svasdssvasds

โซเชียลมีเดีย เหรียญสองด้าน ของเทคโนโลยี

โซเชียลมีเดีย เหรียญสองด้าน ของเทคโนโลยี

ตอนนี้ตัวเลขการใช้ โซเชียลมีเดีย ทั่วโลกเพิ่มขึ้นรวมถึงประเทศไทยเองที่ไต่อันดับมาอยู่อันดับต้นๆ ซึ่งโซเชียลมีเดียได้เข้ามามีอิทธิพลในการใช้ชีวิต ทั้งในเรื่องการทำงาน ทำธุรกิจ และเป็นพื้นที่(เหมือน)ส่วนตัวในการแชร์ข้อมูล บอกกล่าวความรู้สึก และคลายความเครียด

โซเชียลมีเดีย ถึงแม้ว่า โซเชียลมีเดีย จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน เปรียบเสมือนกับเหรียญที่มีสองด้าน ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับผลจากการใช้โซเชียลมีเดียกับการทำงานของสมอง พบว่าผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียบ่อยๆ และมากในระดับหนึ่ง จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม อารมณ์ และความสามารถในการเรียนรู้ เช่น ชอบอ่านอะไรสั้นๆ ไม่อ่านเนื้อหาทั้งหมด ทำให้ขาดทักษะการจับใจความและวิเคราะห์ข้อมูลเห็นคนอื่นมีกระเป๋าแบรนด์เนม ไปเที่ยวต่างประเทศ กินอาหารดีๆ จะเกิดการเปรียบเทียบทำให้ทุกข์ใจจนอาจเป็นซึมเศร้าได้ 

เวลาเราใช้โซเชียลมีเดีย สมองต้องรับข้อมูลปริมาณมากทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นในเวลาเดียวกัน ทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน สมองถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวตลอดเวลา และเวลาเล่นโซเชียลมีเดียเป็นเวลานานๆ สมองจะมีการหลั่งสารเคมีโดปามีนออกมา ทำให้เกิดอาการติดได้เหมือนคนติดยาเสพติด สมองจะมีกระบวนการเก็บข้อมูลที่เรียนรู้ใหม่และความทรงจำใหม่แย่ลง ความสามารถในการตัดสินใจไม่ดี ความอดทนต่ำลง จนมีอาการเหมือนคนเป็นโรคสมาธิสั้นได้

เราเชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าเพราะอะไร โซเชียลมีเดีย ถึงมีผลกระทบกับเราขนาดนั้น คุณพณิดา โยมะบุตร นักจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะมาไขข้อข้องใจเรื่องนี้กัน

พณิดา โยมะบุตร

ทำความรู้จักกับ โซเชียลมีเดีย

วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของ โซเชียลมีเดีย ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนเกิดความรู้สึกเชื่อมต่อเชื่อมโยง เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้เราติดต่อกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งโซเชียลมีเดียมันเป็นการเลียนแบบความสัมพันธ์ของคนในชีวิตจริงนอกโลกโซเชียลมีเดีย ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นเท่านั้นเอง พอคนเริ่มใช้ Social Media กันเยอะขึ้นจนมันกลายมาเป็นเพื่อวัตถุประสงค์อื่น

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

ยุคที่ยอด LIKE ยอด SHARE เข้ามามีอิทธิพล

วัตถุประสงค์แรกที่ทำให้คนอยากได้ยอด LIKE ยอด SHARE เยอะๆ ถ้าชัดที่สุดก็คงจะเป็นอันดับแรกคือการตลาดการขายและเป็นเรื่องธุรกิจ หรือวัตถุประสงค์ของบางหน่วยงาน อาจจะทำเพจขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลให้คนมาติดตาม

ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของตัวตนของคน เวลาที่เราใช้โซเชียลมีเดียมีคนมากด LIKE กด SHARE หรือมีคนมา Comment มันจะเป็นกระบวนการให้รางวัล ภาษาทางจิตวิทยาเรียก Rewarding เรียกได้ว่าเป็นแรงเสริม ทำให้คนคนนั้นเหมือนกับเป็นการเสพติด ได้แล้วอยากได้อีก ถ้าอยากได้ยอดไลก์มากๆ ก็ต้องทำอีกเรื่อยๆ ทำเท่านี้แล้วไม่พอ อยากได้มากขึ้นก็เลยต้องมีรูปหรือ Content ที่เร้าอารมณ์ผู้เสพหรือผู้ Follew ให้เขาเข้ามา Interaction กับเรามากขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้มันจะคล้ายๆ กับการติดยาเสพติดที่พอได้แล้วก็อยากได้อีก ได้เท่าเดิมไม่พอต้องเพิ่มอีกมันจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

