svasdssvasds

รู้แล้วรอด เดอะซีรีส์ (4) : CovidSelfCheck ประเมินอาการก่อนได้ ผ่าน LINE OA

รู้แล้วรอด เดอะซีรีส์ (4) : CovidSelfCheck ประเมินอาการก่อนได้ ผ่าน LINE OA

รู้แล้วรอด เดอะซีรีส์ (4) แนะนำตัวช่วยประเมินอาการและดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ในกรุงเทพฯ "CovidSelfCheck” หรือ "เพื่อนช่วยเช็ค" ผ่านทาง LINE Official โดยมีนิสิต นศ.แพทย์อาสาสมัครคอยให้ความช่วยเหลือ

เพื่อการอยู่ร่วมและอยู่รอดในวิกฤตโควิด มีอีกตัวช่วยมาแนะนำสำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ กทม. นั่นคือ CovidSelfCheck หรือ เพื่อนช่วยเช็ค บัญชีทางการในไลน์​ (LINE OA) ที่ช่วยประเมินอาการ ร่วมดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยสีเขียว โดยมีอาสาสมัครที่เป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์มาร่วมด้วยช่วยกันอยู่หลังบ้าน

เพื่อนช่วยเช็ค CovidSelfCheck

ที่มาของ CovidSelfCheck 

บุคลากรทางการแพทย์ยังคงรับภารกิจหนักในการดูแลผู้ป่วยโควิดที่ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกวัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) และ กลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิด LINE OA เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ในชื่อบัญชี CovidSelfCheck หรือ "เพื่อนช่วยเช็ค" เพื่อติดตามอาการ - ลดขั้นตอนการรักษา - เป็นงานช่วยเหลือ ทั้งยังระดมจิตอาสานักศึกษาแพทย์ มาเสริมกำลังสาธารณสุขชุมชนและบุคลากรทางการแพทย์

สหรัฐ เหลี่ยมเพ็ง นักศึกษาแพทย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนิสิตนักศึกษาแพทย์เพื่อการพัฒนาบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  กล่าวถึง สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) ว่าเป็นตัวกลางในการประสานงานและรวบรวมอาสาสมัคร

"ในขณะนี้มีนิสิตนักศึกษาแพทย์และอาสาสมัครเข้าร่วมจำนวน 890 คน มีส่วนร่วมในการลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนและเสริมกำลังการทำงานด้านสาธารณสุขต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น

  • สนับสนุนจุดตรวจคัดกรองโรค
  • ทำทะเบียนประวัติ
  • ดูแลกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามารับการตรวจหาเชื้อ
  • สนับสนุนระบบการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีเขียว 

 

“นิสิตนักศึกษาแพทย์และจิตอาสาได้เข้าไปมีส่วนในการดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้านที่มาจากระบบกลางของกรุงเทพฯ และส่งต่อมาอยู่ในการดูแลของ คลินิกพริบตา สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เช่น การให้คำปรึกษาในการปฏิบัติตัวทางโทรศัพท์ การสนับสนุนการจัดส่งยาเวชภัณฑ์และเครื่องอุปโภคบริโภค 

"และในขณะนี้ได้พัฒนาระบบ CovidSelfCheck หรือ ‘เพื่อนช่วยเช็ค’ เพื่อติดตามอาการและประสานงานช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลุ่มสีเขียวที่มีอาการไม่มาก ผ่านช่องทาง LINE OA ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการทำงานของแพทย์ได้มากขึ้น" สหรัฐกล่าว

เพื่อนช่วยเช็ค CovidSelfCheck

สำรวจ 3 ระบบใน CovidSelfCheck

สุวินัย จิระบุญศรี นิสิตแพทย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ แห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ร่วมกับกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และบริษัท Tact Social Consulting โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มโครงการ CovidSelfCheck หรือ ‘เพื่อนช่วยเช็ค’ โดยมีการดำเนินงาน 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ 

  • ส่งอาสาสมัครลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit ในพื้นที่กรุงเทพฯ 
  • ระบบติดตามอาการผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่รับการรักษาแบบ Home Isolation ด้วยการใช้ LINE OA
  • ระบบสนับสนุนการให้บริการและการระดมทรัพยากร เช่น การสนับสนุนเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ชุดตรวจ Antigen Test Kit เครื่องผลิตออกซิเจน (Oxygen Concentrator)

การทำงานของระบบ CovidSelfCheck

เพื่อติดตามอาการผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ทีมพัฒนาออกแบบระบบมาให้ 1) ผู้ใช้งานกรอกแบบประเมินอาการในแต่ละวันได้เอง 2) ระบบจะประเมินอาการผู้ป่วยอัตโนมัติ และ 3) ระบบจะส่งผลการประเมินให้แพทย์และพยาบาลเพื่อใช้ในการวางแผนการดูแลรักษาต่อไป 

“ระบบนี้สามารถลดขั้นตอนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และจะสามารถช่วยให้รับผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงระบบการรักษาได้มากขึ้น หลังจากนี้เครือข่ายโดยการสนับสนุนของ สสส. จะพัฒนาระบบเพื่อให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างการทำงาน แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์และช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบการรักษาได้ดีมากยิ่งขึ้น” สุวินัยกล่าว

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

related