วิเคราะห์ 7 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ญัตติไหน มีโอกาสได้ไปต่อ สู่การแปรญัตติในวาระที่ 2 และ ญัตติไหน หากไม่ได้ไปต่อ ก็สุ่มเสี่ยงทำให้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงยิ่งขึ้น
วันนี้และวันพรุ่งนี้ รัฐสภามีการประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณา “ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ” โดยมี 6 ญัตติที่ถูกเลื่อนมาจากครั้งที่แล้ว บวกกับอีก 1 ญัตติ ที่นำเสนอโดย iLaw รวมเป็นทั้งสิ้น 7 ญัตติ และมีสาระสำคัญ ดังนี้
ญัตติที่ 1 เป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอแก้ไข มาตรา 256 เปิดทางให้มี ส.ส.ร. แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง กำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน
ญัตติที่ 2 เป็นของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอแก้ไข มาตรา 256 เปิดทางให้มี ส.ส.ร. แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สัดส่วนมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และแต่งตั้ง 50 คน กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 240 วัน
ญัตติที่ 3 แก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ และแก้ไขมาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกฯ คนนอก
ญัตติที่ 4 แก้ไขมาตรา 270 และ มาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว. ติดตามการปฏิรูป
ญัตติที่ 5 แก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช.
ญัตติที่ 6 แก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540
ญัตติที่ 7 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ iLaw มีสาระสำคัญอาทิเช่น นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. , ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง , ยกเลิกแผนยุทธศาสตรชาติ , ยกเลิกการรับรองอำนาจและการละเว้นความรับผิดของ คสช. ฯลฯ
โดยญัตติที่ 4 - 6 เป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เสนอเพิ่มเติม
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านความเห็นชอบของสภากึ่งหนึ่ง และในจำนวนนี้ ต้องมี ส.ว.โหวตเห็นด้วย 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด ถ้าเคาะเป็นตัวเลข ก็อยู่ที่ 84 คน
หมายความว่า ถึงแม้เกิดปาฏิหาริย์ ส.ส. ทั้งซีกรัฐบาล และฝ่านค้าน โหวตเห็นด้วยทั้งหมด แต่ถ้ามีเสียงของ ส.ว.ไม่ถึงจำนวนที่กำหนด ญัตตินั้นก็ต้องตกไปในที่สุด
ถ้าจะให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตราที่ต้องแก้เป็นอันดับแรกก็คือ 256 ซึ่งในญัตติที่ 1 และ ญัตติที่ 2 เสนอให้แก้มาตรานี้เหมือนกัน เพียงแต่แตกต่างกันในรายละเอียด
และจากบทเรียนที่ผ่านมา หลังจากเลื่อนการพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งที่แล้ว ก็ทำให้สถานการณ์รัฐบาลย่ำแย่ลงไปอีก เพราะมีหลายคนมองว่า เป็นการยื้อเวลา รัฐบาลและ ส.ว. ไม่มีความจริงใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญ
ฉะนั้นในการพิจารณาครั้งนี้ เพื่อลดระแสต่อต้าน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของม็อบต่างๆ ที่จัดอีเวนต์อย่างถี่ยิบ คาดว่าทางฝั่งรัฐบาล และ ส.ว. น่าจะโหวตเห็นด้วยกับญัตติที่ 1 และ ญัตติที่ 2 เพื่อให้ได้ไปต่อในขั้นตอนแปรญัตติ ในวาระที่ 2
หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ต้องโหวตให้กับญัตติที่ 2 ที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาลเอง ส่วนในฝั่ง ส.ว.นั้น จากการให้สัมภาษณ์ของนายวันชัย สอนศิริ (ส.ว) ในรายการอินไซด์ไทยแลนด์ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เจ้าตัวก็บอกว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 256
ญัตติที่ 3 แก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ และแก้ไข มาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกฯ คนนอก ที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญ ในการประชุมพิจารณาครั้งนี้ ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นกระแสสังคมไปแล้ว ที่เรียกร้องให้ ส.ว. ตัดอำนาจตัวเองในการเลือกนายกฯ เพื่อความชอบธรรมทางการเมือง
ซึ่งในกรณีที่ประชุมสภา มีมติเห็นด้วยกับ ญัตติที่ 1 กับ ญัตติที่ 2 แต่ไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ 3 ก็มีแนวโน้มว่าจะทำให้อุณหภูมิทางการเมืองยังคงร้อนแรงต่อไป
เพราะที่ผ่านมาในประเด็นนี้ แม้เหล่า ส.ว. จะถูกกดดันอย่างหนัก แต่ไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะจะยอมโหวตเห็นด้วยหรือไม่ และเท่าที่จับสัญญาณได้ ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้
ในญัตตินี้ก็ต้องวัดใจรัฐบาลและ ส.ว. ว่า จะยอมเสี่ยง เพราะคิดว่ามีอำนาจรัฐอยู่ในมือ หรือยอมถอย ให้มีการแก้มาตราที่สังคมเห็นว่ามีปัญหาและไม่ชอบธรรม เพื่อลดกระแสต่อต้าน ที่อาจพอทำให้ฝ่ายรัฐหายใจหายคอได้โล่งขึ้น
ญัตติที่ 4 แก้ไขมาตรา 270 และ มาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว. ติดตามการปฏิรูป ญัตติที่ 5 แก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช. และญัตติที่ 6 แก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540
ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่า ญัตติที่ 4 , 5 และ 6 อาจจะผ่านในบางญัตติ หรืออาจผ่านทั้งหมด แต่บัญญัติที่ 3 กลับไม่ผ่านการพิจารณา เพื่อคงอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ไว้ ที่เป็นกล่องหัวใจในการรักษาอำนาจ หรือหากมีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นมา ก็สามารถใช้ ส.ว. 250 เสียง เป็นแต้มต่อกลับคืนสู่อำนาจได้
ในประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ ที่มีกระแสเรียกร้องร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง และหากรัฐรวมถึง ส.ว.เกิดความตระหนักได้ว่า ยิ่งยื้อยิ่งเจ็บ แล้วพลิกเกมเป็นเห็นด้วยกับทุกญัตติซะเลย ก็มีความเป็นไปได้ เพื่อลดแรงกดดันที่โหมกระหน่ำเข้ามา แต่บอกเลยว่า เป็นไปได้น้อยมาก