svasdssvasds

3 แบรนด์ไทยที่น่าจับตา มากับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต

3 แบรนด์ไทยที่น่าจับตา มากับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต

ความต้องการ ยานยนต์ไฟฟ้า ที่บริษัทวิจัยตลาดหลายสำนักคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไทยก็ต้องการก้าวไปกับเทรนด์นี้ แต่ ณ วันนี้ คุณรู้บ้างหรือไม่ว่า มีแบรนด์หรือบริษัทไทยเจ้าไหนที่โดดเด่นหรือกำลังขยายตัวท่ามกลางเทรนด์ EV เมืองนอก

3 แบรนด์ไทยที่น่าจับตา มากับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต

ea anywhere

   MINE : แบรนด์ไทยภายใต้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)   

กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์เป็นบริษัทที่มีบริษัทลูกและแตกแบรนด์ออกมารองรับเทรนด์การใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างและครบวงจร จากจุดเริ่มต้นที่ผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงไบโอดีเซล ต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ขยายสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า ให้บริการเดินเรือไฟฟ้า ในชื่อ MINE (โดย บริษัท ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด) รวมถึงธุรกิจให้บริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่เรียกว่า E@ Anywhere (โดยบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด)

หากจะให้บอกทุกสิ่งที่บริษัทนี้ผลิตขึ้นคงต้องร่ายกันอีกยาว เอาเป็นว่า เราคัดบางนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มบริษัทนี้มาเปิดประเด็นเรียกน้ำย่อย ว่านี่คือผลงานคนไทยที่เริ่มใช้แล้ว

  • MINE SPA1 ยานยนต์ไฟฟ้าฝีมือคนไทย 100% เริ่มผลิตจริงในไตรมาสที่ 4/63 และส่งมอบให้ลูกค้าที่สั่งจองไว้ โดยลูกค้ารายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสุวรรณภูมิพัฒนา จำกัด หรือกลุ่มสหกรณ์แท็กซี่
  • MINEbus รถบัสไฟฟ้า/รถเมล์ไฟฟ้า มีการผลิตและส่งมอบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริษัทเอกชนใช้เดินรถนำร่องแล้ว เช่นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สระบุรี เพื่อพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City 
  • MINE Smart Ferry เรือโดยสารไฟฟ้า รองรับการเดินทางเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) กับระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้บริการระหว่างท่าปากเกร็ด - ท่าสาทร รวดเร็วกว่าการนั่งเรือโดยสารตามปกติและไม่ก่อมลภาวะใดๆ 

สำหรับบริการขนส่งสาธารณะ MINEbus และ MINE Smart Ferry รับชำระเงินผ่านระบบอัตโนมัติเท่านั้น โดยการแตะจ่ายด้วยบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือบัตร Hop เพื่อลดการสัมผัส ลดความเสี่ยงที่อาจติดเชื้อโควิด 19 

เป็นมิติใหม่ของนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของคนไทยที่เชื่อมระบบขนส่งมวลชน “เรือ-รถ-ราง” เพื่อให้ทุกคนเดินทางได้ครบลูป ใช้งานสะดวกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในทุกประเภทของการคมนาคมขนส่ง

ล่าสุด E@ ยังสร้าง AMITA Technology Thailand โรงผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Li-Ion) ครบวงจรแห่งแรกของไทย (โดย บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด) ยิ่งตอกย้ำว่า ไทยมีองค์กรที่สามารถสร้างระบบนิเวศเพื่อขับเคลื่อนการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยมัดรวมทุกสิ่งอย่างไว้ได้ในเครือเดียว

MINE SPA1

minebus

ev charge

ลานจอด

   SHARGE (ชาร์จ) : แบรนด์ไทยภายใต้ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด  

แบรนด์ต่อมาที่ร่วมเติมเต็ม EV Charging Ecosystem ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตยุค Next Normal อย่างยั่งยืน คือ SHARGE บริษัทสัญชาติไทยที่เริ่มให้บริการสถานีชาร์จเป็นแห่งแรก (Charging Service Provider) ในปี 2561 ที่ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี และเซ็นทรัล ชิดลม

สำหรับกลยุทธ์ของบริษัท SHARGE มุ่งรองรับ LIFESTYLE CHARGING ECOSYSTEM ของผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า 3 สไตล์ คือ NIGHT, DAY และ ON-THE-GO

  • NIGHT: กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่บ้าน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนสูงสุดหรือคิดเป็น 80% ของผู้ใช้รถ EV ทั้งหมด 
  • DAY: กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่จุดหมายปลายทาง เช่น การชาร์จตามศูนย์การค้า แหล่งไลฟ์สไตล์ต่างๆ สถานศึกษา และอาคารสำนักงาน โดยกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 15%
  • ON THE GO:  กลุ่มผู้ใช้บริการที่เน้นการชาร์จตามสถานีชาร์จระหว่างการเดินทางข้ามจังหวัด หรือการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนน้อยที่สุดคือ 5% แต่จะสำคัญมากขึ้นในอนาคต

เนื่องจาก Sharge วางโรดแมป 5 ปี (2563 - 2568) ไว้ว่าจะต้องขยายทุกตลาด ON THE GO ก็เช่นกัน เพื่อพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยเป้ารายได้ที่คาดว่าจะเติบโตถึง 3,000 ล้านบาท จากการขายเครื่องชาร์จ 16,000 เครื่อง ให้โครงการที่พักอาศัย 30% และอีก 70% คือยอดขายไฟฟ้าจากหัวชาร์จที่กระจายอยู่ 250 แห่ง ในแหล่งไลฟ์สไตล์ ตลอดเส้นทางกรุงเทพฯ หัวหิน พัทยา และเขาใหญ่ 

