svasdssvasds

ชาวมายัน พ่ายแพ้ภัยตัวเอง เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ชาวมายัน พ่ายแพ้ภัยตัวเอง เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

การล่มสลายของอาณาจักรมายา ที่นักโบราณคดีหลายคนใช้เวลาหลายทศวรรษเพื่อไขคำตอบว่าทำไมถึงล่มสลาย แต่ก็ได้คำตอบในที่สุด ไม่ใช่การเมือง การรุกราน แต่เป็นเพราะตัวพวกเขาเอง

เรื่องการล่มสลายของชาวมายันมีพูดถึงกันมาหลายศตวรรษถึงสาเหตุการล่มสลาย ซึ่งก็มีนักโบราณคดี นักวิทยาศาสตร์ค้นหาคำตอบและตีความไปต่างๆนาๆ ว่าสาเหตุจริงๆของการล่มสลายของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่คืออะไรกันแน่ และแน่นอนว่าคำตอบนั้นเราได้รับแล้ว ทางผู้เขียนจึงอยากหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างซ้ำเนื่องจากสาเหตุของการล่มสลายในตอนนั้น มันกำลังจะเกิดขึ้นกับยุคปัจจุบัน ถ้าหากเราไม่ปรับตัวและแก้ไขพฤติกรรมและนโยบายต่างๆ มนุษยชาติก็กำลังจะล่มสลายตามอาณาจักรมายาไป

ทุกๆอารยธรรมล้วนมียุครุ่งเรืองและตกต่ำ แต่ไม่มีอารยธรรมไหนที่ล่มสลายไวเท่าอาณาจักรมายา ที่ถูกป่ากลืนกินเข้าไปหลังศตวรรษแห่งการพัฒนาเมือง วัฒนธรรม สติปัญญาและการเกษตรผ่านพ้นไป ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งกล่าวว่า สาเหตุของการอพยพหนีของชาวมายันไม่ใช่เรื่องของสงครามกลางเมือง ความขัดแย้ง แผ่นดินไหว หรือโรคระบาด แต่มันเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นผลที่ตามมาจากพฤติกรรมของชาวมายันเอง และเขายังเสริมอีกว่าชาวมายาอาจจะเดินทางไปทางชายฝั่งเพื่ออพยพย้ายถิ่นฐาน แต่นั่นก็เป็นเพียงทฤษฎีสนับสนุนทฤษฎีหนึ่ง ซึ่งต่อจากนี้ Springnews จะชวนไปดูว่าจริงๆแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่

ภาพความรุ่งเรืองของอาณาจักรมายาในอดีต เทียบเท่ากับยุครุ่งเรืองของอียิปต์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เรื่องย่อของอาณาจักรที่รุ่งเรืองที่สุดในทวีปอเมริกากลาง

ก่อนจะไปดูปลายทางของเรื่องราว ผู้เขียนอยากเล่าประวัติของอาณาจักรโดยย่อก่อนว่าอาณาจักรมายาคืออะไร

อารยธรรม “มายา (Maya)” เป็นรัฐอิสระเมื่อประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว ที่ได้ก่อปั้นเมืองและขยายไปยังดินแดนใกล้เคียงเพื่อสร้างความเป็นใหญ่ของอาณาจักรและอารยธรรมที่ไปที่ไหนใครก็รู้จัก พื้นที่ของอาณาจักรจากการสู้รบแย่งชิงดินแดนกันมาตลอดทำให้ขยายพื้นได้กว้างใหญ่ กินพื้นที่ประเทศปัจจุบันของทวีปอเมริกากลาง 5 ประเทศ ประกอบไปด้วย เม็กซิโก กัวเตมาลา เบลิซ ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์

ชีวิตของชาวมายันอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้อมาตลอดตั้งแต่กำเนิดอารยธรรมของตนเองขึ้นมา ส่วนหนึ่งเพราะความชุ่มชื้นของป่าทำให้ผลผลิต พืชผลต่างๆอุดมสมบูรณ์ และปกป้องพวกเขาจากอันตรายภายนอกได้ อายุของอารยธรรมมายาเริ่มมาตั้งแต่ปี 1800 ก่อนคริสกาล หรือก่อนยุคคลาสสิก ชาวมายาเก่งเรื่องการทำการเกษตร โดยพืชเศรษฐกิจของชาวมายันคือ ข้าวโพด ถั่ว ซุกินี และมันสำปะหลัง

ชาวมายามีความสามารถหลากหลายด้านที่ล้ำหน้ากว่าอาณาจักรอื่นๆในยุคนั้น เรียกได้ว่าเป็นเมืองแห่งอัจฉริยะก็ได้ หลักฐานที่นักโบราณคดีค้นพบในนครต่างๆแสดงให้เราเห็นถึงองค์ความรู้ต่างๆของชาวมายา ไม่ว่าจะเป็นด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ที่น่าทึ่งหลายอย่าง พวกเขาสามารถคำนวณเรื่องราวที่ซับซ้อนได้ และยุคนั้นพวกเขาก็รู้จักเลข 0 แล้วด้วย

งานสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่หลายคนคงทราบกันดี นั่นก็คือวิหารนคร ที่มีรูปทรงคล้ายๆพีรามิดของอียิปต์ แต่การสร้างสถาปัตยกรรมแบบนี้ พวกเขามีเหตุผล พีรามิดดังกล่าวเรียกกันว่า “ชิเชน อิตซา” ซึ่งได้รับการโหวตจากทั่วโลกด้วยว่าเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก เมื่อปี 2007 ลักษณะของชิเชน อิตซา คือเป็นพีรามิดตัดหัวเหลี่ยม ไม่มียอดแหลม มีบันไดทางขึ้น 4 ด้าน ด้านละ 91 ขั้น ซึ่งหากรวมกับยกพื้นที่ฐานของพีรามิดอีก 1 ขั้นใหญ่จะนับรวมได้เป็น 365 ขั้น ซึ่งก็เท่ากับจำนวนวันใน 1 ปีตามปฏิทินปัจจุบันนั่นเอง

นอกจากพีรามิด ชิเชน อิตซาแล้ว ยีงมีวิหารโบราณอีกหลายแห่งที่ใหญ่โตและสวยงาม เช่น ตีกัล ซากโบราณขนาดใหญ่สุดของอารยธรรมมายา ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตเอลเปเตน ประเทศกัวเตมาลา โบราณสถานที่โดดเด่นคือวิหารขั้นบันไดที่มีเกือบทุกนครรัฐ และนำสถานที่เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในทางที่หลากหลาย เช่น เป็นสนามกีฬา สุสาน วิหาร สถานที่บูชายัญเทพเจ้า เป็นต้น

ชิเชน อิตซา พีรามิดตรงหัวตัดและมีเหลี่ยม พร้อมขั้นบันได 4 ด้าน ที่ถ้านับรวมกันจะเท่ากับ จำนวนวันใน 1 ปี ในสมัยที่พวกเขายังอยู่ดีกินดี พวกเขาใช้ภาษาพูดแค่ภาษาเดียวคือ "ภาษามายา" แต่ในช่วงเวลาก่อนยุคคลาสสิกความหลากหลายทางภาษาเริ่มแปลเปลี่ยนให้ชาวมายาพูดได้หลายภาษามากขึ้น เพื่อปรับตัวหลังจากอพยพออกไป ทุกวันนี้ในเม็กซิโกและหลายพื้นที่ในอเมริกากลาง ผู้คนประมาณ 5 ล้านคนพูดภาษามายาผสมกับภาษาอื่นๆอีก 70 ภาษาหรือคนพูดได้ 2 ภาษา แต่ภาษายอดฮิตที่สุดคือมายาผสมกับสเปน

จุดแตกหักของการล่มสลาย

ผู้คนเชื่อกันว่าความศรีวิไลของมายาโบราณสิ้นสุดลงอย่างน่าสงสัย และมันก็เป็นจริงที่ชาวมายาได้เผชิญหน้ากับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงความแห้งแล้งสุดขั้ว และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เมืองใหญ่ในยุคคลาสสิกของพังทลายลง

ในช่วงที่การเชื่อมต่อระหว่างยุคมีการค้นพบว่า ชาวมายาได้ละถิ่นฐานกันออกไป จึงทำให้นักโบราณคดีสงสัยและอยากหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดชาวมายาถึงละทิ้งถิ่นฐานแม้ว่าจะมีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์และความรุ่งเรืองของอาณาจักร มีการคาดเดากันไปต่างๆนาๆหลายทฤษฎี เพราะสงคราม สภาพอากาศ ความแห้งแล้ง ความอดอยาก หรือเพราะเหตุผลใดกันแน่?

แต่จากการศึกษา สำรวจ ก็ทำให้ค้นพบว่าแท้จริงแล้ว สาเหตุที่ทำให้ชาวมายาทิ้งถิ่นฐานนี้ไปเกิดมาจาก "ชาวมายา" เองที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจนอยู่อาศัยไม่ได้

ในยุครุ่งเรืองนั้น ประชากรของชาวมายามีปริมาณที่เยอะมากๆ แต่มันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรอันแสนเหลือเฟือ ณ ตอนนั้นแต่อย่างใด แต่เพราะการสร้างวิหารนี่แหละที่นำปัญหามาให้ การสร้างวิหารของชาวมายาแตกต่างจากพีระมิดของชาวไอยคุปต์ พวกเขาฉาบปูนด้านนอกก่อนและทาสีแดงทับลงไป แต่ปัญหาอยู่ที่ปูนขาวที่พวกเขานำมาใช้ การผลิตปูนขาวพวกเขาต้องใช้หินปูนจำนวนมาก จากการเผาต้นไม้ หรือก็คือ “ฟืน” ที่มาจากป่าอันสมบูรณ์ของพวกเขานี่แหละ

