svasdssvasds

ชวนรู้จัก Climate Clock เคาท์ดาวระเบิดเวลาที่กำลังพาเราสู่หายนะของจริง

ชวนรู้จัก Climate Clock เคาท์ดาวระเบิดเวลาที่กำลังพาเราสู่หายนะของจริง

Dont Look Up Just Look Around ไม่ต้องแหงนมองบนท้องฟ้าก็ได้ เพราะรอบตัวเราก็คือหายนะ ระเบิดเวลาที่ไม่รอการพุ่งชนของดาวหาง แต่เรากำลังรอความตายเพราะตัวเราเองจากภาวะโลกร้อน

ภาพยนตร์ Don’t Look Up เมื่อโลกกำลังเข้าสู่หายนะ แต่กลับไม่มีใครสนใจและมองว่ามันเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ แม้แต่ผู้นำก็เฮงซวย ประจบสอพลอแต่กับนักธุรกิจและชื่อเสียงของตนเอง แม้กระทั่งสำนักข่าวเอง สื่อต่างๆยังมองเรื่องซีเรียสเหล่านี้เป็นเรื่องขำขัน แต่นอกจากเรื่องจะเน้นไปที่ประเด็นทางการเมือง และสังคมที่เพิกเฉยต่อสิ่งที่หลายคนคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้แล้วล่ะก็ อีกประเด็นนึงที่น่าสนใจคือการเกิดขึ้นของดาวหางที่กำลังพุ่งชนโลกในอีก 6 เดือน แต่กว่าผู้คนจะตื่นรู้ก็สายไปเสียแล้ว นั่นก็เปรียบเสมือนสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังนับถอยหลังสู่อุณหภูมิของโลกที่กำลังสูงขึ้น อันนำไปสู่หายนะของมวลมนุษยชาติ ที่ยากจะย้อนกลับมาแก้ไขได้แล้ว แต่ตอนนี้ผู้คนแต่ละประเทศตื่นรู้มากแค่ไหนแล้ว

ภาพยนตร์ Don

โลกนี้มีเดดไลน์ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเดดไลน์ของคุณจะหมดลงเมื่อไหร่ บทความนี้มีคำตอบ

Springnews ชวนรู้จัก Climate Clock นาฬิกานับถอยหลังสู่อุณหภูมิโลกที่กำลังจะแตะไปถึง 1.5 องศาเซลเซียส ห่างออกไป 80 ฟุต มองแหงนสูงตระหง่านไปสี่ชั้นเหนือ Union Square ของนิวยอร์ก จะพบกับจดหมายสีส้มที่กำลังนับเวลาถอยหลังสู่เวลาที่เหลืออยู่ของมนุษย์ ถ้าหากเราไม่กอบกู้บ้านตัวเองที่เป็นบ้านแห่งเดียวหลังนี้ล่ะก็ เราได้จบเห่แน่

ตึก Union Square Cr.Ecowatch

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพื่อเตือนให้เราไม่ทำกิจกรรมเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหวนคืนไปแก้ไขได้แล้ว ตอนนี้เราทุกคนมีเวลาเหลืออีก 7 ปี 204 วัน เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นที่น่าตกใจ และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับไม่ค่อยมีใครสนใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาวะโลกร้อนที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ตอนนี้!

อัพเดตนาฬิกาวันที่ 30/12/2564 นาฬิกา Climate Clock นี้เป็นผลงานความร่วมมือของนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ Gan Golan และ Andrew Boyd ในส่วนของการออกแบบ Art-Fixer นั้น ผู้ออกแบบคือ Katie Peyton Hofstadter ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Adrian Carpenter และทีมสนับสนุนคลัตส์ ทีมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ และสำนักนายกเทศมนตรี เป็นผู้ที่สนับสนุนและติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด และนี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของพวกเขาในการสร้างความตระหนักให้กับผู้คนทั่วโลก

ในปี 2009 ธนาคารดอยซ์แบงค์ (Deutsche Bank) ได้สร้างป้ายโฆษณา Carbon Counter เหนือไทม์สแควร์ของนิวยอร์ก เพื่อติดตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย (ขณะนั้นประมาณ 2 พันล้านตันต่อเดือน)

