svasdssvasds

ต่อ "พรก.ฉุกเฉิน" ไม่ได้ห้ามชุมนุม แค่หวั่นโควิดระบาดซ้ำ

ต่อ "พรก.ฉุกเฉิน" ไม่ได้ห้ามชุมนุม แค่หวั่นโควิดระบาดซ้ำ

ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่มีมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน ยันมีความจำเป็เพราะสถานการณ์โควิด-19 โลกยังรุนแรง และยังเห็นชอบอีกหลายประการในการอนุญาตให้ต่างชาติเข้าประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

วานนี้ (22 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เป็นประธานประชุม ศบค.ชุดใหญ่ นายกฯกล่าวตอนหนึ่งว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเราต้องเผชิญสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ระยอง ถือเป็นบทเรียนและสัญญาณเตือนว่าพวกเราทุกคนจะต้องไม่ประมาท ภายหลังที่พวกเราทุกคนประสบความสำเร็จ มีความร่วมมือที่ดี จึงขอให้กำลังใจทุกคนอย่างต่อเนื่อง ขอคนไทยอดทนอย่าท้อ

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่ออีกว่า ทราบดีว่าทุกคนพยายามและทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นมาบ้าง ขอให้อดทน อย่าท้อถอยหรือปล่อยมือ โดยเฉพาะความพยายามรักษาสมดุลด้านการสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมรวมถึงความสัมพันธ์กับต่างประเทศด้วย เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมีความสลับซับซ้อนมากมาย และเรายังต้องเผชิญการบิดเบือนต่างๆ เพื่อประโยชน์อะไรก็ตาม

 

จากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ขอให้ทุกคนยืนหยัดและตั้งมั่นในเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ ทำเพื่อชาติบ้านเมือง ขอบคุณทีมประชาสัมพันธ์และโฆษก ศบค. วันนี้เราต้องเข้มงวด ละเอียด รอบคอบ พิจารณาทบทวนมาตรการต่างๆอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งแผนเผชิญหน้าในเชิงรับ เชิงรุก และแผนเผชิญเหตุ ประสานทุกขั้นตอน ต้องรับฟังเสียงและความคาดหวังของประชาชนส่วนใหญ่ด้วย

 

ทั้งนี้มีรายงานอีกว่า ก่อนเริ่มการประชุม ศบค. นายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด

 

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ศบค.ชุดเล็ก เสนอต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอาจจะมีการยกเว้นเรื่องการห้ามชุมนุม ว่า ให้รอฟังผลที่ประชุม ศบค. เมื่อถามว่ามีหลายฝ่ายเสนอให้ประกาศเป็นรายพื้นที่ไป ไม่ต้องครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ จะทำได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าประเด็นดังกล่าวพิจารณาตั้งแต่ครั้งแรกของการประชุม ศบค. แต่เกิดข้อกังวลว่า คนจะเคลื่อนย้ายไปในพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โรคติดต่อไม่เหมือนกับการชุมนุม ไม่เหมือนความไม่สงบเมื่อปี 57-58 ที่กระชับพื้นที่ได้

 

แต่โควิด-19 ไปทางอากาศเราไม่สามารถกระชับพื้นที่ได้ จึงมีความจำเป็นต้องประกาศทั่วประเทศ เพียงแต่ไม่เอามาตรการต่างๆมาใช้ เพราะมาตรการที่มีอยู่ 6 มาตรการก็ยกเลิกได้ หากใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ประเทศไทยมี 77 จังหวัด ก็จะมี 77 มาตรฐาน ด่านเข้าออกด่านผ่อนปรน 70 ด่าน ก็จะมี 70 มาตรฐาน นายกฯไม่สามารถไปสั่งงานละเอียดในแต่ละด่านได้ ด้วยเหตุนี้ การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะเป็นมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันที่สุด เมื่อถามว่า จะขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปกี่วัน นายวิษณุกล่าวว่าไม่ทราบ อยู่ที่แพทย์ประเมิน

 

พล.อ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ดังนั้นเครื่องมือเดียวที่จะประกันได้ว่า สิ่งที่เราอนุญาตผ่อนคลายในเชิงธุรกิจ จะถูกชั่งน้ำหนักโดยความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างเดียวในขณะนี้ที่มีอยู่ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาประกาศใช้ไปอีก 1 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังไม่มีกฎหมายตัวอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะนิ่งนอนใจ

 

เข้าใจทีมงานทางด้านกฎหมายและกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดจะปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรคติดต่อให้มีบทบาทและอำนาจมากขึ้นใกล้เคียงกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ซึ่งยังไม่มีกฎหมายออกมา จึงยังจำเป็นที่จะคงมาตรการสำคัญของรัฐโดยเฉพาะในการกักตัว 14 วัน

 

พล.อ.สมศักดิ์กล่าวด้วยว่า แต่เพื่อให้ประชาชนสบายใจที่ผ่านมาเราพยายามใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเบาที่สุดแล้ว ถึงวันนี้ไม่ได้มีการห้ามการออกนอกเคหสถาน และสิ่งที่เราจะไม่ห้ามต่อไปคือเราจะไม่ใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินห้ามการชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ต่อในเดือน ส.ค.มีเจตนาเพื่อควบคุมโรคโดยบริสุทธิ์ใจ การห้ามชุมนุมจะไม่ปรากฏใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ต่ออายุ 1 เดือน แต่การชุมนุมทางการเมืองต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

เมื่อถามว่าการชุมนุมที่ผ่านมามีบางคนถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะดำเนินการอย่างไร พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ต้องว่าไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่วันนี้การพูดถึงการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน คือเดือน ส.ค.จะไม่นำประเด็นเรื่องการห้ามการชุมนุมมาเกี่ยวข้องอีก ส่วนเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะแจ้งข้อหาโดยใช้กฎหมายอื่น

 

related