svasdssvasds

กระทรวงวัฒนธรรม แจงปม "ผ้าขาวม้า" ใช้ยามสิ้นคิด รับผิดพลาดไม่ได้กรองข้อมูล

กระทรวงวัฒนธรรม แจงปม "ผ้าขาวม้า" ใช้ยามสิ้นคิด รับผิดพลาดไม่ได้กรองข้อมูล

โซเชียลวิจารณ์เดือด หลังพบเว็บไซต์ "กระทรวงวัฒนธรรม" เผยแพร่ข้อมูลประโยชน์ของ "ผ้าขาวม้า" ให้ใช้ผูกคอตายยามผูกคอตาย(ยามสิ้นคิด) แบบนี้เหมาะสมหรือไม่

 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพที่แคปเจอร์หน้าจอมาจากเว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นหน้าเว็บสำหรับให้ความรู้ต่างๆ โดยผู้โพสต์ระบุว่า กำลังค้นหาประโยชน์ของผ้าขาวม้า แต่กลับมาเจอว่าเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ กลับระบุไว้ว่า "ใช้ผูกคคอตาย (ในยามสิ้นคิด)" 

กระทรวงวัฒนธรรม แจงปม "ผ้าขาวม้า" ใช้ยามสิ้นคิด รับผิดพลาดไม่ได้กรองข้อมูล

• งานเข้า เว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม บอกประโยชน์ "ผ้าขาวม้า" ใช้ผูกคอตาย

ภายหลังเรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป เหล่าผู้คนในสังคมออนไลน์เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยส่วนใหญ่ต่างถามถึงความเหมาะสมของข้อความดังกล่าวที่เผยแพร่ออกมาโดยหน่วยงานของรัฐเช่นนี้ผ่านการตรวจสอบจนได้รับการเผยแพร่มาได้อย่างไร

ทั้งนี้ข้อความดังกล่าวระบุอยู่จริง เป็นเว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยวและประเพณีไทย และถูกเผยแพร่ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 โดยข้อมูลปรากฎอยู่ในหมวดเครื่องนุ่งห่ม

ทั้งนี้นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เผยว่า ตามที่สื่อสังคมออนไลน์นำเสนอข่าวเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม นำเสนอข้อมูลประโยชน์การใช้งานผ้าขาวม้า ซึ่งมีบางข้อไม่เหมาะสมนั้น กระทรวงวัฒนธรรมขอเรียนชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 โดยมีจุดประสงค์ของการนำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์ทั้ง 2 เว็บนั้น เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ทางด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมท้องถิ่น จากจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

 สำหรับศึกษาค้นคว้า เพื่อการเรียนรู้ อนุรักษ์ สืบสาน และนำไปพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น พัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ บริการต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยจังหวัดต่างๆ จะรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลในพื้นที่จังหวัด โดยมีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดรับผิดชอบรวบรวม กลั่นกรองและตรวจสอบก่อนนำเผยแพร่ และเชื่อมโยงข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม

รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ในกรณีดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่า เกิดจากความผิดพลาดในการพิจารณากลั่นกรองข้อมูล ก่อนนำเข้าสู่ระบบของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อมูลเก่า เมื่อปีพ.ศ.2556 โดยทางกระทรวงวัฒนธรรมสั่งการให้ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกลาง นำเอาข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบแล้ว และขอขอบคุณที่มีผู้ท้วงติง และขออภัยที่เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว

อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการนำเข้าข้อมูลในระบบอีก กระทรวงวัฒนธรรมมีข้อสั่งการให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลในฐานข้อมูลอย่างละเอียด และให้มีผู้ทรงคุณวุฒิตรวจทานอย่างละเอียดหากพบว่ามีข้อผิดพลาดให้ดำเนินการแก้ไข และให้มีความระมัดระวังในการกลั่นกรอง ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง เหมาะสมก่อนการเผยแพร่ทุกครั้ง

related