ป้าย Carbon Count ของธนาคาร Deutsche Bank Cr.The Gaurdian

ปี 2015 David Usher นักดนตรี และนักวิทยาศาสตร์ Damon Matthews เริ่มจัดทำนาฬิกาแสดงสภาพอากาศออนไลน์ที่ Human Impack Lab ของมหาวิทยาลัย Concordia ซึ่งนอกจากจะแสดงค่าคาร์บอน อุณหภูมิและเวลาทั่วไปแล้ว ก็ยังมีนาฬิกาหน้าเว็บออนไลน์อีกที่คือ  Bloomberg Carbon Clock ซึ่งก็เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 2015 ด้วยเช่นกัน  Bloomberg Carbon Clock

ปี 2018 The 2° Window เป็นโครงการแนวคิดเชิงศิลปะโดย Andy McWilliams และ Amay Kataria ซึ่งได้เผยแพร่ทางออนไลน์ และได้รับการติดตั้งในแกลเลอรีไม่กี่แห่งในปีถัดมา

และปี 2019 นาฬิกาคาร์บอนเบอร์ลิน เป็นประติมากรรม LED ขนาดใหญ่ ได้รับการติดตั้งโดย Fridays for Future และ EUREF บน Gasometer ที่มีชื่อเสียงในกรุงเบอร์ลิน

ด้วยแรงบันดาลใจจากความพยายามเหล่านี้ และพวกเขาตระหนักดีว่าโลกต้องการนาฬิกาสภาพอากาศมากกว่าเว็บไซต์หรือการทดลองงานศิลปะเพียงครั้งเดียว ทีมงาน New York Climate Clock ได้รวบรวมข้อเสนอที่ดีกว่าที่จะสามารถเชื่อมต่อได้ทั่วโลก แต่โครงการนี้ถูกละเลยมาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี

แต่มันถูกกลับมากระตุ้นอีกครั้งเพราะ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ในขณะที่ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่หน้าสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เธอถือนาฬิกาไว้ระหว่างพูดเป็นระยะเวลา 9 วันที่เธออยู่ตรงนั้น ทางทีมงานที่ติดตามเรื่องนี้จึงได้ตัดสินใจส่งสัญญาณให้ทีมออกแบบให้เริ่มลงมือกับโครงการที่ค้างไว้ได้เลย และเรียกรวมทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อสร้างนาฬิกา พวกเขาไม่ได้เพียงแต่ทำนาฬิกาให้เกรตาเท่านั้น แต่เพราะคำกล่าวสุนทรพจน์ของเธอ ทำใหเกิดความสนใจในสังคมกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ประจวบกับนาฬิกาเสร็จพอดี จึงได้ทำการเปิดตัวนาฬิกา Climate Clock อย่างเต็มรูปแบบและก็ได้เสียงตอบรับอย่างดีเพราะส่วนหนึ่งมาจากเกรตา

นาฬิกานี้เปรียบเสมือนระเบิดเวลา ที่ทำให้ UN ปฏิเสธในตอนแรกอย่างฉุนเฉียวเพราะสร้างความตระหนกแก่ประชาชน แต่พวกเขาก็ได้ตั้งคำถามกลับว่า นั่นเป็นเรื่องจริงเหรอ แล้วตัวเลขเหล่านี้เป็นของจริงไหม และก็เริ่มมีการขบคิดและถกเถียงกันอยู่ช่วงหนึ่งในช่วงตอนแรกของการเปิดตัวนาฬิกา

ในปีนี้ แม้ว่านาฬิกา Climate Clock เหล่านี้จะยังคงเดินนับเวลาต่อไปเรื่อยๆไม่มีทีท่าลดน้อยถอยลง แต่ผู้คนอีกหลายล้านคนกำลังเพิกเฉยต่อสิ่งที่พวกเราพยายามพร่ำบอกเสมอ จากการประชุม COP26 ที่กรุงกลาสโกลว์ ประเทศสก็อตแลนด์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา แม้มันดูเหมือนจะสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ต่อสู้และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ในด้านของการรับรู้ของเหล่าผู้นำและการกำหนดนโยบายร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นการรับทราบแล้วว่าโลกกำลังเผชิญกับอะไร และสิ่งที่ตามมาคือการจับตาดูและการลงมือทำ ว่าผู้นำเหล่านี้จะลงมือทำให้ได้เหมือนที่พูดไว้ไหม

