svasdssvasds

บริการจิตเวชทางไกล ตัวช่วยผู้ป่วยซึมเศร้าและไบโพลาร์

บริการจิตเวชทางไกล ตัวช่วยผู้ป่วยซึมเศร้าและไบโพลาร์

ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด19 ทำให้หลาย ๆอย่าง หยุดชะงัก ผู้ป่วยทางจิตเวชหลายท่านอาจไม่ได้พบแทย์อย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลเสียต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่นไบโพลาร์ ซึมเศร้า โรคทางจิตเวชอื่นๆ จากสถานการณ์ที่ยังไม่ดีขึ้น

จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าประมาณ 5% ของประชากรโลกป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ ขณะที่มีผู้ป่วยเพียง 1-2% เท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งอายุเฉลี่ยของการเกิดโรคไบโพลาร์ คือ อายุ 20 ปี โดยอัตราความชุกของโรคไบโพลาร์ มักจะเกิดขึ้นในผู้หญิงที่ 3.3% ซึ่งมากกว่าในผู้ชายที่ 2.6%

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพจิต หลายคนได้รับผล กระทบจากความเครียดที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคไบโพลาร์ รวมถึงโรคทางจิตเวชอื่นๆ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคได้

จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่สังคมไทยควรต้องตระหนักรู้ถึงโรคไบโพลาร์ เพื่อให้ครอบครัวและคนใกล้ชิดเกิดความเข้าใจอาการและพฤติกรรมของโรคสนับสนุนให้บุคคลอันเป็นที่รักเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งเป็นหลักที่ทำให้โรคไบโพลาร์สามารถรักษาหายได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในปัจจุบัน การเข้าถึง การรักษาอาการซึมเศร้า ไบโพลาร์ และปัญหาสุขภาพจิต สามารถทำได้ที่บ้าน โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้บริการ ด้วยระบบ ที่มีชื่อว่า จิตเวชทางไกล หรือ Telepsychiatry คือ การบริการที่ครอบคลุมทุกการรักษาผู้ป่วย

ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาตรวจวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ บริการให้คำปรึกษาเรื่องยาจิตเวชทางไกลโดยเภสัชกร บริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตและจิตเวช จิตบำบัดทางไกลโดยนักจิตวิทยาคลินิก บริการให้การฟื้นฟูสมรรถภาพโดยทีมฟื้นฟูสมรรถภาพ

โดยในอนาคตกรมสุขภาพจิตจะดำเนินการพัฒนาระบบบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการตรวจรักษาจากแพทย์ได้สะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น ช่วยลดระยะเวลา ความแออัดในรพ. ลดควมเสี่ยงของไวรัสโควิด-19

เกณฑ์การคัดกรองผู้ที่ได้รับบริการจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry)

  1. เป็นผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าที่เคยมีประวัติการรักษาทางจิตเวชในหน่วยงาน และประเมินแล้วอยู่ในระดับคงที่หรือระดับเล็กน้อย
  2. เป็นผู้ป่วยที่ไม่สะดวกเดินทางและแพทย์พิจารณาเห็นควรให้บริการตรวจรักษาแบบจิตเวชทางไกล เช่น ผู้ป่วยนิติจิตเวชในเรือนจำ/ทัณฑสถาน/สถานพินิจ ผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในพื้นที่เครือข่ายที่อยู่ห่างไกลและเดินทางลำบาก
  3. เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่เข้าเกณฑ์ SMI-V หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภาวะอันตราย
  4. เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ญาติ/ผู้ดูแลยินยอมรับบริการลงนามทำข้อตกลงการบริการตรวจจิตเวชทางไกล
  5. เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะวิกฤต และไม่มีโรคทางกาย/ทางสมองที่ต้อง ดูแลอย่างใกล้ชิด

ซึ่งการเข้ารับบริการ สามารถทำได้เพียง 3 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 การให้บริการก่อนวันนัดหมาย

  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตตามเกณฑ์การประเมิน สามารถเข้ารับการตรวจรักษาจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry) ได้โดย Galya official โทร02-441-6100 หรือแจ้งด้วยตนเองตามสถานที่รักษา
  • พยาบาลจะแนะนำการใช้บริการ Telepsychiatry ในการ ลงทะเบียนข้อมูล การนัดหมายวัน/เวลา ชื่อ/สกุล อายุ เบอร์โทร ID Line สิทธิการรักษาของผู้รับบริการ และชื่อแพทย์ที่นัดหมาย
  • ก่อนนัดหมาย 1 วัน จะมีการติดต่อ เพื่อยืนยันวันเวลาที่นัดหมาย และแจ้งรายชื่อ/ลำดับคิวผู้รับบริการ ให้กับทีมผู้รักษาทราบ ผ่านทาง line ID

ขั้นตอนที่ 2 การให้บริการในวันนัดหมาย

  • ยืนยันตัวตน และรับการประเมินอาการ สภาพจิตก่อนพบแพทย์
  • แพทย์ให้บริการตรวจรักษา และสั่งยาพร้อมให้ความรู้ในการใช้ยา ชำระค่าบริการ นัดหมายในครั้งต่อไป

ขั้นตอนที่ 3 การให้บริการหลังสิ้นสุดการบริการ

จะมีการติดตามสถานะการบริการ และจะมีการให้ประเมินความพึงพอใจ หรือเสนอแนะ ต่อการบริการ Telepsychiatry ของหน่วยงาน หลังสิ้นสุดการบริการทุกครั้ง โดยผ่านช่องทางการสื่อสาร/ตอบกลับ ได้แก่ Line Official

เป็นเรื่องที่ดี เมื่อมีการสนับสนุนให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต เข้าถึงการรักษาอย่างถูกวิธี ในอีกมุม สังคมควรเข้าใจผู้ป่วย เนื่องจากโรคไบโพลาร์และโรคซึมเศร้า เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่งที่มีการขึ้นและลงของอารมณ์อย่างรุนแรง ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ คนในครอบครัวและคนรอบข้าง จึงมีบทบาทสำคัญที่จะพูดในเชิงบวกเพื่อให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ  โรคไบโพลาร์อาการซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการใช้ยาเป็นหลัก และอาจมีการใช้จิตบำบัด คู่กันไปด้วย เพื่อการอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติในสังคม