svasdssvasds

ข้อมูลหลุด 55 ล้านคนไทย ของ 9near ถ้าเป็นเรื่องจริง อันตรายแค่ไหน ?

ข้อมูลหลุด 55 ล้านคนไทย ของ 9near ถ้าเป็นเรื่องจริง อันตรายแค่ไหน ?

จากกรณีที่แฮกเกอร์ที่ใช้ชื่อ 9near อ้างว่าได้ข้อมูลหลุดของคนไทย 55 ล้านรายชื่อ ถ้าเป็นจริงจะอันตรายกับคนไทยมากแค่ไหน ? 

สมมุติถ้าแฮกเกอร์มีข้อมูลหลุดจริง ปล่อยชื่อ ที่อยู่ รหัสบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์อันตรายแค่ไหน ? หาคำตอบกับ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA

ดร.ศักดิ์ ระบุว่า ข้อมูลที่แฮกเกอร์อ้างว่าโจรกรรมมาจากหน่วยงานรัฐ ชื่อ ที่อยู่ รหัสบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเรา ซึ่งเราควรให้เฉพาะคนที่เราจำเป็นต้องให้เท่านั้น เช่น หน่วยงานรัฐ และบริการบางอย่างของเอกชน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มักใช้ยืนยันตัวตนของเราว่ามีตัวตนและตรงกับข้อมูลนั้นจริง

"หากข้อมูลเหล่านั้นหลุดไป เรามีความเสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมตัวตนไปใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต"

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลหลุดคนธรรมดาอาจโดนคอลเซ็นเตอร์หลอก แต่ คนดังอาจโดน "สตอล์คเกอร์"

ดร.ศักดิ์ ระบุว่า สำหรับคนดังหากข้อมูลที่อยู่เบอร์โทรของคนดังหลุดไปอาจโดน "สตอล์คเกอร์" หรือโรคจิตตามไปถึงบ้าน ซึ่งหากเป็นคนดังก็อาจเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ไปเลยก็ได้

ส่วนคนธรรมดาความอันตราย คือ การที่คนร้ายรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของเราทำให้ง่ายต่อการหลอกลวงของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ เพราะชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ทันระวังตัวเรื่องนี้ก็จะหลงเชื่อได้ง่าย

ดังนั้นการเตือนลูกหลานและผู้สูงอายุจึงยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ การทำให้เรามีภูมิคุ้มกันด้านไซเบอร์ก็จะทำให้เราตกเป็นเหยื่อได้น้อยลง

ดร.ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับกรณีของ 9near ก็กำลังมีการสอบสวนตามกระบวนการอยู่ ซึ่งหากพบว่าเป็นหน่วยงานรัฐจริงก็มีกลไกในการลงโทษอยู่ตามกฎหมาย PDPA ที่เพิ่งบังคับใช้ไป

related