svasdssvasds

รีเช็กเกณฑ์วัดความจน ก่อนลงทะเบียนรับบัตรคนจน ปี 2565

รีเช็กเกณฑ์วัดความจน ก่อนลงทะเบียนรับบัตรคนจน ปี 2565

จากแถลงการณ์ล่าสุดของรัฐบาลถึงการลงทะเบียนโครงการบัตรโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบปี 2565 นี้มีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช็คลิสต์คนจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เกณฑ์ไหนในการตรวจสอบความจนของเรา

TPMAP (ข้อมูลอัพเดตปี 2562) นิยาม คนจนไว้ว่า คือผู้ที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดีในมิติต่าง ๆ ซึ่ง พิจารณาจาก 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ ด้านความเป็นอยู่และด้านการเข้าถึงบริการรัฐ

การคำนวณดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI) ประกอบด้วย

ด้านสุขภาพ

  • เด็กแรกเกิดมีน้ำาหนัก 2,500 กรัมขึ้นไป
  • ครัวเรือนกินอาหารถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน
  • ครัวเรือนมีการใช้ยาเพื่อบำบัด บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นอย่างเหมาะสม
  • คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาหล์ะ 3 วัน วันละ 30 นาที

ด้านการศึกษา 

  • เด็กอายุ 3-5 ปี ได้รับบริการเลี้ยงดูเตรียมความพร้อมก่อนวัยเรียน
  • เด็กอายุ 6-14 ปีได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี
  • เด็กจบชั้น ม.3 ได้เรียนต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่า
  • คนอายุ 15-59 ปี อ่าน เขียนภาษาไทย และคิดเลขอย่างง่ายได้

ด้านรายได้

  • คนอายุ 15-59 ปี มีอาชีพและรายได้
  • คนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาชีพและรายได้
  • รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปี

    ภาพประกอบจาก PIxabay

ด้านความเป็นอยู่

  • ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและบ้านมีสภาพคงทนถาวร
  • ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคอย่างเพียงพอตลอดปีอย่างน้อยคนละ 5 ลิตรต่อวัน
  • ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 45 ลิตรต่อวัน
  • ครัวเรือนมีการจัดการบ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดและถูกสุขลักษณะ

ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ

  • ผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
  • ผู้พิการได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน

 

*ครัวเรือนที่ไม่ผ่าน เกณฑ์ตัวชี้วัดตัวใด ตัวหนึ่ง ถือว่าตกเกณฑ์ MPI พบว่าภาพรวมคนจนของประเทศไทยในปี 2562 มีคนจน 983,316 คน จากประชากรสำรวจ 36,893,084 คน*


ในส่วนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี (ข้อมูลอัพเดต ปี 2563) 

ได้ให้นิยามในส่วนของความจน แบ่งไว้ดังนี้

  • จำนวนคนจน หมายถึง จำนวนประชากรที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน ต่ำกว่าเส้นความยากจน
  • จำนวนครัวเรือนยากจน หมายถึง จำนวนครัวเรือนที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน ต่ำกว่าเส้นความยากจน
  • เส้นความยากจนโดยเฉลี่ยทั่วประเทศ อยู่ที่ 2,762 บาทต่อ/เดือน ซึ่งคำนวณจากต้นทุนหรือมูลค่าในการได้มาซึ่งอาหารและสินค้าบริการในหมวดที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตขั้นต่ำของปัจเจกบุคคลเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม

 

โดยจากผลการสำรวจพบว่าในปี 2563 ประชาชนได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐเฉลี่ยทั้งปีที่อยู่ที่ 13,473 บาทต่อ/คน/ปี หรือเฉลี่ยประมาณ 1,123 บาท/คน/เดือน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของเส้นความยากจน

 

กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคมได้เผยแพร่รายงาน ภาวะสังคมไทย ในไตรมาสสามของปี 2564 ผลออกมาพบว่า

  • อัตราการว่างงาน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.25 สูงที่สุดตั้งแต่มีการระบาดโควิด-19
  • หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 คิดเป็น 89.3 ต่อ GDP 
  • ผู้มีงานทำมีจำนวน 37.7 ล้านคน 
  • ผู้ว่างงานมีจำนวน 8.7 แสนคน 
  • มูลค่าหนี้ครัวเรือนเพิ่มเป็น 14.03 ล้านล้านบาท
     

ทั้งนี้จากรายงานเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมาของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าจะมีการเพิ่มการรับลงทะเบียนคนจนนี้อยู่ที่ 15 ล้านคน แต่เมื่อวัน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าจะมีประมาณ 20 ล้านคนเข้าลงชื่อ ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่กระทรวงการคลังประกาศถึง 31 ธ.ค.2565

ซึ่งคุณสมบัติคนจนที่สามารถยื่นลงทะเบียนเพื่อรับ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ของปี 2565 มีดังนี้ 

  • สัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
  • ไม่เป็น ภิกษุ นักบวช หรือ ผู้ต้องขัง และ พนักงานข้าราชการประจำและลูกจ้าง รวมทั้งข้าราชการการเมือง
  • บุคคล (ต่อปี) และครอบครัว (เฉลี่ยต่อคนต่อปี) รายได้ไม่เกิน 100,000 บาท
  • มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตรและตราสารหนี้ภาครัฐ บุคคล (ต่อปี) และครอบครัว (เฉลี่ยต่อคนต่อปี) ไม่เกิน 100,000 บาท
  • วงเงินกู้บ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท หรือ วงเงินกู้รถไม่เกิน 1 ล้านบาท
  • ต้องไม่มีบัตรเครดิต
  • ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือ เกษตรกร มีที่ดิน ไม่เกิน 10 ไร่ ไม่ใช่เกษตรกร มีที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ บ้าน ไม่เกิน 25 ตารางวา ห้องชุด ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
  • ผู้ถือบัตรสวัสดิการเก่า ต้องลงทะเบียนใหม่

ปัญหาสำคัญในการให้คนจนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์กำหนดได้รับการเยียวยาช่วยเหลือที่สำคัญเลยคือ สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต และทักษะดิจิทัล เพราะมาตราการจากรัฐบาลต่างๆ ที่ออกมาต้องใช้เพื่อลงทะเบียนรับสิทธิ์ โครงการเราไม่ทิ้งกัน เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ภาพรวมปี 2563 ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมีสมาร์ทโฟนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.27 แต่กลับเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 54.22 เท่านั้น รวมถึงผลการศึกษาของรุ่งเกียรติ (2564) ระบุว่ายังมีครัวเรือนไทยถึงร้อยละ 18 ที่มีทักษะความรู้ด้านดิจิทัลต่ำ โดยคนกลุ่มนี้ มักเป็นคนตกงานหรือท้างานที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายของการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ

 

โดยในรอบนี้มีการเปิดลงทะเบียนแบบ walk-in และออนไลน์ ซึ่งมีหน่วยงานที่เป็นจุดรับเรื่อง ดังนี้

  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • กรมบัญชีกลาง
  • กระทรวงมหาดไทย (ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ)
  • สำนักงานเขตกรุงเทพมหานาคร
  • สำนักงานเมืองพัทยา หรือ ณ สถานที่ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนกำหนด
  • ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์โครงการกำหนด

 

จึงคาดว่าจะทำให้ผู้ที่เคยลงทะเบียนไว้เดิมในรอบที่แล้วและผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สามารถเข้ามายื่นแสดงตัวขอรับสิทธิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนในรอบนี้


ที่มา
กองพัฒนาข้อมูลและตัวชีวัดสังคม ส้านักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
TPMAP

 

related