svasdssvasds

เหตุแห่งความเกรียนหลังคีย์บอร์ดอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา

เหตุแห่งความเกรียนหลังคีย์บอร์ดอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา

ทำไมเราถึงใจ้ร้ายกับคนที่ไม่รู้จัก? ยิ่งโดยเฉพาะผ่านหน้าจอ บางคำพูด บางประโยค เราเองอาจจะไม่เคยได้ยินด้วยตัวเอง แต่พบเห็นได้ผ่านโซเชียลอยู่บ่อยครั้ง หรือ ที่ใครๆ รู้จักกันว่าเกรียนคีย์บอร์ด

ถ้าคุณได้อ่านบทความนี้อยู่ก็แสดงว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้ออนไลน์เป็นประจำ คงจะได้เคยเห็น คอมเมนต์ ในโซเชียลผ่านตามากันมาบ้าง แล้วเคยสังเกตมั้ยว่าทำไม หลายๆ คอมเมนต์ ถึงใช้คำพูดได้อย่างร้ายกาจ โจมตี ล่วงเกิน และอาจรวมไปถึง ละเมิดกฏหมายหมิ่นประมาทหรือพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยซ้ำ แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ โพสหรืออีกหลายๆ คอมเมนต์ที่พร้อมจะไหลไปกับกระแสทำร้ายกันผ่านคำพูดบนหน้าจอออนไลน์โดยไม่ยอมน้อยหน้ากัน 


จิตวิทยามีคำตอบ สาเหตุนั้นก็เพราะ 
ความนิรนาม (anonymity)

งานวิจัย "Digital Reputation" เปิดเผยว่า ผู้ใช้ออนไลน์จำนวนมากกว่า 3 ใน 10 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ยอมรับว่ามีโปรไฟล์โซเชียลมีเดียโดยไม่ใช้ชื่อจริง ภาพถ่ายจริง หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ (personally identifiable information หรือ PII) 

เหตุแห่งความเกรียนหลังคีย์บอร์ดอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา

ในโลกออนไลน์เราสามารถใช้ชื่อหรือรูปแฝงแทนตัวตนเราเองได้ การไม่ต้องแสดงตัวตนจริงของเราออกมา ทำให้กล้าแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระและลดการกลั่นกรอง ไม่ต้องคิดถึงกรอบทางศีลธรรมสังคม ความเหมาะสมหรือค่านิยม และถึงแม้จะใช้ชื่อจริงการที่เราไม่ต้องเผชิญหน้ากันก็ทำให้ไม่สนใจผลที่จะเกิดขึ้นตามมาและรับผิดชอบกับการกระทำนั้นน้อยลงด้วย

 

โลกออนไลน์ได้สร้างสภาพแวดล้อมแบบใหม่ที่เทคโนโลยีของสื่อได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการปฏิสัมพันธ์ของบุคคล อันหมายถึง การใช้สื่อดิจิทัล ได้แก่ ตัวอักษร (text) ภาพ (visual) และเสียง (audio) วาดตัวตนของเราขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาวะทางร่างกายที่แท้จริง รวมถึงภูมิหลังเกี่ยวกับตัวเรา ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ “ตัวตนที่ปรารถนาอยากจะเป็น” และ “ตัวตนที่ซ่อนอยู่” จะถูกแสดงออกอย่างอิสระภายใต้สภาพแวดล้อมของการไม่เปิดเผยตัวตนนี้ (Suler, 2002)

 

ทฤษฎีการกระจายความรับผิดชอบ (diffusion of responsibility)

ภาพจาก คลิป Cyberbullying เป็นเรื่องปกติหรอ ? ของกสทช. / NBTC Thailand

ยิ่งมีคนร่วมเยอะ ยิ่งมีความรู้สึกผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยลง เช่น เพื่อนคนที่ไม่ช่วยทำงานกลุ่ม หรือการ ล่าแม่มดในโลกออนไลน์ เมื่อมีคนเริ่ม ก็มีคนพร้อมตาม มาซ้ำเติม เพราะรู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบกับคำพูดที่พิมพ์หรือความรู้สึกผิดนั้นมีคนร่วมหารด้วย แค่อยากอยู่ในกระแสและได้ระบายความสะใจ

 

