svasdssvasds

คนไทยใช้รถส่วนบุคคลมากถึง 42 ล้านคัน ทำไม? คนยังใช้รถสาธารณะน้อย

คนไทยใช้รถส่วนบุคคลมากถึง 42 ล้านคัน ทำไม? คนยังใช้รถสาธารณะน้อย

ปัจจุบันรถยนต์ได้เป็นปัจจัยหลักในการใช้ชีวิตไปแล้ว แต่การซื้อรถส่วนบุคคลจำเป็นต้องใช้เหตุผลและคำนึงถึงค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นเงินจำนวนไม่น้อย และทำไมคนไทยถึงนิยมใช้รถส่วนตัวมากกว่ารถสาธารณะ

เชื่อว่าคนในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในเมืองหรอนอกเมือง ต่างจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร มีความจำเป็นต้องใช้รถกันมากขึ้น เนื่องจากขนส่งสาธารณะเมืองไทยไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ 

อีกทั้งมารยาทในการขับขี่ของขนส่งสาธารณะ เช่น รถประจำทาง,มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือ แท๊กซี่ ก็ยังต้องลุ้นกันว่าจะได้คนขับแบบไหน ซึ่งบางครั้งกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมตรงนี้ สังเกตได้ว่ามีคลิปการขับขี่ที่แย่ของขนส่งสาธารณะในโซเชียลบ่อยๆ

ดังนั้นผู้คนที่มีทางเลือกและโอกาสในการซื้อรถยนต์จึงมีมาก ทำให้รถยนต์ในประเทศไทยปัจจุบันมีสูง สถิติข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก พบว่าการจดทะเบียนรถทั่วประเทศ ณ วันที่ 22 ก.พ. 2565  รถยนต์ในประเทศไทยมีมากถึง 42,518,215 คัน และเฉพาะในกรุงเทพมหานครมีรถยนต์จดทะเบียนสูงถึง 11,304,846 คัน ซึ่งไม่แปลกเลยที่จะทำให้ท้องถนนในกรุงเทพมหานครแออัดและเกิดรถติดได้หลายชั่วโมง


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

แต่อย่างไรก็ตามรถยนต์ก็มีความจำเป็นสำหรับใครหลายคนทั้งข้อดีเรื่อง ความสะดวกสบายในการเดินทาง ระยะเวลาในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ต่างๆ ที่ขนส่งสาธารณะอาจให้ไม่ได้มากพอที่คนจะเลือกใช้ ยกตัวอย่างเช่น

นาย A พักอาศัยอยู่ที่รังสิต ทำงานอยู่ที่สยาม ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าสะดวกสบายในการเดินทาง BTS 

แต่จริงๆแล้วนาย A ต้องเริ่มนั่งวินมอเตอร์ไซค์หรือแท๊กซี่ออกจากบ้าน เพื่อจะไปขึ้นรถตู้เพื่อไปที่ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต และต่อรถตู้เพื่อไปที่ BTS หมอชิต และจาก BTS หมอชิตจึงนั่งต่อไปที่สยาม และถ้าหากที่ทำงานไม่ได้อยู่ติด BTS ยังต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์ต่อไปที่ทำงานอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่ค่าใช้จ่ายที่ทำให้นาย A หรือลูกจ้างรับเงินเดือนคนอื่นๆอยากออกรถยนต์ แต่มลภาวะทางอากาศ การจราจรที่แออัด ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เราสามารถประมาณคร่าวๆได้ว่ามีค่าใช้จ่ายในการเดินทางอย่างต่ำวันละ 200 บาทขึ้นไป ถึงแม้ใช้ขนส่งสาธารณะก็ตาม ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาท

ซึ่งทั้งเดือนจะอยู่ที่ 9,930 บาทเท่านั้น และยังไม่นับว่ามีวันหยุดและอยากเดินทางไปพักผ่อนหรือเที่ยวในเมืองหรือต่างจังหวัด จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประเทศไทยยังดูไม่สมเหตุสมผลกับค่าครองชีพหรือค่าแรง ทำให้ใครหลายคนมีปัญหามากกับการเดินทาง


