ผ่านไปแล้ว 17 ปี กับเเหตุก่อการร้ายวันที่ 11 เดือนกันยายนปี 2001 ที่ผู้ก่อการร้ายยึดเครื่องบินพาณิชย์ 2 ลำพุ่งชนอาคารเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ใจกลางมหานครนิวยอร์ก จนพังถล่มลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ยังมีเหยื่อมากกว่า 1,100 รายที่ยังไม่ได้มีการระบุเอกลักษณ์บุคคล
ทีมงานในห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่ง ที่มหานครนิวยอร์ก ยังคงทำงานแข่งกับเวลา กับการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล จากชิ้นส่วนกระดูก ที่พบบริเวณพื้นที่อาคารเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ถล่ม โดยมาร์ค ดีไซร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายงานพิสูจน์ทางชีววิทยา ของนิวยอร์ก ระบุว่า กระดูกคือส่วนที่ยากที่สุด ในการหาดีเอ็นเอ และยิ่งไปกว่านั้น กระดูกเหล่านี้ ยังเผชิญกับภาวะต่างๆที่กราวน์ ซีโร่ ไม่ว่าจะเป็นไฟ แบคทีเรีย แสงแดด เชื้อรา น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำลายดีเอ็นเอทั้งนั้น
สิ่งที่ตอกย้ำว่ าการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ นั่นก็คือ ทีมงานได้มีการเก็บดีเอ็นเอ ของบรรดาครอบครัวไปแล้ว 17,000 ตัวอย่าง แต่ไม่มีสักตัวอย่างเดียว ที่เข้าเหยื่อ 100 ราย
เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ก็มีการเพิ่มรายชื่อเหยื่ออีกคน ที่พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้แล้ว นั่นก็คือ นายสก็อตต์ ไมเคิล จอห์นสัน นักวิเคราะห์การเงินวัย 24 ปี เขาทำงานที่ชั้น 89 อาคารฝั่งใต้ แต่การเผยชื่อของเขาในครั้งนี้ ก็เว้นห่างจากการเผยชื่อเหยื่อที่รายก่อนหน้าเป็นเวลาเกือบจะ 1 ปี เลยทีเดียว
แมรี เฟตเชท ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Voice of September 11th เธอเล่าให้ฟังว่า
“เมื่อคุณได้รับแจ้ง มันทำให้คุณนึกถึงวันที่เกิดเหตุ พวกเขาเสียชีวิตน่ากลัวอย่างไร แต่มันก็บรรเทาทุกข์คุณไปได้ ที่อย่างน้อยคุณก็สามารถจัดพิธีฝังศพให้กับบุคคลที่คุณรักได้อย่างเหมาะสม”
ทั้งนี้ ในปีค.ศ. 2001 หัวหน้าของสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ นายชารลส์ เฮิรช เคยระบุไว้ว่า ต้องมีการรักษาซากชิ้นส่วนผู้เสียชีวิตไว้อย่างดี เพราะการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลนั้น จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก และเมื่อตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ทีมนิติวิทยาศาสตร์จากหลายชาติ ตั้งแต่อาร์เจนตินา ไปจนถึงแอฟริกาใต้ ก็มาที่นิวยอร์ก เพื่อเรียนรู้วิธีพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล สิ่งที่ทุกคนกำลังเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน ในตอนนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต เพราะผู้คนที่กำลังทำงานที่ห้องแล็บในนิวยอร์ก ในตอนนี้ อันที่จริง ตอนเกิดเหตุ 9/11 หลายคนยังเรียนอยู่ระดับชั้นประถมหรือมัธยมด้วยซ้ำไป