svasdssvasds

จิตแพทย์แนะวิธีเยียวยาจิตใจเด็กติดถ้ำ

จิตแพทย์แนะวิธีเยียวยาจิตใจเด็กติดถ้ำ

จิตแพทย์ เผยทีมหมูป่า อะคาเดมี ติดในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อาจมีอาการเพ้อ และเครียด เพราะอยู่ในที่แคบและมืดในเวลานาน

จิตแพทย์แนะวิธีเยียวยาจิตใจเด็กติดถ้ำ

นายแพทย์ กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ เปิดเผยกรณีทีมหมูป่าอะคาเดมีติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ว่า การไปอยู่ในที่มืดและแคบติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้มีอาการเพ้อ ทางการแพทย์เรียกว่า delirium คือคนไข้มีสภาวะสับสน อาจมีหูแว่ว เนื่องจากไม่มีอะไรกระตุ้นเป็นระยะเวลานาน รวมไปถึงระบบร่างกายขาดน้ำ ขาดอาหาร ร่างกายปรับตัวและขับของเสียที่ไม่ปกติ

ส่วนอีกโรคที่เสี่ยงเช่นกัน คือโรคเครียด ภาวะที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งภาวะนี้เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายและจิตใจ ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด จะเกิดอาการเครียดประมาณหนึ่งเดือน หากเกิดอาการนานกว่านั้น จะกลายเป็นโรคเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ หรือ PTSD

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเครียด จะรู้สึกกลัว หวาดระแวง หรือตื่นตระหนกหลังเผชิญสถานการณ์อันตราย หรือฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนง่าย รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ ไม่เข้าสังคม ไม่พบปะผู้คน รวมทั้งไม่สนใจสิ่งรอบตัว

การดูแลสภาพจิตใจและเยียวยานั้น ทีมแพทย์ต้องดูแลด้านร่างกายก่อน เมื่อร่างกายแข็งแรงฟื้นตัวเรียบร้อย หลังจากนั้นก็ดูสภาพจิตใจ จิตแพทย์ต้องประเมินเด็กเพราะสภาพจิตใจพื้นฐานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การปรับตัวจึงไม่เท่ากัน

ซึ่งทีมนักเตะหมูป่า เคยมีประสบการณ์ไปเที่ยวถ้ำมาก่อนอาจไม่มีปัญหามากนัก เพราะเข้าไปเป็น กลุ่มหลายคน ความเครียดจะลดน้อยลงมากกว่าการหลงถ้ำคนเดียว

เมื่อประเมินเด็กแต่ละคนได้แล้วต้องสังเกตพฤติกรรม เด็กบางคนอาจเล่าระบายความเครียด แต่เด็กบางคนอาจไม่พูดอะไรเลย จึงต้องสังเกตว่าเด็กยังมีฝันร้าย หรือนอนผวาหรือไม่ ต้องใช้เวลาประเมินอาการ 3 เดือน บางราย 6 เดือน หรือบางรายอาจใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป หากไม่หาย อาจเข้าข่ายป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งต้องใช้ยารักษาควบคู่

จิตแพทย์ ฝากย้ำด้วยว่า หลังทีมหมูป่าต้องเผชิญชะตากรรมในถ้ำเป็นเวลานาน เมื่อออกมาได้ สื่อมวลชนไม่ควรนำเด็กไปออกรายการ เพราะจะทำให้เด็กมีการบาดเจ็บทางด้านจิตใจซ้ำแล้วซ้ำอีก ทางที่ดีควรให้เด็กฟื้นฟูสภาพจิตใจหรือประเมินก่อนว่าเด็กพร้อมจะเล่าหรือไม่

related