svasdssvasds

ครม. รับทราบผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)

ครม. รับทราบผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)

ครม. รับทราบผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) ของ 140 ส่วนราชการ พบ 100% มีการมอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่บ้านและเหลื่อมเวลาทำงานในสถานที่ราชการ ยกเว้นงานบริการประชาชนและงานรักษาพยาบาล

ครม. วันนี้ (19 พ.ค. 63) – นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. เรื่องผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) ครั้งที่ 1 (สรุปข้อมูล วันที่ 12 พ.ค. 63) พบว่า ทั้ง 140 ส่วนราชการมีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ซึ่งครบ 100% โดย 74 ส่วนราชการ (53%) กำหนดให้ 50% ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานนอกสถานที่ในหลายรูปแบบต่างๆ เช่น การทำงานที่บ้านสลับกับมาทำงานที่ส่วนราชการ

ครม. รับทราบผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)

ส่วนการเหลื่อมเวลาทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ พบว่ามีการเลือกใช้การเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 07.30 – 15.30 น. เวลา 08.30 – 16.30 น. หรือเวลา 06.00 – 14.00 น. เวลา 14.00 – 22.00 น. เวลา 22.00 – 06.00 น. เช่น กรมประมง กรมทางหลวง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทำงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติ ในงานที่มีความจำเป็น เช่น งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานตามนโยบายเร่งด่วนจากสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งบางตำแหน่ง เช่น ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนัก/กอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการทำงาน อาทิ การลงเวลาผ่านระบบออนไลน์ การประสานงานผ่าน Application LINE , Zoom , Microsoft Team , Cisco , Webex และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็มีหลายที่ที่มีข้อจำกัด ทั้งขาดอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน สัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเจ้าหน้าที่ขาดความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงาน และงานบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ เช่น งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการ งานภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน งานความลับ เป็นต้น

ดังนั้น สำนักงาน ก.พ. จึงได้เสนอแนะการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การจัดให้มีอุปกรณ์หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ต้องมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติราชการในสถานที่ตั้งอย่างเหมาะสม เช่น จุดคัดกรองโดยมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ และเตรียมน้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรค กำหนดระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น โดยหัวใจสำคัญของการบริหารที่ส่วนราชการยังคงเน้นประสิทธิภาพในการทำงานทั้งในและนอกสถานที่ตั้ง ให้บรรลุผลตามเป้าหมายและคุณภาพของการทำงานและการให้บริการต้องไม่ลดลง

related