svasdssvasds

ฝรั่งเศสสั่งแบนพลาสติกห่อหุ้มผักและผลไม้แล้ว เริ่ม 1 ม.ค. 2022

ฝรั่งเศสสั่งแบนพลาสติกห่อหุ้มผักและผลไม้แล้ว เริ่ม 1 ม.ค. 2022

กฎหมายใหม่ฝรั่งเศส ห้ามห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์พลาสติกในผักและผลไม้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค 2022 เป็นต้นไป มุ่งเป้าเลิกใช้พลาสติกให้ได้ภายในปี 2040 ตามข้อตกลงจาก COP26

ถือเป็นข่าวดีด้านสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศ ที่เริ่มลงมือทำจริงแล้วกับข้อตกลงจากการประชุม COP26 เพื่อเร่งแก้ปัญหาวิกฤตภาวะโลกรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่แม้การสั่งห้ามใช้พลาสติกนี้จะเป็นเรื่องดีในการเปลี่ยนแปลงแต่ก็มีผลเสียตามมาคือ ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบของการสั่งแบนนี้อย่างชัดเจน 

แตงกวา มะนาว และส้มเป็นหนึ่งในผลไม้และผัก 30 สายพันธุ์ที่ห้ามห่อหุ้มด้วยพลาสติก ส่วนบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่กว่า เช่นผลไม้ที่หั่นไว้สำเร็จรูปหรือแปรรูปจะยังได้รับการยกเว้น เพื่อคงสภาพความสดใหม่ไว้

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เรียกคำสั่งห้ามดังกล่าวว่าเป็น “ปฏิบัติการที่แท้จริง” (a real revolution) เขากล่าวว่ามันเป็นการแสดงหรือการปฏิบัติเพื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ได้ภายในปี 2040

มากกว่า 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์ในฝรั่งเศสถูกขายด้วยการห่อหุ้มพลาสติกและเจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่าการมีคำสั่งห้ามดังกล่าวจะสามารถป้องกันการใช้พลาสติกแบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้หลายพันล้านชิ้นต่อปี

ในแถลงการณ์ที่ประกาศกฎหมายฉบับใหม่นี้ โดยทางกระทรวงสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ฝรั่งเศสได้ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว “จำนวนมหาศาล” และคำสั่งห้ามใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการใช้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งและส่งเสริมการทดแทนด้วยวัสดุบรรจุภัณฑ์อื่นๆที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และสามารถรีไซเคิลได้

การสั่งห้ามดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระยะยาวหลายปีที่รัฐบาลของนายมาครงเสนอขึ้น เพื่อทำให้พลาสติกค่อยๆคลายออกจากอุตสาหกรรมทั้งหมดภายในประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งแต่ปี 2021 ประเทศฝรั่งเศสได้สั่งห้ามใช้หลอดพลาสติก ถ้วยและช้อนส้อมพลาสติก รวมถึงกล่องพลาสติกโพลีสไตรีน

(พลาสติกโพลีสไตรีน เช่น แก้วโฟมที่ใช้แล้วทิ้ง จานหรือถาดพลาสติก บรรจุภัณฑ์โฟมกันกระแทกสำหรับใส่ขวดไวน์ ผลไม้ และคอมพิวเตอร์ ไม้บรรทัด ไม้แขวนเสื้อ ม้วนวีดีโอ ตลับเทป เป็นต้น)

และต่อมาในปี 2022 พื้นที่สาธารณะหลายแห่งจะถูกบังคับให้จัดหาตู้น้ำหรือก๊อกดื่มน้ำเพื่องดการใช้ขวดพลาสติก สิ่งพิมพ์จะต้องถูกจัดส่งโดยไม่ใช้การห่อด้วยพลาสติก และร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดจะไม่สามารถให้ของเล่นพลาสติกฟรีได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในอุตสาหกรรมได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเร็วของการแบนครั้งใหม่นี้

Philippe Binard จาก European Fresh Produce Association กล่าวว่า

“การนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกออกจากผักและผลไม้ส่วนใหญ่ในระยะเวลาสั้นๆดังกล่าวนั้นยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทดสอบและหาทางเลือกอื่นๆในช่วงเวลาที่เหมาะสม และทำให้ร้านต้องเคลียร์สต็อกของบรรจุภัณฑ์ที่เหลืออยู่”

กล่าวง่ายๆคือ วิธีการเหล่านี้ยังไม่รับการทดสอบว่าสามารถทดแทนวิธีเดิมได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ และยังไม่ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าจะมีปัญหาอื่นๆตามมาหรือไม่ และอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ผลิตพลาสติกห่อหุ้มเหล่านี้ยังไม่ได้หาทางกำจัดสินค้าบรรจุภัณฑ์ของพวกเขา ว่าจะทำยังไงกับของที่เหลือดี

หลายประเทศในยุโรปได้ประกาศห้ามในลักษณะคล้ายๆกันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากพวกเขาปฏิบัติตามข้อผูกพันจากการประชุม COP26 ครั้งล่าสุดที่จัดขึ้น ณ กรุงกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์

และต้นเดือนนี้ สเปนก็ประกาศสั่งห้ามขายผักและผลไม้ที่มีการห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์ด้วยพลาสติกตั้งแต่ปี 2023 เพื่อให้เวลาธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีเวลาหาทางเลือกอื่นๆได้

รัฐบาลของนายมาครงยังได้ประกาศกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่อีกหลายข้อ รวมถึงกฎที่เรียกร้องให้โฆษณารถยนต์ต้องส่งเสริมทางเลือกอื่นๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รณรงค์การเดินและการปั่นจักรยานแทนการใช้รถยนต์

พลาสติกห่อหุ้มผักผลไม้เป็นพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไว้ใช้สำหรับห่ออาหารให้มีความสดใหม่ แต่ก็ถือเป็นพลาสติกที่นำมาซึ่งการกำจัดยากชนิดหนึ่ง หรือก็คือฟิล์มยืดถนมอาหารนั่นเอง ส่วนมากเราจะพบพลาสติกเหล่านี้ในจำพวกอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารแช่แข็งและอาหารที่ปรุงสุกแล้ว เป็นต้น เพื่อป้องกันสิ่งปนเปือนที่สกปรกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อจุลินทรีย์ ฝุ่นละอองจากสภาพแวดล้อมรอบๆ ทำให้อาหารมีความสดใหม่ อีกทั้งยังน้ำหนักเบา ทำให้เวลาคิดเงินค่าอาหารแพ็กนึง สามารถชั่งได้โดยแทบจะไม่มีน้ำหนักของพลาสติกห่อหุ้มเลย 

ส่วนประกอบในการผลิตพลาสติกเหล่านี้มี 3 ประเภทด้วยกันคือ

  1. PE หรือ โพลีเอทิลีน (Polyethylene) ฟิล์มยืดที่ผิตมาจากพลาสติก PE นั้นมีคุณสมบัติที่ให้ไอน้ำ น้ำซึมผ่านได้น้อย แต่ก๊าซจะสามารถซึมผ่านได้ดี เหมาะกับการนำมาห่อผักและผลไม้สด
  2. PVC หรือ โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylcloride) ยอมให้ไอน้ำและออกซิเจนไหลผ่านได้ เหมาะกับการรักษาของสด เช่นเนื้อสัตว์และปลา
  3. PVDC หรือ โพลีไวนิลิดีนคลอไรด์ (Polyvinylidenechloride) ให้ก๊าซและไอน้ำซึมผ่านได้ แผ่นฟิล์มยืดได้ ทนความร้อนได้ดี

ซึ่งพลาสติกเหล่านี้ย่อยสลายยาก หรือแทบจะไม่สามารถย่อยสลายได้เลย และอุตสหกรรมอาหารที่มีการใช้พลาสติกเหล่านี้ในการห่อหุ้มอาหารนั้นมีอยู่ทั่วโลก แม้จะมองเป็นเรื่องเล็ก แต่เมื่อนำมารวมกันแล้ว จำนวนขยะพลาสติกเหล่านี้ก็มีอยู่เป็นกองภูเขามหึมาแล้ว

ที่มาข้อมูล

https://www.bbc.com/news/world-europe-59843697

http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=11

https://www.watanabhand.co.th/%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%94%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/

related