อันนี้ก็เป็นเรื่องของการเสพติดอย่างหนึ่ง ถ้าเราอ่านงานวิจัยจะพบว่ากระบวนการในสมองคล้ายๆ กันกับการใช้ยาเสพติดหรือเล่นการพนัน การที่เราทำอะไรลงไปในโซเชียลมีเดียมีคนมา Like มา Share หรือชื่นชม มันทำให้รู้สึกดีกับตัวเองเกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้คนอยากทำพฤติกรรมแบบนั้นเพิ่มมากขึ้นได้เหมือนกัน

Social media พฤติกรรมเสพโซเชียล เรียกยอดแชร์ยอด LIKE ถ้าไม่ได้เป็นในทางธุรกิจเพื่อสร้าง Branding หรือการรับรู้ ให้มองเป็นเหมือนการติดยาเสพติด กระบวนการคล้ายๆ กันเขาจะทำทุกอย่างให้ได้สิ่งนั้น มาไม่ว่าจะอันตรายแค่ไหน อย่างในเรื่องยาเสพติดไม่มีเงิน แต่อยากได้ยามาเสพก็ต้องทำการฉกชิงวิ่งราว ปล้นจี้ขโมยของ เพื่อจะให้ได้สิ่งนั้น กลไกลนี้คล้ายคนในโซเชียลมีเดีย ที่ทำยังไงก็ได้ให้มีคนมา LIKE มีคน SHARE รูปหรือคลิปเราเยอะๆ จนเราเห็นหลายครั้งที่มีข่าว YouTube หรือ TikTok สตาร์ ทำอะไรบางอย่างจนเป็นกระแสทำให้เกิดอันตรายกับตัวเอง


เสพติดโซเชียลหรือดราม่ามากๆ ส่งผลกับเราอย่างไรบ้าง?

เริ่มจากเบาๆ ก่อนเลย การที่เราเสพโซเชียลตลอดเวลาหรือดูข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ ทั้งสมอง ทั้งอารมณ์และร่างกายจะมีความตื่นตัวตลอดเวลา เราอาจจะไม่รู้ตัวภาวะตื่นตัวหรือภาวะ Tension อันนี้ จะทำให้สมองเราเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เกิดภาวะความเครียดสะสมโดยที่เราไม่รู้ตัว อาจนำไปสู่ผลเสียอื่นๆ ตามมา เช่น หากกายใจของเราอ่อนล้า จะทำให้เราอ่อนแอ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หากสังเกตว่าช่วงไหนที่เราเล่นโซเชียลเยอะๆ จะนอนไม่ค่อยหลับ เพราะไม่มีช่วงที่สมองหรือจิตใจว่างเลย พอนอนไม่หลับผลที่ตามมาวันรุ่งขึ้นอ่อนเพลีย อารมณ์ไม่ค่อยดี หงุดหงิดง่าย มีภาวะหลงลืม และอาจส่งผลกระทบด้านอื่น เช่น การงานหรือการเรียน นี่อาจเป็นผลกระทบที่เราอาจไม่ทันสังเกต

โซเชียลมีเดีย

คิดสั้น ฆ่าตัวตาย ผลกระทบของ Social Media ที่เราคาดไม่ถึง

โซเชียลมีเดีย เป็นเหมือนประตูบานหนึ่งที่เราจะเปิดรับอะไรเข้ามาก็ได้นะ หรือเดินออกไปหาอะไรก็ได้ ซึ่งบางครั้งมันอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราเปรียบเทียบ หรือทำให้รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง เช่น เห็นว่าคนอื่นมีชีวิตดีจัง!!! ไปเที่ยวต่างประเทศ ได้ของขวัญเป็นแบรนด์เนมด้วย หุ่นดี ผิวขาว มีแต่ Comment ชม ทำไมเราไม่มีบ้างนะ! สิ่งเหล่านี้มีผลต่อภาวะความภาคภูมิใจในตนเอง อาจทำให้เกิดความเศร้าขึ้นได้

Social Media อาจเป็นประตูที่ทำให้หลายคนถูก Bully ได้ง่ายขึ้น เช่น ที่มีข่าวว่ามีวัยรุ่นประเทศหนึ่งโพสต์ใน Instagram ว่า “ฉันตายดีไหม” แล้วคนเข้าไป Comment ว่า ตายเลย ตายสิ!!! สรุปว่าเป็นเขาฆ่าตัวตายจริงๆ ตามที่มีคนมา Comment ถึงแม้จะเป็นจะไม่ได้ตั้งใจ แต่เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าผู้ที่โพสต์เขามีภาวะจิตใจเป็นอย่างไร หรือแย่แค่ไหนซึ่ง Social Media ถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์ที่ดี แต่ว่ามันอาจเป็นเครื่องมือที่ทำให้ข้อมูลหรือข้อความต่างๆ เข้ามากระแทกใจได้ง่ายขึ้น พอโซเชียลมีเดียเป็นประตูที่นำไปสู่ข้อความหรือสิ่งต่างๆ Feedข้อมูลที่เรารับมีมากมาย ซึ่งข้อมูลที่ทำให้เราคลิกเข้าไปอ่านอาจเป็นข้อมูลอาจกระทบต่ออารมณ์เราไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง ถ้าเป็นข้อมูลดี ข่าวสารผ่อนคลาย ก็จะดีกับตัวเรา แต่ถ้าเป็นข้อมูลหรือข่าวด้านลบ ความคิดลบ  การด่าทอ มันก็จะเริ่มไม่โอเคกับอารมณ์ เราจะมีอารมณ์แบบนั้นโดยไม่รู้ตัว ศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่า Emotional contagion คือการติดต่อทางอารมณ์ ซึ่งอารมณ์มันเผยแพร่ หรือติดถ่ายทอดไปถึงกันได้

