svasdssvasds

“ธณิกานต์“เสนอ 3 แนวทางให้ รบ.บริหารงบประมาณ 64 พัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัล

“ธณิกานต์“เสนอ 3 แนวทางให้ รบ.บริหารงบประมาณ 64 พัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัล

“ธณิกานต์“ เสนอ 3 แนวทางให้ รัฐบาลบริหารงบประมาณ 64 เพิ่มความปลอดภัยให้เพศหญิง และพัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัลทันโลก

น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พลังประชารัฐ อภิปรายว่า การจำแนกงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ทางรัฐบาลเสนอว่าจะจำแนกตามยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน คือด้านความมั่นคง ด้านสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนา และเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับความสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

ซึ่งทั้ง 6 ด้านนี้ตนเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาติที่เราตั้งไว้ในกรอบใหญ่นั้น ตนเห็นด้วยว่าควรจะจัดสรรงบประมาณใช้เงินไปตามเป้าหมาย แต่นอกจากยุทธศาสตร์ของชาติไทยแล้ว ในบริบทโลก ขณะนี้ทั่วโลกกำลังก้าวไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้ง 17 ข้อ หรือ SDGs ที่สหประชาชาติตั้งเป้าไว้ ตนอยากเห็นการใช้งบประมาณในประเทศมุ่งไปสู่เป้าหมายที่จะเป็นจุดยืนของไทยในการสร้างเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับบริบทของโลกปัจจุบัน

น.ส.ธณิกานต์ กล่าวว่าในฐานะที่ตนเป็นตัวแทนผู้หญิง อยากเห็นการใช้จ่ายงบประมาณที่สอดคล้องกับมาตรการ หรือแผนงานด้านความปลอดภัยของสตรี ซึ่งจากข้อมูล ที่ตนได้มาจากศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว มีจำนวนที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวถึง 14,237 รายต่อปี หรือเฉลี่ย 39 คนต่อวัน โดย 93.05% เป็นผู้หญิง 60.66% เป็นการทำร้ายร่างกายทางเพศ กระทำชำเรา อนาจาร โดยมากกว่า 50% ผู้ที่กระทำคือคู่สมรสหรือแฟน ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดที่สุด และมากกว่า 63% สถานที่เกิดเหตุคือบ้านของตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ตนจึงอยากให้แผนงานต่างๆที่เข้ามามีส่วนในการดูแลผู้หญิงได้มีการจัดสรรงบประมาณลงไปถึงอย่างแท้จริง

“จากจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั้งประเทศ 65,614,157 คน เป็นผู้หญิง 33,503,382 คน ผู้ชาย 32,110,775 คน แปลว่า เรามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1,392,607 คน และในกทม. มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 338,231 คน ซึ่งเป็นข้อมูลสำนักทะเบียนกลาง ปี 62 ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ามีนัยยะสำคัญที่เป็นข้อมูลว่าประชากรส่วนใหญ่ของไทยเป็นผู้หญิง ที่ถึงแม้จะไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ตนจึงอยากเห็นว่าการจัดสรรงบประมาณได้คำนึงถึงจุดนี้บ้างหรือไม่อย่างไร”

ทั้งนี้ น.ส.ธณิกานต์ได้เสนอเพิ่มเติม 3 แนวทางในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ 1.มีการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้หญิงบ้างหรือไม่ และอยู่ตรงไหน ซึ่งปัญหาที่เจอทุกวันนี้ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว เฉลี่ยผู้หญิงถูกกระทำหรือเป็นเหยื่อ 36 คนต่อวัน โดนข่มขืนกระทำชำเราปีละประมาณ 2,000 ราย เป็นแม่วัยใสสถิติล่าสุดประมาณ 72,000 ราย และเคยมียอดสูงสุดถึงแสนกว่าราย และ เพศหญิงถือเป็นบุคคลส่วนใหญ่ของสังคม หากเกิดการกระทำอะไรขึ้นมา ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้จึงอยากได้ 2.มาตรการที่ดูแลเหยื่อที่เป็นผู้หญิงอย่างเป็นรูปธรรมในระดับนโยบาย โดยทางการรักษาเยียวยา การป้องกัน เช่นในกทม. ควรจัดให้มีกล้องวงจรปิดหรือ CCTV ที่ใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบตามสี่แยกตรอกซอกซอยและชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมบทบาทและคุณค่าสตรี 3. การจัดงบประมาณกับการพัฒนาผู้หญิงที่นำไปสู่ความเป็น Global Citizen ในยุค Next Normal ผ่านโครงการต่างๆได้คำนึงถึงจุดนี้ด้วยหรืออย่างไร เช่น การศึกษาที่เหมาะสมทุกช่วงวัย การพัฒนาทักษะอาชีพที่ทันสมัยเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณ 3.3 ล้านบาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์สำหรับคนทุกเพศทุกวัยอย่างแท้จริง เท่าทันโลกทันสมัย นำสู่ยุคดิจิตัล และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนแท้จริง

related