svasdssvasds

กรมชลฯ เร่งระบายน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ ย้ำต้องคงน้ำไว้ทำนาปรังช่วงแล้งต่อ

กรมชลฯ เร่งระบายน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ ย้ำต้องคงน้ำไว้ทำนาปรังช่วงแล้งต่อ

กรมชลประทาน ระดมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ-เครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ ชี-มูล-เจ้าพระยา บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมเก็บกักน้ำที่เหลือไว้ให้เกษตรกรใช้สำหรับทำนาปรังฤดูแล้งปี 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เผยว่า กรมชลประทานได้กำหนดแนวทางการระบายน้ำออกจากทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน

โดยสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบันลุ่มน้ำชีมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ประมาณ 223 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ. ม.) พื้นที่น้ำท่วม 174,366 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และยโสธร ส่วนลุ่มน้ำมูล มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ประมาณ 205 ล้าน ลบ. ม. พื้นที่น้ำท่วม 175,402 ไร่ บริเวณพื้นที่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี โดยได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 104 เครื่อง ช่วยระบายน้ำได้ 82.56 ล้าน ลบ.ม., เครื่องผลักดันน้ำ 224 เครื่อง , เครื่องจักรอื่น ๆ 310 หน่วย คาดสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นธันวาคมนี้

ด้านพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้เริ่มระบายน้ำออกตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา ปัจจุบันยังมีน้ำคงเหลือในทุ่ง ประมาณ 1,721.51 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้จะคงเหลือน้ำไว้ในทุ่งไว้ประมาณ 460 ล้าน ลบ.ม. หรือความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อเป็นน้ำต้นทุนสำหรับทำนาปรังในช่วงต้นฤดูแล้งนี้ ซึ่งจะต้องระบายน้ำออกจากทุ่งประมาณ 1,261.21 ล้าน ลบ.ม. ด้วยการใช้เครื่องสูบน้ำ 892 เครื่อง ระบายน้ำได้ 1,161.50 ล้าน ลบ.ม. เครื่องผลักดันน้ำ 308 เครื่อง และเครื่องจักรอื่น ๆ 107 หน่วย คาดจะสามารถระบายน้ำออกจากทุ่งได้ตามเป้าประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้ ขณะที่ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตก กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพิ่มเติมจากเดิมมีเครื่องสูบน้ำถาวร 235 เครื่อง ได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่อีก 59 เครื่อง รวม 294 เครื่อง สูบระบายน้ำได้รวม 52.81 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

กรมชลฯ เร่งระบายน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำทั่วประเทศ

ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำทางตอนบนได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเช้าวันที่ 15 พ.ย. 2564 มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,333 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำด้านท้ายเขื่อนลดลงตามไปด้วย ขณะที่บริเวณ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เป็นจุดเฝ้าระวังก่อนที่น้ำจะไหลผ่านลงสู่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,651 ลบ.ม.ต่อวินาที แนวโน้มลดลงเช่นกัน

ด้านลุ่มน้ำป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำวันละ 6.94 ล้าน ลบ.ม. หรือ 80.28 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำด้านท้ายลดลงอย่างต่อเนื่องต่ำกว่าตลิ่งหมดแล้ว แต่ยังคงควบคุมน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในเกณฑ์ 85 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมกันนี้ได้ผันน้ำบริเวณเหนือเขื่อนพระรามหกเข้าคลองระพีพัฒน์ 142 ลบ.ม.ต่อวินาที

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำท่าจีนในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม กรมชลประทานได้บริหารจัดการโดยผันน้ำไปยังคลองที่ยังสามารถรับน้ำได้ อาทิเช่น ด้านฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง (คลอง มอ.) คลองมะขามเฒ่า-กระเสียว (คลอง มก.) ด้านฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย คลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) มโนรมย์ และคลองชัยนาท-อยุธยา รับน้ำผ่าน ปตร.มหาราช เป็นต้น

ด้านเขื่อนกระเสียว ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 303 ล้าน ลบ.ม. เต็มความจุอ่างฯ ระบายน้ำ 4.59 ลบ.ม.ต่อวินาที ได้มอบหมายให้โครงการชลประทานในพื้นที่ร่วมกับสำนักเครื่องจักรกล วางแผน และติดตามผลการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแล้ว 77 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 132 เครื่อง

นายประพิศ กล่าวด้วยว่า นอกจากการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำข้างต้นแล้ว กรมชลประทานยังได้วางแผนเก็บกักน้ำไว้เป็นน้ำต้นทุน เพื่อให้มีน้ำใช้ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งเพื่อการเกษตร อุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ และอื่นๆ ได้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ รวมทั้งการสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ขอให้ทุกโครงการชลประทานติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ขอให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกี่ยวกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

related