แม้ว่าจะมีผืนป่าที่เยอะเพียงใด ก็ไม่อาจต้านทานการร่อยหรอของระบบนิเวศน์และทรัพยากรได้ การโค่นล้มไม้ใหญ่ก่อให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน รวมไปถึงมีผลต่อการทำเกษตรกรรม เพราะหน้าแล้งต้นไม้ดูดซับน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ดินขาดน้ำ ขาดปุ๋ย พืชหลักของชาวมายันคือข้าวโพดจึงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เต็มที่ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็คือภัยจากมนุษย์เองทั้งสิ้น จึงเป็นสาเหตุให้ชาวมายันแยกย้ายกันออกไปเพื่อไปหาถิ่นฐานที่มีทรัพยากรที่สมบูรณ์กว่านั่นเอง ข้อมูลนี้มาจากหลักฐานชิ้นสุดท้ายที่ชาวมายันยุคคลาสสิกได้ทิ้งเอาไว้ นั่นก็คือ ศิลาจารึกจากเมือง โทนีนา (Tonina) ลงวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.909

งานวิจัยของ Kenneth Seligson ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ ได้กล่าวว่า จากการสำรวจคาบสมุทรยูคาทานทางตอนเหนือและเพื่อนร่วมงานของเขาที่อยู่ทั่วทุกภูมิภาคในเขตมายา พวกเขาเชื่อกันว่าชาวมายานั้นปรับตัวได้ในแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พวกเขายังอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้ตราบใดที่พวกเขาไม่กลับไปทำแบบเดิมอีก ปัจจุบันสังคมสามารเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ทำให้พวกเขาอยู่รอดมา 700 ปีได้ เพราะขณะนี้เราก็กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเช่นกัน

สภาพอาณาจักรมายาในทุกวันนี้

แต่อย่างไรก็ตาม มายาไม่ได้หายไปไหน ผู้คนชาวมายันแยกย้ายกันออกไปหลังจากอพยพและนำวัฒนธรรมบางส่วนพกติดตัวไปด้วย ทุกวันนี้ชาวมายันส่วนใหญ่ประมาณ 6 ล้านคนยังคงอาศัยอยู่ที่เมโสอเมริกาตะวันออก และบ้านเกิดโบราณของชาวมายันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่คุ้มครองไปแล้ว 7,700 ตารางไมล์ในกัวเตมาลาหรือที่เรียกว่าเขตสงวนชีวมณฑลมายา อีกทั้งยังเป็นเขตสงวนเพื่อปกป้องป้าไม้ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกากลาง ใต้ร่มเงาของนครวัดและพระราชวัง ที่เป็นเครื่องยืนยันความยิ่งใหญ่ในอดีต

ในทางกลับกัน เขตโบราณสถานนั้นก็ใกล้พังเต็มที ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1990 เราได้เสียพื้นที่โดยเฉลี่ย 50,000  เอเคอร์ต่อปีจากการตัดไม้ทำลายป่า 14% ของพื้นที่ทั้งหมดมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศรุนแรงตลอด อย่างเช่น เอลนีโญกับฤดูแล้งที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆที่เคยทำให้ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่อยู่บ่อยครั้งในปี 1998, 2000, 2003 และ 2005 เป็นต้น

พื้นที่สำรองบริเวณชายแดนกัวเตมาลา เม็กซิกัน ได้รับความเดือดร้อนมากขึ้นจากการเป็นเขตเชื่อมต่อการค้าโคเคน องค์กรอาชญากรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องรับโทษ เจ้าของที่ดินผู้ร่ำรวยก็ผูกติดกับกลุ่มค้ายาที่ตัดไม้ทำลายป่าผืนใหญ่อย่างผิดกฎหมาย จัดตั้งฟาร์มปศุสัตว์เพื่อฟิกเงิน ส่งยาและลักลอบล่าสัตว์และปล้นแหล่งโบราณคดี

ตอนนี้พื้นที่มายาเริ่มกลายเป็นสงครามการต่อสู้ที่ผิดกฎหมายไปโดยปริยายและพื้นที่ป่าเริ่มลดร้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งอีกไม่นานถ้าเรายังไม่ปรับตัวก็คงได้ล่มสลายไม่ต่างกับชาวมายัน และต้องอพยพหาที่ทางใหม่ต่อไป ซึ่งทุกที่บนโลกตอนนี้ก็เผชิญปัญหาเช่นเดียวกันจากน้ำมือมนุษย์ แล้วจะย้ายไปที่ไหนได้อีกล่ะ

ที่มาข้อมูล

https://www.history.com/topics/ancient-americas/maya

https://www.gypzyworld.com/article/view/785

https://www.theguardian.com/environment/blog/2012/dec/20/ancient-mayans-environmental-concerns-apocalypse

https://theconversation.com/misreading-the-story-of-climate-change-and-the-maya-113829

https://www.nationalgeographic.com/science/article/121109-maya-civilization-climate-change-belize-science

https://mgronline.com/travel/detail/9550000154000

related