะเดียวกันหน้าบริเวณฟาร์มไก่เขาสวนกวางของส.ส.ปารีณา มีป้ายแสดงติดว่าหยุดขาย 1 วัน
ซึ่งหลังจาก ส.ป.ก.และกรมป่าไม้ยกเลิกการเดินวัดแนวเขตที่ดินของส.ส.ปารีณา ที่กำลังเป็นข้อพิพาทแล้ว ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายไร สลัดเอี่ยม อายุ 78 ปี ชาวบ้านหมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ระบุว่าตนอยู่อาศัยในพื้นที่ตั้งแต่เกิด ที่ดินบริเวณที่อยู่ติดกับ ส.ส.ปารีณา 1,700 ไร่ บางส่วนจำนวน 160 ไร่ เป็นที่ดินของพ่อมาก่อน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่เคยเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือภาษีดอกหญ้า (ใบ ภบท.5) ซึ่งเคยขายให้กับนายพันคนหนึ่ง จากนั้นนายพันคนนี้ ได้ขายเปลี่ยนมือเป็นของ ส.ส.ปารีณา
ในฐานะคนในพื้นที่ทราบว่าครอบครัวไกรคุปต์ ซื้อที่ดินจากชาวบ้านในละแวกนี้หลายราย ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่มีลักษณะเป็นใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งชาวบ้านก็ยินดีขายให้ เพราะเชื่อว่าจะไม่ได้นำไปทำศัลยกรรมขนาดใหญ่หรือปั๊มน้ำมัน แต่เป็นเพียงที่ดินทำกินเท่านั้น ซึ่งที่ดิน 1,700 ไร่ของ ส.ส.ปารีณา ก็เป็นฟาร์มไก่และเป็นไร่เลี้ยงวัว ซึ่งชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบ
นายไร ระบุต่อไปว่า ตำบลรางบัว มีปัญหาที่ดินตกหล่น ประมาณ 6-7 ราย ตนคือหนึ่งในนั้น แม้ว่าจะมีบ้านอยู่ติดกับถนน แต่ที่อยู่อาศัยก็ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นในลักษณะใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งภาครัฐแจ้งยกเลิกจ่ายภาษีดังกล่าวมาเป็นเวลา 6-7 ปีแล้ว ครอบครัวเคยเดินเรื่องขอออกเอกสารสิทธิ์ แต่ทางกรมป่าไม้ระบุว่าพื้นที่ที่อาศัยอยู่ยังเป็นเขตป่าสงวน หากจะออกเอกสารสิทธิ์ได้จะต้องเซ็นอนุมัติให้เป็นป่าเสื่อมโทรม
ดังนั้นหากมีการเดินรังวัดแนวเขตในที่ดินของส.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ก็อยากให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแก้ไขปัญหาที่ดินของชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยที่ทำกินเหมือนกับชาวบ้านในตำบลอื่น
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกรมป่าไม้ อ้างหลักฐานเป็นภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณที่ตั้งโรงเลี้ยงไก่ เขาสนฟาร์มของ ส.ส.ปารีณา เกือบทั้งหมด เดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ต่อมากรมป่าไม้ได้ส่งมอบให้กับ สปก. และปี 2554 สปก. ประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน