svasdssvasds

"วีระชาติ" จับลูกเขย ชาดา ไทยเศรษฐ์ เรียกรับสินบนโครงการประปา 6 แสนบาท

จับนายวีระชาติ รัศมี ลูกเขย ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เรียกรับสินบนโครงการประปา 6 แสนบาท ล่าสุด สั่งลาออกตำแหน่งหลังโดน 2 ข้อหาหนัก ย้ำ! ปราบผู้มีอิทธิพล ไม่มีใครอยู่เหนือกฏหมาย

ย้อนแย้งไม่น้อย ขณะที่ พ่อตาอย่าง ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รับนโยบายจากนายกฯ ลุยปราบมาเฟีย ผู้มีอิทธิพลในประเทศไทยอย่างหนัก
แต่ ลูกเขยนายชาดาอย่าง นายวีระชาติ รัศมี นายกเทศบาลตลุกดู่ สามีของ ลูกสาวคนที่ 4  กลับถูกจับกุม ใน 2 ข้อหาใหญ่คือ "ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงาน เรียกรับทรัพย์สิน" 
และ "ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต"

ได้รับการประกันตัวไปคนละ 4 แสนบาท แต่สังคมก็จับตาถึงความโปร่งใสในการดำเนินคดี เพราะเป็นถึงลูกเขยรัฐมนตรี  เป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัด  สั่งล็อบบี้ร้านขายวัสดุก่อสร้าง
ทั่วจังหวัดได้ แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ประกาศแล้วว่า ไม่มีใครใหญ่กว่ากฎหมาย  และ เรื่องนี้ นายชาดา ไม่ก้าวก่าย ยึดตามหลักกฎหมายแน่นอน

สรุปพฤติการณ์ ผู้มีอิทธิพล ของลูกเขยนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ก็คือ ตำรวจกองปราบ ลุยปราบผู้มีอิทธิพล ใน จ.อุทัยธานี  เพื่อกวาดล้าง จนท.เรียกรับสินบน เพราะมีผู้เสียหาย ที่เป็นผู้ประกอบการ ทำระบบประปา ในจังหวัด เข้าร่วมประมูลโครงการก่อสร้างของรัฐ ผ่านระบบออนไลน์ เรียกว่า  e–bidding      

ปรากฏว่า มีสายปริศนา โทรมาขู่ให้ถอนตัวจากงาน อ้างว่ามีผู้ใหญ่อยากได้ พร้อมเสนอเงินหลายหมื่นบาท แต่ทางผู้เสียหายไม่สนใจ จนชนะการประมูล แต่กลับไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เนื่องจากมีกลุ่มอิทธิพลมืดทำการล็อบบี้สั่งห้ามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างทุกแห่งใน จ.อุทัยธานี ขายปูน จนก่อสร้างไม่ได้ตามแผน  จนเดือน ก.ย. นายวีระชาติ
ได้เรียกผู้เสียหายมาเข้าพบ ก่อนยื่นข้อเสนอ ให้ผู้เสียหายจ่าย 1 ล้าน จะยอมให้ก่อสร้าง สุดท้าย ผสห. ขอต่อเหลือ 6 แสนบาท  และได้นัดหมายส่งมอบเงินกัน 24 ต.ค.
ก่อนถูกตำรวจซ้อนแผน จับกุมตัวได้ในที่สุด

คำว่าผู้มีอิทธิพล มาเฟีย นักเลงใหญ่ นักเลงโต ผู้มีอำนาจ จริงๆคำเหล่านี้มีมานานมากๆแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

แต่มันเริ่มชัดเจนมากๆในช่วงสมัย รัตนโกสินทร์ เริ่มต้นมาจากจังหวัดทางภาคตะวันออก ในช่วงที่คนจีนเข้ามาค้าขายและตั้งรกรากในประเทศไทย ทำให้คนจีนเหล่านี้มีเงินทองจำนวนมาก โดยแรกเริ่มมีการย้ายถิ่นฐานมาทางเรือ เลยมีการตั้งถิ่นฐานตามแนวชายทะเล ซึ่งอำนาจการปกครองจากรัฐบาลไปไม่ค่อยถึง ทำให้คนเหล่านี้มีอำนาจในท้องถิ่นมากขึ้น เวลาชาวบ้านมีปัญหา ก็มักจะไปขอความช่วยเหลือฝากเนื้อฝากตัวจากคนเหล่านี้ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ให้ความช่วยเหลือเต็มที่ ทำให้อิทธิพลของกลุ่มก็เพิ่มขึ้นไปอีก จนมีการเรียกคนพวกนี้ว่า อั้งยี่ หรือ ซ่องโจร

และสังคมไทยในชนบทเองก็มีคนที่มีอำนาจในท้องถิ่นที่ขัดแย้งกับระบบการปกครองของรัฐบาล เรียกคนกลุ่มนี้ว่า นักเลงโต
นิยามของคำว่านักเลงโต คือ บุคคลที่ใจกว้าง รักเพื่อนพ้องแต่ชอบใช้พละกำลังในทางที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง

แต่ในปัจจุบันผู้มีอิทธิพล ต่างกับในอดีต  เพราะอาจไม่ได้ใช้อำนาจที่ผิดกฎหมาย เพื่อช่วยชาวบ้าน แต่อาจใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนใช่หรือไม่ ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related