ประเทศไทยส่งออกกล้วยไม้หวายตัดดอก เป็นอันดับ 1 ของโลก ทำรายได้เข้าประเทศปีละประมาณ 3-4 พันล้านบาท แต่ด้วยพิษโควิด ทำให้รายได้ปีนี้หายไปถึง 80% หนักกว่าน้ำท่วมปี 54
โควิด ทำพิษทั่วโลก ทั้งในแง่สุขภาพ สังคม ธุรกิจ เศรษฐกิจ ความหวังที่ทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติได้ก็คือ วัคซีนโควิด-19 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังคงเร่งพัฒนา และขณะที่ยังไม่มีวัคซีน ภาคธุรกิจ ทั้งนำเข้าและส่งออกของไทย ยังคงต้องประคองตนเองให้อยู่รอดให้ได้ ภาคเกษตรอย่างกล้วยไม้ก็เช่นกัน หากไทยช่วยไทยด้วยการอุดหนุนสินค้าไทยได้นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด
เกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไทยรายใหญ่ รายย่อย ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของ สหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรวมเกษตรกรผู้ยึดอาชีพทำสวนกล้วยไม้เดียวกันทั้งหมด โดยมีพื้นที่ดำเนินการรวม 9 จังหวัด คือ สมุทรสาคร นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา
พยงค์ คงอุดมทรัพย์ ประธานกรรมการ สหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย กล่าวถึงความรุนแรงของวิกฤต โควิด ครั้งนี้ว่า แม้น้ำท่วมปี 54 สวนกล้วยไม้จมหมด แลดูภาพเสียหายจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรไม่ต้องจ่ายคือ ค่าปุ๋ยยาและค่าคนงาน แต่ระหว่างวิกฤตโควิด เกษตรกรยังต้องฉีดปุ๋ยฉีดยาไว้เพื่อประคองต้น ไม่งั้นเดี๋ยวต้นตาย ต้นโทรม ไม่ออกช่อ ไม่ออกดอก ถ้าไม่ฉีดยาฉีดปุ๋ยต้นกล้วยไม้ก็ไม่มีช่อ ดังนั้นถ้าถามว่าใครแรงกว่า การันตีเลยว่าโควิดแรงกว่า
"น้ำท่วมไม่ได้ท่วมประทศอื่น คนที่กล้วยไม้น้ำไม่ท่วมปีนั้นรวยแบบมหาศาล จากช่อละ 4-5 บาท ขึ้นไปช่อละ 7-12 บาท ได้เงินไปมโหฬารก็ยังมี แต่คนที่เขาจมน้ำบังเอิญภาครัฐให้ความสำคัญ เพราะ กล้วยไม้เป็นพืชที่เสียภาษี แม้กระทั่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ รายได้ที่มันเกินเกณฑ์ต้องเสียเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเสียภาษีรายปี ก็ได้รับการชดเชย ได้รับเงินเยียวยากลับมาเพื่อมาปลูกต้นขึ้นมาเหมือนเดิม แต่กับโควิด-19 นั้น ร้ายแรงกว่ามาก บางคนเลิกไปเลยก็มี ให้สรุปเลยว่าใครร้ายแรงกว่ากัน ผมขอฟันธงการันตีเลยว่า โควิดแรงที่สุด เพราะทั่วโลก เจ็บทุกคน เจ็บทุกอาชีพ"
