svasdssvasds

PDPA อาญาสิทธิ์ ที่ Creator ต้องรู้ คนดูต้องฟัง

PDPA อาญาสิทธิ์ ที่ Creator ต้องรู้ คนดูต้องฟัง

เมื่อกฎหมาย PDPA เริ่มต้นใช้งานอย่างเป็นทางการเพื่อรักษาสิทธิ์ ทวงสิทธิ์ จำกัดสิทธิ์ ท่ามกลางการเติบโตของเหล่า Content Creator ที่เกิดใหม่ เติบโตกันเป็นดอกเห็ด อะไรคือผลกระทบที่ Creator พึงระวัง และสำหรับผู้เสพ Content อะไรคือสิทธิ์ ที่พึงรักษา

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระบุว่า เหล่าผู้ผลิตคอนเทนท์ ซึ่งมีอยู่มากมายในโซเชี่ยลมีเดียแพลตฟอร์ม ต่างๆ ที่ประเทศไทยมีใช้ในปัจจุบัน ควรทำความเข้าใจ รวมถึงประชาชน บุคคลทั่วไป ที่ควรรับทราบถึงกฎหมาย PDPA ในการรักษาสิทธิ์ ปกป้องสิทธิ์ และจำกัดสิทธิ์ ฉบับนี้ 

"ข้อมูลส่วนบุคคล" คืออะไรบ้าง ?

นายไพบูลย์ ระบุว่า รูปภาพ เสียง กิรยาท่าทาง หรือข้อมูลอื่นใดที่ระบุตัวตนของเจ้าของได้ ซึ่งรวมถึงข้อมูลทางระบบออนไลน์ เช่น ไลน์ไอดี อีเมล์แอดเดรส ฯลฯ

ซึ่งการถ่ายภาพ ต้องดูวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะ กรณีที่ไม่ใช่สื่อมวลชน ถ้าวัตถุประสงค์เพื่อใช้ส่วนตัว ดูกันเองส่วนตัวนั้น ไม่ผิด แต่หากมีการโพสต์ผ่านระบบออนไลน์ ที่สื่อสารออกไปเป็นสาธารณะ แล้วผู้ไม่เกี่ยวข้องนั้นได้รับผลกระทบ หรือเกิดความเสียหาย บุคคลนั้นก็มีสิทธิ์ร้องเรียนได้ 

"แต่หลักสำคัญคือ ต้องอธิบายความเสียหายที่ได้รับได้ กรณีที่มีภาพติดไปเฉยๆ แต่แค่ไม่ต้องการให้ใช้ โดยไม่สามารถอธิบายความเสียหายได้นั้น ไม่ถึอว่าผู้โพสต์ มีความผิด ส่วนกรณีที่เป็นสื่อมวลชนที่มีทะเบียน มีตัวตนชัดเจน มีข้อยกเว้น เนื่องจากสื่อมวลชนมีประมวลจริยธรรมกำกับอยู่แล้ว"

ที่ปรึกษา กทธ.ฯ ระบุต่ออีกว่า ส่วนกรณี สื่อสมัครเล่น เช่น Youtuber ซึ่งไม่ใช่สื่อมวลชนอาชีพ จะไม่ได้รับการยกเว้น กฏหมายจะยกเว้นให้ในกรณี วัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะชน แต่กรณี ทำรีวิว ทำคอนเทนท์ เพื่อแสวงหากำไร ไม่เข้าเกณฑ์ในการยกเว้น ทางออกคือ การขออนุญาตเป็นเรื่องเป็นราว หรือมาเบลอภาพบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป

ถ้าโดนละเมิดสิทธิ์ตามกฎหมาย PDPA แล้วต้องทำอย่างไร ?

นายไพบูลย์ ระบุว่า สามารถดำเนินการได้สามช่องทาง คือ

  • เรียกร้องค่าเสียหาย : หากต้องการเรียกร้องค่าเสียหายก็ต้องไปดำเนินการผ่านศาลแพ่ง
  • คดีอาญา : การดำเนินคดีทางอาญา ก็สามารถดำเนินการผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้
  • ร้องเรียนตามขั้นตอน : ส่วนที่สามคือ ใช้กลไกการร้องเรียนผ่านคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ซึ่งหลักการคือ คณะกรรมการต้องประเมินเหตุในการร้องเรียนว่าผิดเรื่องอะไร ค่าเสียหายเป็นอย่างไร และต้องการร้องขอการเยียวยาอย่างไร ซึ่งหากคณะกรรมการพบว่า เป็นการร้องเรียนที่เสมือนการกลั่นแกล้งกัน ไม่มีสาระเหตุผล ก็จะตัดเรื่องออกทันที

แต่หากพบว่ามีมูลความเสียหาย ก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญตามกฎหมายมาร่วมพิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าว โดยหากพบว่ามีความผิดจริงจะมีคำสั่งให้แก้ไขก่อน โดยในปีแรกนี้จะเน้นที่การสั่งการให้แก้ไข แต่หากเป็นเรื่องการลงโทษปรับ ต้องมีข้อพิจารณาอื่นอีก เช่น เกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นวงกว้าง แต่หากผู้เสียหายไปร้องเรียนผ่านช่องทางศาลแพ่ง หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานนั้นๆ ก็อาจขอความร่วมมือมายังคณะกรรมการฯ เพื่อให้ความเห็นว่าผิดจริงหรือไม่ด้วยเช่นกัน

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

 

ถ้าไม่ใช่สื่อมวลชน จะขออนุญาตตาม กฎหมาย PDPA อย่างไร

นายไพบูลย์ ระบุว่า กฎหมายเขียนว่า ความยินยอมต้องเป็นหนังสือ หรือเป็นสื่ออีเลคทรอนิกส์ ซึ่งสามารถใช้กล้องถ่ายบันทึกการขออนุญาตเลยก็สามารถทำได้ หรือการส่งข้อความไลน์ ไปขออนุญาต ซึ่งหากได้รับการอนุญาตตอบกลับมาก็ถือเป็นสื่ออีเลคทรอนิกส์ที่สามารถใช้ยืนยันความยินยอมได้ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนที่เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สมาคมที่เป็นทางการ เช่น สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สภาการวิชาชีพสื่อมวลชน หรืออื่นๆ และทำหน้าที่ เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ สามารถถ่ายได้ ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย

ส่วนกรณีที่เป็น เพจเฟซบุ๊ก หรือ Youtuber ที่ผลิตคอนเทนท์โดยไม่แสวงหารายได้ ก็สามารถนำเสนอเนื้อหาได้เช่นกัน แต่เมื่อไหร่ที่มีการแสวงหารายได้จากเนื้อหาดังกล่าว ถือว่าเป็นการละเมิดได้ จำเป็นต้องเบลอภาพบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือขออนุญาตอย่างเป็นทางการเป้นหนังสือ หรือ ผ่านสื่ออีเลคทรอนิกส์