แต่สำหรับปีนี้ SHARGE เน้นการเข้าถึง EV Charging Station และเดินหน้าขยายไปถึงหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่, เชียงราย, ชลบุรี, ระยอง, อยุธยา ภูเก็ต  ภายใต้ความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกำหนดเป้าหมายว่าเพิ่มจำนวนหัวชาร์จเป็น 700 หัว จากที่มีอยู่ 200 หัวในปัจจุบัน ผ่านการขาย การลงทุน การจับมือกับพาร์ทเนอร์และผู้ให้บริการสถานีต่างๆ

charger ev

ชาร์จ

sharger

cabb

cabb taxi

   CABB (แค็บบ์) แบรนด์ไทยโดยบริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด ภายใต้กลุ่ม ซี.เอ.เอส (C.A.S. Group)   

CABB รถแท็กซี่สีน้ำเงินซึ่งประยุกต์จาก ‘ลอนดอนแท็กซี่’ รถต้นแบบสุดคลาสสิก เริ่มให้บริการบนท้องถนนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2563 ในลักษณะของแท็กซี่สาธารณะมาตรฐานใหม่ ใส่ฟังก์ชันที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ และประกอบขึ้นใหม่ทุกคัน

ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์และผู้ให้บริการรถรับจ้างเพื่อการขนส่งเอกชนสาธารณะครบวงจร (Fully Integrated Taxi Business) และเล็งเห็นข้อจำกัดด้านการเดินทางของผู้ที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว ผู้สูงวัย เอเชีย แค็บ จึงออกแบบ CABB ให้เรียกหรือจองรถได้ล่วงหน้า (ผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านการโทร หรือจุดจอดหน้าแหล่งไลฟ์สไตล์) ทั้งยังสามารถเข็นวีลแชร์ขึ้นไปได้ทั้งคัน จึงสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เคลื่อนไหวไม่สะดวกได้อย่างง่ายดาย ด้วยอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 60 บาท

ที่ผ่านมา รถ CABB ใช้พลังงานจากแก๊ส และได้ร่วมมือกับค่ายรถจากจีน Zhejiang Geely New Energy Commercial Vehicle Group (GCV) สร้างฐานการผลิตรถยนต์แบรนด์ ASIA CAB รุ่น AS4 อย่างเป็นทางการที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน กรุงเทพฯ ด้วยงบลงทุนราว 500 ล้านบาท 

ต่อมา เอเชีย แค็บ ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการ เทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าสำหรับ CABB แท็กซี่เพื่ออนาคต (CABB EV) กับ 3 องค์กรชั้นนำเพื่อผลิตรถต้นแบบในประเทศไทย และสร้างโอกาสในการส่งออกรถไปยังประเทศต่างๆ ที่ใช้รถยนต์แบบพวงมาลัยขวา ได้แก่

  • เอสซีจี เคมิคอลส์ จะให้การสนับสนุนบุคลากร และการวิจัยเพื่อพัฒนาโครงสร้างรถยนต์ที่มีน้ำหนักเบาและเหมาะสมกับระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 
  • พลังงานบริสุทธิ์ จะให้การสนับสนุนบุคลากรและการวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับแหล่งพลังงานที่มาจากแบตเตอรี่ ระบบการจัดการแบตเตอรี่ สถานีชาร์จการวิจัยพัฒนาโซลูชันระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงานของรถให้ได้ประสิทธิภาพมากกว่าเดิม 
  • ซัมมิท  โอโต บอดี้ อินดัสตรี จะสนับสนุนด้านบุคลากรและการพัฒนาชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆ ที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้า 

cabb ev

ภายในรถ cabb

นอกจากนี้ ยังมี ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เข้ามาสนับสนุนด้านไอทีและเทคโนโลยีที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานรถอีกแรงหนึ่ง

ในด้านงานบริการ พนักงานขับรถแท็กซี่ CABB จะต้องผ่านการฝึกอบรมภายใต้มาตรฐานประเทศญี่ปุ่นก่อน ส่วนการพูดคุยกับผู้โดยสารก็จะต้องทำผ่าน Intercom เนื่องจากมีพลาสติกกั้น ด้านการชำระค่าโดยสารก็ใช้วิธีโอนเงินหรือตัดบัตรผ่านแอปแบบ Cashless โดยระบบจะคำนวณจากระยะทางกับระยะเวลาที่ใช้จริงจากจุดรับไปยังจุดหมายปลายทาง 

เอเชีย แค็บ จึงเป็นธุรกิจรถแท็กซี่เพียงหนึ่งเดียวที่ทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ กล่าวคือ มีโรงงานประกอบรถ (กำลังการผลิตปีละ 2,400 คัน) มีการจัดอบรมบุคลากรและการพัฒนาเทคโนโลยีหรือโซลูชันส์ (โดยร่วมกับพันธมิตร)

ด้วยองค์ประกอบและการผนึกกำลังทั้งหมดนี้ คาดว่าจะสามารถผลิต CABB EV ให้ได้ใช้งานจริงในปี 2565 ซึ่งจะยกระดับงานบริการรถแท็กซี่ในประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากลได้ไม่ยาก

related