พยงค์ กล่าวว่า หากรัฐมีช่องทางที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการจัดงานกล้วยไม้ ไปโปรโมทกล้วยไม้ตามต่างจังหวัด นโยบายสหกรณ์ตอนนี้ก็มีมติในที่ประชุมแล้ว แต่ยังขาดงบประมาณบางส่วนที่จะจัดงานกล้วยสัญจรไปทั่วประเทศ ทางสหกรณ์ต้องการคนเชื่อมประสานให้ หากสมาชิกของสหกรณ์ได้นำผลผลิตในสวนไปขาย เชื่อว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวในจังหวัดนั้นๆ มากขึ้น เพราะจากที่เคยจัดมาแต่ละครั้ง มีคนเข้าชื่นชมกล้วยไม้เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น การส่งเสริมในประเทศไทย ต้องขอความร่วมมืองบประมาณจากภาครัฐ ที่จะให้สหสกรณ์เดินทาง คาราวานเป็นชาวสวนกล้วยไม้ ไปโชว์กล้วยไม้ คนก็จะไปเที่ยว ไปซื้อ และยังเป็นช่องทางให้ประชาชนทั่วไปได้รู้ด้วยว่า หากอยากได้กล้วยไม้เขาสามารถสั่งได้ที่ไหน รู้แหล่งผลิต เพราะปัจจุบัน คนจำนวนมากไม่รู้แหล่งผลิต ต่างคนต่างไปรู้จากพ่อค้าคนโน้นคนนี้ บางคนก็ขายแพง อยู่ที่สวน กิโลกรัมละ 5-10 บาท พอไปถึงต่างจังหวัดกลายเป็นกิโลกรัมละกว่าร้อยเลยทีเดียว
วรวุฒิ ฮวบดีบอน เกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ และรองประธานกรรมการสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย กล่าวว่า ถ้าเหตุการณ์ปกติ ช่วงนี้จัดเป็นช่วงไฮของชาวสวนกล้วยไม้ สามารถที่จะเก็บผลผลิตได้เดือนละประมาณ 30,000 บาทต่อไร่ ซึ่งตลาดหลักคือ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อเมริกา และแถบยุโรป ปกติจะจัดส่งผลผลิตดอกกล้วยไม้ประเภทหวายตัดดอก ซึ่งประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก มีรายได้เข้าประเทศปีละประมาณ 3-4 พันล้านบาท
กล้วยไม้ไทยเคยทำรายได้เข้าประเทศมากถึง 6-7 พันล้านบาท แต่เนื่องจากเกิดโรคระบาด โควิด 19 ขึ้นทั่วโลก ทำให้ยังขายให้ตลาดจีนไม่ได้ แถบยุโรปก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ เกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ก็ได้รับผลกระทบ ผลผลิตขายไม่ได้เลยตั้งแต่ มกราคม ถึง พฤษภาคม ต้องตัดกล้วยไม้ทิ้งทั้งหมด ตัดดอกทิ้งทั้งหมด เพื่อที่จะรักษาต้น ซึ่งกล้วยไม้ไม่เหมือนพืชอื่น เมื่อดอกส่งออกขายไม่ได้ แต่ต้นยังต้องดูแลรักษา ชาวสวนจะต้องใส่ปุ๋ย ฉีดยา ตามปกติ ต้องดูแลในเรื่องของแรงงาน ชาวสวนก็ต้องขาดทุนตั้งแต่เดือนมกราคมเรื่อยมา
ช่วงเดือนสิงหาคมพอที่จะขายตลาดภายในประเทศได้ แต่ยังคงส่งไปตลาดต่างประเทศไม่ได้ หรือถึงไปได้ ก็จำนวนน้อยมาก ด้วยค่าขนส่งที่แพงขึ้น ทำให้ขายกล้วยไม้ของไม่ได้ราคา ช่วงนี้เกษตรกรจึงเน้นตลาดภายในประเทศ รายได้กลับมาก็พอที่จะดูแลต้นได้บ้าง แต่รายได้ก็ยังหายไปถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์นับจากยอดขาย ปกติแล้วถ้าอยู่ในเดือนเมษายน หรือ พฤษภาคม เรื่อยมา
"กล้วยไม้จะมีราคาดีมากในเรื่องของการส่งออก ช่อหนึ่งถึง 4-5 บาท แต่ปัจจุบันกล้วยไม้ส่งออกไม่ได้ ขายภายในประเทศก็จะเหลือราคาช่อละประมาณไม่ถึงบาท ค่าใช้จ่ายในการดูแลกล้วยไม้ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงงาน ต่อไร่ต่อวันอยู่ที่ 2,000 บาท ช่วงเหตุการณ์ปกติ กล้วยไม้ที่สามารถส่งออกได้ตามปกติต่อไร่ วันหนึ่งจะได้ประมาณ 4-5 พันช่อ เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมาก กล้วยไม้ที่จะขายได้ตอนนี้เหลือประมาณ 1-2 พันช่อต่อวันเท่านั้นเอง หายไปถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเราก็ต้องเก็บเกี่ยว โดยตัดทิ้งเป็นส่วนใหญ่ การตัดทิ้งเพื่อที่จะรักษาต้น ให้ต้นทุนน้อยลงในการดูแล ต้นกล้วยไม้จะได้ไม่มีดอกถ่วงต้นเยอะ"
วรวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรหลายสิบรายตอนนี้ได้เลิกกิจการไป เพราะว่า กล้วยไม้เป็นพืชที่ลงทุนไปแล้วต้องดูในระยะยาว มีสิ่งปลูกสร้าง โรงเรือน โครงสร้างค่อนข้างที่จะถาวร หลังคามีสแลน มีโครงเสาปูนทั้งหมด การที่อยู่ๆ จะเปลี่ยนเป็นอาชีพอื่นเลย ต้องใช้ทุนด้านการรื้อถอน กว่าจะไปทำอาชีพอื่นได้ก็คงเหนื่อยกันอีกเยอะ รายที่ไม่ได้มีทุนมาก ก็ต้องล้มละลายและเลิกกิจการไป ส่วนที่พอมีทุนอยู่บ้างก็ต้องใช้ทุนเก่าเพื่อมาดูแลรักษาต้นไม้ ฉะนั้นถ้าเกษตรกรขายกล้วยไม้ไม่ได้เลย ก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากว่าไม่ได้มีรายได้ทางอื่น และต้องมาสูญเสียอาชีพตรงนี้ไป
วรวุฒิหวังว่า หากเหตุการณ์ปกติแล้ว เกษตรกรไทยจะได้มีกล้วยไม้ส่งออก และขายได้ตามปกติ และอยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาดูแลช่วยเหลือเรื่องของการส่งเสริมตลาดภายในให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้กลับคืนมาเพื่อจุนเจือที่ขาดทุนในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมาได้
บุญเรือน ระหงษ์ เกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ สวน เรือนไทย ออคิดส์ กล่าวว่า ฟาร์มเรือนไทยออคิดส์ เป็นสวนกล้วยไม้สกุลม็อคคาร่าเป็นส่วนใหญ่ มีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งได้รับผลกระทบช่วงโควิดอย่างมาก ก่อนช่วงโควิด อาชีพนี้รายได้ค่อนข้างดี เดือนหนึ่งๆ ทำรายได้นับแสนบาทในพื้นที่ไม่กี่ไร่ เป็นความภูมิใจที่อาชีพอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับความสวยงาม ได้ให้ความสุขกับผู้ที่มาเที่ยวชม จนกระทั่งมาถึงระยะหลังซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 มีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกกล้วยไม้ของชาวสวน โดยเฉพาะสวนเล็กๆ ต้องดิ้นรนให้สามารถประคองให้ดำเนินไปได้ ปัญหานี้ค่อนข้างจะใหญ่และหนักหนาสาหัสมาก
สวน เรือนไทย ออคิดส์ มีพื้นที่ปลูกม็อคคาร่าประมาณ 20 ไร่ ซึ่งใน 20 ไร่ มีม็อคคาร่าหลากหลายสายพันธุ์ และมีสกุลหวายอยู่บ้าง โดยบุญเรือนได้มองเห็นถึงโอกาสว่าจะพัฒนาสวนแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะกล้วยไม้แต่ละสกุล แต่ละสายพันธุ์มีเอกลักษณ์โดดเด่น เขาเชื่อว่าคนมาเห็นก็จะรู้สึกประทับใจกับสวนกล้วยไม้
"ม็อคคาร่าก็จะประมาณเดียวกับหวาย ยืนพื้นราคาไม่มีสูงไม่มีต่ำเหมือนไม้หวาย ราคาตรงนี้เราก็ภูมิใจและพอใจ เพราะว่า ต้นทุนในการเลี้ยงม็อคคาร่าจะแตกต่างจากพันธุ์หวายทั่วไป พันธุ์หวายทั่วไปค่อนข้างใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ใช้สารเคมีเยอะกว่าพันธุ์ม็อคคาร่า เดิมทีราคาเคยอยู่ที่ 7-8 บาท ตอนนี้เหลือประมาณ 2-3 บาท ช่วงที่บูมๆ กล้วยไม้ของเราในพื้นที่ 20 ไร่นี้ เราก็มีรายได้ประมาณเดือนละ 2-3 แสนบาท ช่วงโควิดระบาดก่อนหน้านี้ในสวนของสมาชิกอื่นๆ เขาจะมีการตัดทิ้งกัน แต่สวนของผมบริหารจัดการโดย อย่างแรก เรานำไปทำบุญตามวัดต่างๆ วัดไหนที่มีการจัดงานวัด เราก็ไปมอบให้ บางส่วนเราก็ไปช่วยเขาจัดด้วยเลย ส่วนดอกที่เหลือเรามีลูกค้าสั่งเป็นกล้วยไม้กำเตย เป็นกล้วยไม้บูชาพระ แล้วก็ไม้กระถางบางส่วน เราก็ทำความสัมพันธ์รักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้ไว้ เราอธิบายให้เขาฟังว่า เรากำลังประสบปัญหาแบบนี้นะ ช่วยเราในการสั่งออเดอร์หน่อย ซึ่งเขาก็เข้าใจเรา ช่วยเหลือกัน เราก็ส่งให้เขาในราคาที่ถูกหน่อย เขาจะได้ขายได้มากๆ แล้วก็ป้อนของเขาไป ทำให้สามารถประคองธุรกิจของเราอยู่ได้"
บุญเรือน กล่าวทิ้งท้ายว่า ในสวน เรือนไทย ออคิดส์จัดว่าประคองตัวอยู่ในระดับเกือบไม่ขาดทุน เขาได้มีโอกาสไปขายกล้วยไม้ที่ตลาดประชารัฐ ที่รัฐบาลสนับสนุน ได้เจอฐานลูกค้าใหม่ๆ สั่งออเดอร์ไม้แขวนและดอกกล้วยไม้จากเรือนไทย ออคิดส์ เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถระบายในสวนได้
บุญเรือนระบุว่า เขาทราบดีว่าปัญนี้ไม่สามารถแก้ได้ทุกคน เพราะบางคนไม่มีโอกาสพบลูกค้าใหม่ๆ ก็ต้องตัดดอกทิ้ง ซึ่งเป็นความเสียหายของชาวสวน แต่เขาต้องนำพาธุรกิจให้ดีที่สุด นอกจากนี้เรือนไทย ออคิดส์ยังตั้งใจพัฒนาปรับปรุง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยให้หน้าบ้านเป็นคาเฟ่สร้างจุดสนใจแรงดึงดูดนักท่องเที่ยว จากนั้นเมื่อเข้ามาพบบรรยากาศสวน ก็มีจักรยานให้เช่าปั่นชื่นชมธรรมชาติในพื้นที่ 20 กว่าไร่ ซึ่งมีหลายโซน มี กล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์ มีโซนมะพร้าวอ่อน มะพร้าวน้ำหอมซึ่งเป็นของดีของจังหวัดสมุทรสาครเช่นกัน รวมถึงยังมีโซนดอกเฮลิโคเนียที่ตอนนี้กำลังออกดอกบานสะพรั่งอยู่ แล้วก็มีพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวอีกด้วย ทำให้ทางสวนประหยัดต้นทุนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปซื้อของภายนอก ปลูกกินเองทำกินเอง ประหยัดรายได้ไปอีกส่วนหนึ่ง