svasdssvasds

องค์การอนามัยโลก เผย คนสูบบุหรี่เสี่ยงเป็นวัณโรครุนแรง

องค์การอนามัยโลก เผย คนสูบบุหรี่เสี่ยงเป็นวัณโรครุนแรง

ฮู หรือ องค์การอนามัยโลก เผย การสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเป็นวัณโรครุนแรง โดยพบว่า 61 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตจากวัณโรคเป็นคนสูบบุหรี่ หากมีอาการ ไอเกิน 2 สัปดาห์ มีเสมหะ มีเลือด มีไข้ต่ำๆ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอกขณะหายใจ ให้รีบพบหมอด่วน

เอกสาร องค์การอนามัยโลก A WHO / the Union monograph on TB and tobacco control : joining efforts to control two related global epidemics พบว่า การสูบบุหรี่เอื้อต่อการระบาดของวัณโรค ประเทศต่างๆ ควรจะควบคุมการระบาดของยาสูบและวัณโรคไปพร้อมๆ กัน เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ปอดอักเสบเรื้อรัง เกิดการทำลายเนื้อปอดอย่างช้าๆ ทำให้ภูมิต้านทานของปอดและร่างกายลดลง ทำให้ติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคง่ายและรุนแรงมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของ The BMJ 2019 เรื่องผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อระบบทางเดินหายใจ (What are the respiratory effects of e-cigarettes?) ที่พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบ และภูมิต้านทานของปอดลดลง ไม่แตกต่างกับการสูบบุหรี่ธรรมดา

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่กับวัณโรคคือ คนสูบบุหรี่และเป็นวัณโรค โรคจะรุนแรงและลุกลามเร็วขึ้น รักษายากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากคนที่สูบบุหรี่จะถูกตรวจพบว่าเป็นวัณโรคช้ากว่าคนไม่สูบบุหรี่ เพราะเข้าใจว่าอาการไอเกิดจากการสูบบุหรี่

วิธีสังเกตการที่ต้องสงสัยอาจเป็นวัณโรคคือ ไอเกิน 2 สัปดาห์ มีเสมหะ มีเลือด มีไข้ต่ำๆ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ เบื่ออาหาร หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เลิกสูบแล้ว มีอัตราการติดเชื้อวัณโรคสูงกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ เนื่องจากความเสียหายของปอดจากการสูบบุหรี่ในอดีต โดยคนที่สูบบุหรี่แล้วเป็นวัณโรค มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า โดยร้อยละ 61 ของผู้ที่เสียชีวิตจากวัณโรคเป็นผู้ป่วยวัณโรคที่สูบบุหรี่ และเด็กที่อยู่ในบ้านที่มีผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อที่สูบบุหรี่จะติดเชื้อวัณโรคได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้นการลดการสูบบุหรี่ในชุมชน/สังคม ลดการแพร่เชื้อลดการป่วยจากวัณโรคด้วย

องค์การอนามัยโลก เผย คนสูบบุหรี่เสี่ยงเป็นวัณโรครุนแรง


 

ทั้งนี้ หากสนใจสามารถขอรับสื่อรณรงค์ “สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงเป็นวัณโรครุนแรง” หรือสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่อื่นๆ  ได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2278-1828 หรือเข้าไปดูรายละเอียดเพื่อขอรับสื่อได้ที่ www.smokefreezone.or.th  จัดส่งสื่อรณรงค์ให้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