 

เช่น สาเหตุทางครอบครัวที่อาจต้องใช้รถยนต์ฉุกเฉิน ผู้สูงอายุ มีเด็กเล็กหรือสัตว์เลี้ยงต้องดูแล หรืออาจจะอยากไปเที่ยวพักผ่อนทางจังหวัดบ้าง พนักงานเงินเดือนบางคนยอมใช้เงินเดือนชนเดือนเพื่อผ่อนรถยนต์ เพราะขนส่งสาธารณะไม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้กับพวกเขาได้ และนี่คือเหตุผลเพียงเล็กน้อยที่ใครหลายคนยอมลงทุนที่จะผ่อนรถยนต์ ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องกัดฟันซื้อเพราะจำเป็น ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียว

โดยผลวิจัยอิทธิพลและปัจจัยต่างๆที่คนยังเลือกใช้ขนส่งสาธารณะมีดังนี้ 

รถไฟฟ้า BTS 

อ้างอิงจากวิจัย ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส  โดย นางสาววริศรา เจริญศรี 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้บริการบีทีเอสต่อไปในอนาคต คือปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ในเรื่องของระบบรถไฟฟ้ามีความตรงต่อเวลา ระบบรถไฟฟ้ามีความปลอดภัย และมีขบวนรถไฟฟ้าเหมาะสมกับผู้ใช้บริการ ซึ่งผู้โดยสารได้คำนึงถึงถึงสิ่งเหล่านี้ในการใช้บริการ 

เนื่องจากหากขบวนรถมีความล่าช้าหรือจำนวนขบวนรถน้อยจนไม่สามารถรองรับผู้โดยสารทั้งหมดได้ในช่วงเวลาเร่งด่วน ผู้ใช้บริการก็จะมองหาวิธีการเดินทางอื่นๆที่ทำให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยและทันเวลา ปัจจัยด้านราคาที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้บริการบีทีเอสต่อไปในอนาคต จะอยู่ในเรื่องของราคาเหมาะสมกับระยะทาง ราคาเหมาะสมกับความสะดวกสบายในการเดินทาง

ทั้งนี้เนื่องจากการเดินทางแต่ละครั้ง ผู้โดยสารได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายว่ามีความเหมาะสมกับระยะทางหรือไม่และยังคำนึงถึงเรื่องความสะดวกสบายในการเดินทางว่าคุ้มค่ากับที่จ่ายไปหรือไม่เทียบกับการเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ หากรถไฟฟ้าบีทีเอสมีราคาที่เหมาะสมกับความสะดวกสบายและเหมาะกับระยะทาง ก็จะทำให้มีผู้มาใช้บริการมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ในส่วนของปัจจัยด้านส่งเสริมการตลาด เรื่องที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้บริการบีทีเอสต่อไปในอนาคต คือร้านค้าที่ร่วมโปรโมชั่นมีความเหมาะสม หลากหลายน่าสนใจหรือไม่

หากร้านค้าที่มาให้บริการบนสถานีมีความน่าสนใจก็จะช่วยดึงดูดให้มีผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้มากยิ่งขึ้น ส่วนปัจจัยด้านบุคคล เรื่องที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้บริการบีทีเอสต่อไปในอนาคต คือเจ้าหน้าที่ในสถานีมีความสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมและปฏิบัติตามกฎระเบียบได้อย่างครบถ้วน เช่นเป็นพนักงานตรวจกระเป๋าสัมภาระ และเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยความสะดวกภายในสถานี ซึ่งจะทำให้ผู้มาใช้บริการมีความเชื่อมั่นในตัวเจ้าหน้าที่มากขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่และสามารถให้บริการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในส่วนของปัจจัยด้านลักษณะทางกายภาพนั้น เรื่องที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้บริการบีทีเอสต่อไปในอนาคตคือผู้ใช้บริการได้ให้ความสนใจในเรื่องของเครื่องทำความเย็นภายในตัวรถมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป เนื่องจากหากอุณหภูมิในตัวรถสูงและมีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก ก็จะทำให้เกิดความอึดอัดและทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดขึ้นมาได้ ซึ่งอุณหภูมิตัวรถจะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้

รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT

อ้างอิงจากวิจัย ทัศนคติของประชาชนต่อการลดมลภาวะด้วยการใช้รถไฟฟ้า MRT ในยุค New Normal กรณีศึกษาประชากรในแขวงจตุจักร โดย ปาลิตา ทองเต็ม 

ทัศนคติของประชาชนต่อการลดมลภาวะด้วยการใช้รถไฟฟ้า MRT ในยุค New Normal กรณีศึกษาประชากรในแขวงจตุจักร ในภาพรวมระดับมาก โดยความเห็นที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ การใช้บริการรถไฟฟ้าทำให้การเดินทางไปยังที่หมาย มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และความเห็นที่ได้คะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้ามีความเหมาะสม และคุ้มค่าต่อระยะทาง

ซึ่งทำให้เราเห็นได้ว่าปัจจุบันคนเลือกใช้ BTS และ MRT เพราะหลีกเลี่ยงจราจร และต้องการความรวดเร็วในการเดินทาง และคนรุ่นใหม่ยังต้องการช่วยลดมลภาวะอีกด้วย 

ตั้งแต่ช่วง New Normal เข้ามา ทางขนส่งสาธารณะก็ได้มีการปรับปรุงและเข้มงวดในการเฝ้าระวังโรคระบาดมากยิ่งขึ้น คนจึงเริ่มหันมาใช้ขนส่งสาธารณะกันมากกว่าช่วงก่อนๆ

แท๊กซี่มิเตอร์ (Taxi Meter) 

อ้างอิงจากการวิเคราะห์คุณภาพบริการของผู้ใช้บริการแท็กซี่ด้วยแบบจำลองคาโน: การพัฒนาในมุมมองผู้โดยสาร โดย ธนัตถ์ภัทร ถิรธนัชดิลก และ ประสพชัย พสุนนท์

มีข้อมูลจากวิจัยมีบางประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ผู้โดยสารไม่ได้กังวลเรื่องอัตราค่าโดยสาร เนื่องจากราคาค่าโดยสารที่ต้องจ่ายถูกแสดงไว้บนมิเตอร์แท็กซี่เรียบร้อยแล้ว แต่ผู้โดยสารมีความกังวลในเรื่องการไม่กดมิเตอร์และใช้การเหมาเที่ยวมากกว่า โดยเฉพาะในนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวใประเทศไทย ประเด็นด้านความเก่าใหม่ของตัวรถ ประเภทสีของรถแท็กซี่ และอุปกรณ์เสริมบริการให้ผู้โดยสาร 

เช่น สายชาร์จโทรศัพท์ สัญญาณ WIFI มีผลเพียงเล็กน้อยต่อผู้โดยสารเนื่องจากผู้โดยสารไม่ได้เลือกประเภทแท็กซี่และสีรถแท็กซี่ในการใช้บริการหรือการมีอุปกรณ์เสริมให้บริการ รถแท็กซี่คันไหนมาถึงก่อนก็ใช้บริการคันนั้น

และผู้โดยสารต้องการเดินทางถึงจุดหมายด้วยความปลอดภัยมากกว่า อีกทั้งตระหนักถึงมารยาทการชวนคุยของพนักงานขับรถว่า ต้องมีความเหมาะสมและพอดีเช่นไม่ชวนพูดคุยเรื่องการเมือง หรือไม่ชวนคุยกับผู้โดยสาร หากสังเกตได้ว่าผู้โดยสารไม่พร้อมคุยด้วย เป็นต้น


 

related