svasdssvasds

คาร์บอนเครดิต คืออะไร? ทำไมหลายประเทศจึงต้องเร่งสร้างคาร์บอนเครดิต?

คาร์บอนเครดิต คืออะไร? ทำไมหลายประเทศจึงต้องเร่งสร้างคาร์บอนเครดิต?

โอกาสใหม่โลกธุรกิจ คาร์บอนเครดิต คืออะไร มาจากไหนบ้าง ราคาเท่าไหร่ เกี่ยวข้องกับใคร ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมยังไง Springnews ชวนทำความเข้าใจคำว่า คาร์บอนเครดิต แบบเข้าใจง่าย ๆ

ข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมหรือนโยบายสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า คาร์บอนเครดิต ที่เป็น Keyword สำคัญที่ถูกพูดอย่างแพร่หลายในหลายนโยบายของต่างประเทศ รวมถึงของไทยเราเองด้วย ดังนั้น บทความนี้จะอธิบายถึงวลีคำว่า Carbon Credit ว่าคืออะไร

ในทุกวันนี้เพื่อต่อสู้กับวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภัยปรากฎการณ์ธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ทางสหประชาชาติและผู้นำต่างประเทศหลายคน จึงได้จัดการประชุมและร่างสัญญาเพื่อให้เป็นพันธมิตร ร่วมมือกันทำตามนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการประกาศใช้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือที่เรียกว่า อนุสัญญา UNFCCC) ที่มีผลใช้บังคับไปเมื่อปีพ.ศ.2537

แต่โดยส่วนใหญ่ ปริมาณการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก มาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก จึงได้มีการใช้กลไกตลาดเพื่อจูงใจอุตสาหกรรมให้หันมาลดการปล่อยก๊าซมากขึ้น จึงได้ริเริ่มการซื้อขายที่เรียกว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ขึ้นมา

โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน คาร์บอนเครดิต คืออะไร?

สิ่งนี้เปรียบเสมือนสินค้าที่แต่ละบริษัทได้มาจากการทำกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้  การปลูกต้นไม้เพิ่มสีเขียว นอกจากจะส่งเสริมรายได้ชุมชนจากการที่โรงงานจ้างปลูกแล้ว ยังช่วยในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ผู้ขายจะใช้วิธีการวัดขนาดต้นไม้ ความสูง ความกว้าง เส้นรอบวง ต่าง ๆของต้นไม้และนำข้อมูลทั้งหมดไปให้ อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)) เป็นผู้คำนวนคาร์บอนเครดิตที่ได้จากต้นไม้เหล่านี้ให้

หลังจากนั้นบริษัทอุตสาหกรรมนั้นจะได้ใบรับรองในการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตที่ตนผลิตได้ เผื่อนำไปขายในอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องการคาร์บอนเครดิต

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

อุตสาหกรรมต้องการคาร์บอนเครดิตไปเพื่ออะไร?

เพราะมันคือเครดิตที่เป็นเสมือนเป็นกรรมสิทธิ์ให้โรงงานที่ซื้อไปมีสิทธิในการปล่อยก๊าซในกระบวนการผลิตของตนเพิ่ม หลังมีความจำเป็นต้องปล่อยเพิ่มมากกว่าโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิที่ได้รับ ประเทศผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตได้ดังกล่าวจะสามารถทำการซื้อหรือขายกับประเทศผู้ผลิตอื่น ๆ ได้ด้วย

หลายประเทศที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก ในบางครั้งการผลิตอาจไม่เพียงพอในปริมาณที่ถูกกำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอเครดิตในการปล่อยก๊าซเพิ่ม นั่นคือการไปซื้อคาร์บอนเครดิตของผู้ผลิตดังกล่าว เพื่อให้โรงงานของตนสามารถปล่อยก๊าซได้เพิ่มขึ้น แต่อยู่ในขอบเขตที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้น

คาร์บอนเครดิตเหมือนสินค้า ซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อมีกรรมสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซมากขึ้น ตลาดคาร์บอนเครดิตคืออะไร?

Carbon market เป็นเหมือนสถานที่หรือชุมชนที่ไว้ใช้แลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งก็คือ คาร์บอนเครดิต กับผู้ซื้อหรือผู้ขาย หรือกับบุคคลอื่น ๆ ที่มีความต้องการเครดิต ตลาดคาร์บอนถูกจัดขึ้นเพื่อมุ่งสู้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

นอกจากนี้ ตลาดคาร์บอนยังเป็นตัวกลางในการดำเนินการซื้อขายคาร์บอน ที่สามารถส่งผลถึงการประสบความสำเร็จทางอ้อมของการกำหนดราคาสินค้าบนพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงปริมาณการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ

ตลาดคาร์บอนเครดิตแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

ตลาดคาร์บอนทางการหรือภาคบังคับ (Mandatory market / Compliance market / Regulated market)

หน่วยงานรัฐจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นผู้กำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตลาดนี้จะอยู่ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ หรือประเทศมีรายได้ปานกลางไปจนสูง โดยมีเป้าในการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน (Joint Implementation : JI)

ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงในโครงการ JI จะเรียกว่า Emission Reduction Units (ERUs) มีค่าเท่ากับ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเนื่องจากกรณีของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะต้องควบคุมตามกลไกที่เรียกว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการจัดสรรและอนุญาตให้ปล่อย (assigned amounts units : AAUs) ซึ่งจะจัดสรรการซื้อขายคาร์บอนระหว่างประเทศได้อย่างตรงจุดและเป็นธรรม และเป็นไปตามพันธกรณี

ยกตัวอย่าง ตลาด EU Emission Trading Scheme (EU ETS) ของสหภาพยุโรปที่จัดตั้งขึ้นในปี 2005 เพื่อรองรับกลไกพิธีสารเกียวโตระหว่างปี 2008-2012 ด้วยการกำหนดระบบการค้าคาร์บอนแบบ ‘Cap and Trade’ หรือก็คือ มีการกำหนดเพดานการลดก๊าซเรือนกระจกและจัดสรรสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซ โดยอนุญาตให้ปล่อยได้ในอุตสาหกรรมปลายน้ำได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การผลิตพลังงานไฟฟ้า กระดาษและเยื่อกระดาษ ซีเมนต์และกระจก และอุตสาหกรรมจำพวกเหล็ก

ตลาดแบบสมัครใจ (Voluntary market)

ประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในตลาดนี้ เนื่องจากยังมีผู้ซื้อผู้ขายไม่มากพอ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดนี้จะเรียกว่า Verified Emission Reductions (VERs) สมาชิกในตลาดนี้ไม่สามารถขอใบรับรองจากหน่วยงานกลางเจ้าของโครงการ หรือคณะกรรมการกลางอย่าง UNFCCC ได้

แต่ละโรงงานหรืออุตสาหกรรมจะไม่ได้ถูกเคร่งมากนัก ใครอยากทำขายก็ได้ตามความสมัครใจ แต่เราจะมีตัวกลางในการคำนวนและออกใบรับรองให้คือ อบก. หรือ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดูแลให้กับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย

คาร์บอนเครดิตหาได้จากไหน?

อุตสาหกรรมต่าง ๆ เขาไปหาคาร์บอนเครดิตมาจากไหน แล้วคาร์บอนเครดิตหาได้จากอะไรบ้าง นี่คือคำถามสำคัญสำหรับผู้ที่อยากลงลุยพันธสัญญานี้บ้าง

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างง่ายเลย คือ การปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหากสังเกตดี ๆ หลายอุตสาหกรรมเริ่มมีนโยบาย กิจกรรมอาสาต่าง ๆ ในการลุยปลูกป่าหรือกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม นี่แหละคือแหล่งกำเนิดคาร์บอนเครดิต

ยกตัวอย่าง บริษัทหนึ่งจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่หลายไร่ ลองคำนวณดูก่อนสัก 1 ไร่ 1ไร่นี้มีต้นไม้กี่ต้นที่เป็นไม้ยืนต้น มีความสูงเท่าไหร่ กว้างเท่าไหร่ เส้นรอบวงเท่าไหร่ เป็นต้น ส่งข้อมูลทั้งหมดนี้ให้กับอบก.คำนวนคาร์บอนเครดิตให้ รวมไปถึงขอใบรับรองด้วย ว่าเราได้คาร์บอนเครดิตของไร่นี้เท่าไหร่ และเราจะขายเท่าไหร่ โดยมีใบรับรองจากอบก.ว่าเราสามารถขายได้ เป็นต้น

คาร์บอนเครดิต คืออะไร? ราคาขายปัจจุบันอยู่ที่เท่าไหร่?

ในตลาดของโครงการ Verified Emission Reductions (VERs) ตอนนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 120 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 231,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ข้อมูลอัพเดตปี พ.ศ.2565)

แผนภูมิราคาเฉลี่ยคาร์บอนเครดิตในแต่ละปี ที่มา อบก. โอกาสมาแล้ว

แน่นอนว่าในอนาคต โครงการเหล่านี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มาแรงในโลกธุรกิจอุตสาหกรรมสักวัน โดยเฉพาะในประเทศไทยของเราที่ผู้ซื้อผู้ขายยังน้อย เนื่องจากอยู่ในตลาดภาคสมัครใจ ยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับชัดเจน ยังคงเป็นการตลาดที่มีอิสระในการซื้อขายอยู่พอสมควร

การซื้อขายคาร์บอนเครดิต นอกจากจะช่วยในการจูงใจภาคอุตสาหกรรมทั้งหลายให้หันมาลดการปล่อยก๊าซแต่พอดีในกระบวนการผลิตสินค้าของตนตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำแล้ว ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้ด้วย

เนื่องจากโครงการที่ภาคอุตสาหกรรมจัดขึ้นนั้น มักจะไหว้วานยืมมือมาจากกลุ่มชาวบ้านในชุมชนในการช่วยเหลือในด้านของแรงงานและองค์ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ท้องถิ่น เพื่อให้การปลูกต้นไม้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเหมาะสมกับสถานที่ปลูกตามชนิดพันธุ์ของต้นไม้ไป อีกทั้งยังช่วยให้โลกของเราควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปได้ ไม่ให้โลกร้อนขึ้นนั่นเอง

ที่มาข้อมูล

http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/page/

https://www.bangkokbiznews.com/news/915259

http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y2hhcnQ=

https://www.thaipost.net/columnist-people/29001/

https://so06.tci-thaijo.org/index.php/hsudru/article/view/247859

related