ระเบิดเวลานับถอยหลังสู่การสูญพันธุ์ของมนุษย์ ตอนนี้โลกของเราเดินทางมาถึง 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว เราเหลือเวลาอีกไม่มากในการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิไม่ให้สูงไปมากกว่านี้ แม้ว่าตอนนี้การจัดการของภาครัฐนั้นจะยังคงไม่สามารถทำได้ทันที แต่ภาคประชาชนสามารถร่วมมือกันได้ แม้ว่ามันอาจจะไม่มากเท่ากับการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากภาครัฐและภาคเอกชน

สิ่งที่โลกต้องการตอนนี้คือการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็น 0 หรือ zero-emission ปล่อยเท่าไหร่ ลดเท่านั้น และยกเลิกการขุดหรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืนและร่อยหรอเร็วที่สุด ยากที่จะฟื้นฟู ภาคครัวเรือนก็ทำได้เพียงแค่ไม่เพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศโดยไม่จำเป็น แยกขยะให้ถูกวิธี ใช้ของให้เหมาะสมกับอายุการใช้งาน กินอาหารอย่างพอดี เหลือขยะอาหารให้น้อยที่สุด

ก่อนจากไป ขอย้อนกลับมาที่เรื่องราวในภาพยนตร์นิดนึง

ในความเป็นจริง ถ้าเกิดเหตุการณ์ดาวหางพุ่งเข้าชนโลกจริงๆสักวัน เราก็คงไม่รู้หรอกว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือมากขนาดไหน เพราะทุกวันนี้เราไม่เคยเจอเรื่องที่ต้องถึงกับสูญพันธุ์มนุษยชาติขนาดนั้นจริงๆสักทีแบบกระทันหัน หรือแม้จะเคยได้ยินแต่ทุกครั้งก็รอดไปได้เพราะมันเปลี่ยนวิถีเส้นทางก็มี แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมแบบนี้ที่เริ่มมีการสัญญาณเตือนมาเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่องหลายปี หลายคนก็ยังมองว่ายังไงมันก็ไปไม่ถึงหรอก เช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ผู้คนคิดว่ามันเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆล่ะ คณยอมที่จะค่อยๆสูญหายไปใช่หรือไม่

เฉกเช่นเดียวกับเรื่องล่ำลือของน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ที่หลายคนอาจมองว่า บ้าเหรอ! มันจะเกิดขึ้นได้ไง? กรุงเทพฯเนี่ยนะจะจมน้ำ นี่มันชีวิตจริงไม่ใช่หนังเรื่อง 2012 นะ แต่คุณอย่าชะล่าใจไป เพราะเราเคยหวาดเสียวกับคำทำนายไปแล้ว แต่ก็อาจเสียวสันหลังได้อีกหากคำทำนายนั้นกลับกลายมาเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือได้

งานวิจัยชิ้นใหม่โดย Climate Central แสดงให้เห็นว่าเส้นทางการปล่อยมลพิษในปัจจุบันเป็นหนทางนำไปสู่ภาวะโลกร้อนที่ร้อนขึ้น 3 องศาเซียลเซียสในเมืองใหญ่ทั่วโลกประมาณ 50 เมือง ซึ่งต้องหารทางป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะสูญเสียพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นไป จากการหนุนของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี จากการสะสมของมลภาวะในตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา และกรุงเทพฯคือหนึ่งในเมืองที่จะจมน้ำตามการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์

นี่เป็นตัวอย่างของการชะล่าใจแม้ว่าจะมีหลักฐานจากนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์มากมาย แต่คนทั่วโลกหลายล้านคนยังคงเพิกเฉยต่อการคืบคลานของหายนะ หากไม่รีบแก้ไขตอนนี้ คุณล่ะอยากเปลี่ยนแปลงไหม? ปีใหม่นี้มอบสิ่งที่ดีให้กับโลกกันเถอะ

ที่มาข้อมูล

https://climateclock.world/

related