ลองสังเกตสิว่า ถ้าช่วงไหนเราอ่านข้อความหรือ Content ในเชิง Positive ผ่อนคลายอะไรที่เป็นความบันเทิง อารมณ์เราก็จะดี ผ่อนคลาย รู้สึกเบาสมอง แต่ถ้าเมื่อไรที่เราเสพข้อมูลที่ Negative เยอะๆ ข่าวเครียดๆ หรือข่าวที่รุนแรงน่ากลัว อารมณ์เราก็จะเป็นแบบนั้นไปด้วย

ทำไมโซเชียลมีเดียถึงทำให้คนไลฟ์สดฆ่าตัวตาย

เราก็จะไม่โทษ Social media แต่เราจะกลับไปดูแนวคิดการฆ่าตัวตายหรือความพยายามฆ่าตัวตาย ว่าเพราะอะไรคนคนนั้นถึงอยากฆ่าตัวตาย อันดับแรกเลยการฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า ทำให้อยากฆ่าตัวตาย หรือการฆ่าตัวตายเพราะหาทางแก้ปัญหาไม่ได้ หรืออยากฆ่าตัวตายเพราะอยากสื่อสารให้คนรอบข้างรู้ว่าเขาทุกข์ทรมานเขาเจ็บปวด เขาเผชิญกับอะไรอยู่ หรือบางคนก็อยากฆ่าตัวตายเพื่อเป็นการลงโทษคนที่เขาคิดว่ามีส่วนที่ทำให้เค้าเป็นแบบนี้ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

เพราะฉะนั้นโซเชียลมีเดียอาจเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนที่ฆ่าตัวตายได้สื่อสารออกไปถึงความรู้สึกความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานที่มีอยู่ ถ้าย้อนยุคไปในยุคที่ไม่มี Social media ก็อาจจะเป็นการเขียนจดหมายทิ้งไว้ แต่พอมันมีโซเชียลมีเดียที่เป็นช่องทางในการสื่อสาร ก็เลยเลือกทางนี้แล้วบังเอิญว่าโลกออนไลน์มันไปไวมาก คนที่ได้มาเห็นข้อมูลก็มากไปด้วย ซึ่งมันก็ทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีคือคนที่พบเห็นทางโซเชียลมีเดีย สามารถเข้าไปช่วยคนที่คิดฆ่าตัวตายได้อย่างรวดเร็ว อย่างที่เราเห็นในข่าวว่ามีคนไลฟ์ว่าจะฆ่าตัวตายแล้วมีคนไปช่วยสืบว่าอยู่ที่ไหน จนในที่สุดช่วยเหลือได้ทัน ส่วนข้อเสีย คือ ถ้ามีคนที่ไม่เข้าใจประเด็นไป Comment อาจจะทำให้คนที่กำลังจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย เขาทำลงไปจริงๆ ก็ได้ 

เล่น Social Media อย่างไรให้สบายกายใจ ไม่เดือดร้อนผู้อื่น!!!

ในโลกออนไลน์เราควรทำอะไรให้ช้าลง คิดก่อนที่จะแชร์หรือ Comment และควรตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน การใช้ Social Media ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองนั้น ควรอยู่ในความพอดี ควรลดหรือจำกัดชั่วโมงการเล่นโซเชียล จะช่วยให้ใช้ศักยภาพในการคิดได้มากขึ้น 

มีเห็นข่าวควร Pause อย่าเพิ่งแชร์เลยทันที สำรวจความรู้สึกของตัวเองว่ามีอารมณ์ต่อข่าวนั้นอย่างไร อย่าเพิ่ง Comment หรือ Share รอให้รู้สึกว่าอารมณ์เป็นกลางก่อนแล้วค่อยกลับมาดู และที่สำคัญควรตรวจสอบข้อมูลจากหลายๆ แหล่งก่อน อย่าเชื่อเพราะมีคนแชร์เยอะ บางครั้งอาจแชร์ข้อมูลพลาดได้เหมือนกัน ควรเช็กหลายๆ ที่  

Cr.  : พณิดา โยมะบุตร นักจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ โรงพยาบาลมนารมย์