svasdssvasds

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ! สามารถ สงสัย ทำไม รฟม. ยังกล้าเดินหน้าชน ?

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ! สามารถ สงสัย ทำไม รฟม. ยังกล้าเดินหน้าชน ?

ดร. สามารถ ราชพลสิทธิ์ ตั้งข้อสงสัย ทำไม รฟม. ยังกล้าเดินหน้าชน เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยไม่สนคำทักท้วงใดๆ ทั้งสิ้น

ดร. สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่ากรุงเทพฯ  โพสต์เฟซบุ๊ก ไม่เห็นด้วยกับการใช้เกณฑ์ใหม่ประเมิน ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และตั้งข้อสงสัยว่า ทำไม รฟม. กล้าเสี่ยง เดินหน้าชนใช้เกณฑ์ใหม่

ทั้งไม่สนเสียงทักท้วง และไม่รอให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยคำอุทธรณ์ของ รฟม. หลังจากถูกศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ให้ รฟม. ใช้เกณฑ์ใหม่เป็นการชั่วคราว อีกทั้งยังชิงล้มการประมูลไปเสียก่อน จนทำให้บีทีเอสต้องยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยรายละเอียดทั้งหมด ดังนี้

หลังจากล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มไปเมื่อเร็วๆ นี้แล้ว ในที่สุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศเปิดประมูลใหม่โดยใช้เกณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม สู้เกณฑ์เดิมไม่ได้

เมื่อเย็นวันที่ 2 มีนาคม 2564 เว็บไซต์ของ รฟม.ได้ประกาศรับฟังความคิดเห็นของเอกชนผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดย รฟม.จะใช้เกณฑ์ใหม่ในการคัดเลือกหาผู้ชนะการประมูล จับตาว่า ถ้าศาลฯ รับคำฟ้อง แล้ว รฟม.ยังจะกล้าใช้เกณฑ์ใหม่หรือไม่ ? เส้นทางสายเดือด ก่อนล้มประมูล ! “สามารถ” เปิดปมปัญหา รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

ทำไม รฟม.จึงไม่สนเสียงทักท้วง ? เกณฑ์ใหม่ต่างจากเกณฑ์เดิมอย่างไร ?

เกณฑ์เดิม รฟม.จะพิจารณาซองเทคนิคหรือความสามารถด้านเทคนิคก่อนซองผลตอบแทนให้แก่ รฟม. โดยให้คะแนนด้านเทคนิคเต็ม 100 % และด้านผลตอบแทนเต็ม 100 % เช่นกัน

ในส่วนของคะแนนด้านเทคนิคนั้น ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 85 % และจะต้องได้คะแนนในข้อย่อยซึ่งมีทั้งหมด 5 ข้อ ข้อละไม่น้อยกว่า 80% จึงจะถือว่าสอบผ่าน รฟม. จึงจะพิจารณาซองผลตอบแทนต่อไป ใครเสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม .มากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล

เกณฑ์ใหม่ รฟม.จะพิจารณาซองเทคนิคกับซองผลตอบแทนพร้อมๆ กัน โดยให้คะแนนด้านเทคนิค 30% และคะแนนผลตอบแทน 70% ใครได้คะแนนรวมมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล ทั้งนี้ คะแนนด้านเทคนิค 30% นั้นไม่มีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ นั่นหมายความว่า จะสอบได้คะแนนต่ำเพียงใด ก็ถือว่าสอบผ่าน

ทำไม รฟม.จึงอยากใช้เกณฑ์ใหม่ ?

รฟม. อ้างว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มมีเส้นทางผ่านพื้นที่ซับซ้อน มีความยุ่งยากในการก่อสร้าง จึงต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เช่น ต้องวิ่งใต้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ใต้ดอนเมืองโทลล์เวย์ ทำให้ต้องตัดเสาเข็มในขณะที่ไม่ปิดการจราจร ต้องลอดใต้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และต้องขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

ดร.สามารถ ไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังนี้

1. รฟม. อ้างว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นผลให้ รฟม. ต้องใช้เกณฑ์ใหม่ แต่เกณฑ์ใหม่ให้คะแนนด้านเทคนิคเพียงแค่ 30% เท่านั้น ถือว่าย้อนแย้งกับเหตุผลที่ รฟม.กล่าวอ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์เดิมที่ให้คะแนนด้านเทคนิค 100 % ถือว่าสอดคล้องกับความต้องการของ รฟม. ซึ่งมุ่งหวังจะได้เอกชนที่เก่งด้านเทคนิค

