svasdssvasds

กทม.ใช้ 6 ยุทธศาสตร์ รับมือน้ำหลากปีนี้

กทม.ใช้ 6 ยุทธศาสตร์ รับมือน้ำหลากปีนี้

ผู้ว่าฯกทม. เผย พร้อมนำ 6 ยุทธศาสตร์ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รับมือน้ำหลากในปีนี้

(4 มิ.ย. 61) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงานเสวนา “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ” ว่า การเสวนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศครั้งนี้ มีเป้าหมายให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าใจและทราบถึงสถานการณ์น้ำ แนวทางการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศ การบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ด้านทรัพยากรน้ำ 38 หน่วยงาน โดยแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2558-2569) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้

กทม.ใช้ 6 ยุทธศาสตร์ รับมือน้ำหลากปีนี้

          ​ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค โดยมีเป้าหมายพัฒนาประปาหมู่บ้าน 7,490 หมู่บ้าน ปรับปรุงประปาหมู่บ้าน 9,093 หมู่บ้าน ชุมชนเมือง มีระบบประปาเพิ่มขึ้น 255 เมือง และขยายเขตประปา 688 แห่ง  ขณะนี้ จัดทำประปาหมู่บ้านแล้วเสร็จ 7,234 แห่ง คงเหลืออีก 256 หมู่บ้าน ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

​ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพื่อจัดหาน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงในภาคการผลิตเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยมีเป้าหมายพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำได้ไม่น้อยกว่า 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่ชลประทาน ไม่น้อยกว่า 8.7 ล้านไร่ โดยมีโครงการสำคัญในปี 2562-2565 ได้แก่ แผนพัฒนาน้ำต้นทุนรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนลำตะคอง และโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล จะทำให้ประเทศไทยมีน้ำต้นทุนมั่นคงยิ่งขึ้น

​ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพื่อลดความเสียหายจากอุทกภัยของชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยมีเป้าหมายปรับปรุงเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ มากกว่าร้อยละ 10 ในลำน้ำสายหลัก 870 กิโลเมตร ลดความเสียหายจากน้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำวิกฤต 10 ลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 185 แห่ง โครงการสำคัญในปี 2562-2565 ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา 9 แผน โครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการอุโมงค์ระบายน้ำในเขตกทม. จะทำให้พื้นที่น้ำท่วมเขตเมืองและระดับลุ่มน้ำลดลง

​ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ เพื่อให้แหล่งน้ำมีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 201 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย 47 แห่ง ลดปริมาณน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน ป่าสัก มูล ชี ควบคุมความเค็ม          ​

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและพื้นที่เสื่อมโทรม เพื่อปรับสมดุลระบบนิเวศ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ ได้ตั้งเป้าหมายให้มีองค์กร กฎหมาย ระบบข้อมูล การประชาสัมพันธ์ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ จัดตั้งหน่วยงานกลาง และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ

กทม.ใช้ 6 ยุทธศาสตร์ รับมือน้ำหลากปีนี้

​ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 นี้ คาดว่า จะมีค่าฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ  5–10% และน้อยกว่าปี 2560 โดยอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วง ในเดือน มิ.ย. 61 และจะมีโอกาสเกิดพายุเข้าประเทศไทยจำนวน 1-2 ลูก ในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย.

การวางแผนเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน ไว้จำนวน 60 ล้านไร่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในทุกภาคส่วน รวม 88,771 ล้านลบ.ม. ทั้งนี้หลังสิ้นฤดูฝนคาดว่าจะมีน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่การเกษตรฤดูแล้ง ปี 2561/62 ประมาณ 60,064 ล้านลบ.ม. มากกว่าปี 2560 จำนวน 10,910 ล้านลบ.ม.

related