แต่ไม่ว่าเราจะใช้ตัวตนจริงหรือแฝงบนโลกออนไลน์คำพูดที่พิมพ์ออกมาสามารถสร้างบาดแผลให้กับคนที่ได้รับและทำให้เจ็บปวดได้ไม่แพ้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงต่อหน้า แล้วทางออกที่จะช่วยลดการทำร้ายกันผ่านคำพูดบนโลกออนไลน์นี้ได้อย่างไรบ้าง เราขอสรุปสั้นๆ ไว้ดังนี้ 

  • เพิ่ม ความเห็นอกเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy)
  • ลด ความคิดเข้าข้างตัวเอง ว่าทำดีแล้ว ทำถูกแล้วลง (self-serving bias
  • รอ ให้อารมณ์เย็นลง เพื่อให้สมองที่ใช้เหตุผลทำงานดีขึ้น คิด วิเคราะห์ได้ดีขึ้น ไม่วู่วามตัดสินใจด้วยความอารมณ์ชั่วครู่
  • ทบทวน ร่างข้อความที่อยากระบายความอัดอั้น พิมพ์เก็บไว้แล้วเลือกเป็น Only me “ฉันเห็นคนเดียว” เพื่อไปหาข้อมูลเพิ่ม แล้วกลับมาอ่านอีกครั้ง ถ้ายังคิดเห็นเหมือนเดิมจะเปลี่ยนให้เห็นเป็นสาธารณะ ก็ตามที่เราเห็นสมควร 

ซึ่งในปัจจุบันก็มีคนมีชื่อเสียงหรือ บุคคลสาธารณะ ที่ใช้ กฏหมายหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ที่ ดำเนินคดีกับ เกรียนคีย์บอร์ด ที่โจมตีด้วยถ้อยคำหยาบคายและทำให้เสียงชื่อเสียง เช่น 

  • เจนนิเฟอร์ คิ้ม พรพรรณ ชุนหชัย ก็ยื่นฟ้องชาวเน็ตรวมถึง 90 ราย
  • ทราย เจริญปุระ ฟ้องชนะ คดีหมิ่นประมาท ไปแล้วหลายคดีกรณีที่พาดพึงถึงการเสียชีวตของคุณแม่
  • โฟกัส จีระกุล ยื่นฟ้องหมิ่น เกรียนคีย์บอร์ด เรียก 1 ล้านบาท รวม 32 รายชื่อ ที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาฟ้องทางอาญา
  • หมอของขวัญ ฟ้อง เรียกค่าเสียหาย ไปกว่า 795 ราย 
  • อ๋อม สกาวใจ ลุยฟ้อง 4 เกรียนคีย์บอร์ด หมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายรายละ 1 ล้านบาท
    ภาพคุณทราย เจริญปุระ
    ภาพหมอของขวัญในขั้นการส่งฟ้องคดีหมิ่นประมาท

ซึ่งทุกอย่างที่อยู่บนโลกออนไลน์จะคงอยู่ไปตลอดเป็น Digital Footprint ส่วนตัวของเราที่สามารถสืบไปถึงที่มาได้ตาม IP address ที่ใช้งานจนมาถึงตัว เพราะแค่เสี้ยววินาทีที่เราพิมพ์แล้วโพสลงไป อาจจะมีคนแคปเก็บไว้แล้วกระจายต่อกันไปจนไม่สามารถควบคุมหรือตามลบได้หมดสิ้น การมีสติคิดก่อนกล่าวร้ายให้ใครไม่ว่าจะทางใด ก็เป็นผลดีกว่าทั้งนั้น ซึ่งการดำเนินคดีทางกฎหมายอาจะเป็นปลายทางหนึ่งที่ช่วยดึงสติและเป็นกรณีตัวอย่างให้กับเกรียนทั้งหลายให้เช็คกระเป๋าเงินกันก่อนว่าสามารถจ่ายค่าปรับเมื่อต้องโดนฟ้องร้องจริงๆ ขึ้นมาไหวมั้ย 

ที่มา
บทความ
เรื่องของ “ตัวตน” บนโลกของเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์ก: ขอบเขตของ “ตัวตนที่ปรารถนา” และ “ตัวตนที่เป็นจริง” พรรณวดี ประยงค์
Smarter Life by Psychology

 

related