2. รฟม. เคยมีประสบการณ์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีเส้นทางผ่านพื้นที่ซับซ้อนมาก่อนแล้ว เช่นส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ซึ่งต้องขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา โดย รฟม. ตั้งคะแนนสอบผ่านด้านเทคนิคไว้เพียง 70 % เท่านั้น

และไม่ได้พิจารณาซองเทคนิคพร้อมกับซองผลตอบแทน แต่ รฟม. ก็สามารถคัดเลือกเอกชนที่มีความสามารถทำการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้สำเร็จไปด้วยดี และได้เปิดใช้ไปแล้วเมื่อปี 2562 นั่นแสดงให้เห็นว่าการคัดเลือกโดยพิจารณาซองเทคนิคแยกจากซองผลตอบแทนทำให้ รฟม. ได้เอกชนที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง สามารถทำการก่อสร้างงานที่มีความยุ่งยากซับซ้อนได้ดี

3. รฟม. เคยพิจารณาซองเทคนิคพร้อมกับซองผลตอบแทนในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ซึ่งเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว แต่หลังจากนั้น รฟม. เลิกใช้เกณฑ์นี้ เพราะต้องการเพิ่มความสำคัญให้กับความสามารถด้านเทคนิค

ด้วยเหตุนี้ การประมูลรถไฟฟ้าในระยะหลัง รฟม.จึงใช้เกณฑ์การพิจารณาซองเทคนิคแยกจากซองผลตอบแทน โดยพิจารณาซองเทคนิคก่อน หากสอบผ่านจึงพิจารณาซองผลตอบแทนต่อไป

ไม่ใช่เฉพาะ รฟม.เท่านั้นที่พิจารณาซองเทคนิคแยกจากซองผลตอบแทน แต่หน่วยงานอื่นก็ใช้เช่นกัน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมทางหลวง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น

เกณฑ์ประเมินประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

เกณฑ์เดิมดีกว่าเกณฑ์ใหม่อย่างไร ?

เกณฑ์เดิมให้ความสำคัญต่อด้านเทคนิคถึง 100% และให้ความสำคัญต่อผลตอบแทนถึง 100 % เช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ชนะการประมูลจะเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่เสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม. สูงที่สุดด้วย

ส่วนเกณฑ์ใหม่ลดความสำคัญด้านเทคนิคลงเหลือเพียง 30% เท่านั้น อีกทั้ง รฟม.ไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ จะสอบได้คะแนนต่ำเพียงใดก็ถือว่าสอบผ่าน

ด้วยเหตุนี้ อาจทำให้ รฟม.ได้เอกชนที่ไม่เก่งด้านเทคนิคตามที่ รฟม.ต้องการ ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือหากกรรมการคัดเลือกมีใจไม่เป็นธรรม ต้องการช่วยเอกชนรายใดรายหนึ่ง ให้ชนะการประมูลก็สามารถทำได้ง่าย

เนื่องจากมีการพิจารณาซองเทคนิคพร้อมกับซองผลตอบแทน หากเห็นว่าเอกชนรายนั้นเสนอผลตอบแทนน้อยก็จะเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคให้มากขึ้น ในทางกลับกันหากเอกชนรายนั้นได้คะแนนด้านเทคนิคน้อย ก็จะเพิ่มคะแนนด้านผลตอบแทนให้มากขึ้น

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ทำไม รฟม. จึงอยากใช้เกณฑ์ใหม่ ?

น่าคิดว่าอะไรทำให้ รฟม.ไม่สนเสียงทักท้วง และไม่รอให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยคำอุทธรณ์ของ รฟม. หลังจากถูกศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ให้ รฟม. ใช้เกณฑ์ใหม่เป็นการชั่วคราว ด้วยการชิงล้มการประมูลไปเสียก่อน

นับว่า รฟม.กล้าเสี่ยงจริงๆ ไม่ใยดีแม้มีตัวอย่างผู้บริหารรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกจากการแก้ไขสัญญาในเอกสารประกวดราคา ซึ่งถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน

จึงต้องรอดูว่าในอีกไม่นานคือในวันที่ 15 มีนาคมนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจะรับคำฟ้องของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสหรือไม่ โดยบีทีเอสได้ยื่นฟ้องผู้บริหาร รฟม. และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

มาลุ้นกันว่าถ้าศาลฯ รับคำฟ้อง แล้ว รฟม. ยังจะกล้าใช้เกณฑ์ใหม่หรือไม่ ?

ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคน ที่ต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ที่มา FB : ดร. สามารถ ราชพลสิทธิ์

related