svasdssvasds

นักวิทย์ขุดพบซากฟอสซิล "มังกรจีน" อายุ 240 ล้านปี ที่ประเทศจีน

นักวิทย์ขุดพบซากฟอสซิล "มังกรจีน" อายุ 240 ล้านปี ที่ประเทศจีน

สัตว์ในตำนานมีจริง? นักวิทย์ประกาศขุดพบซากฟอสซิล "มังกรจีน" สัตว์ดึกดำบรรพ์อายุ 240 ล้านปี รุ่นเดียวกับไดโนเสาร์ ที่มณฑลกุ้ยโจว ประเทศจีน

SHORT CUT

  • นักวิทยาศาสตร์ขุดพบซากฟอสซิล "มังกรจีน" ในมณฑลกุ้ยโจว ประเทศจีน
  • มังกรจีน มีคอยาวเกือบ 2.3 เมตร มีกระดูกสันคอมากกว่ายีราฟ
  • มังกรจีนเป็นสัตว์เลื้อยคลานกินเนื้อ ล่าเหยื่อเขตน้ำตื้น
  • มังกรจีน มีชีวิตในยุคไทรแอสซิก เมื่อราว ๆ 240 ล้านปีก่อน

สัตว์ในตำนานมีจริง? นักวิทย์ประกาศขุดพบซากฟอสซิล "มังกรจีน" สัตว์ดึกดำบรรพ์อายุ 240 ล้านปี รุ่นเดียวกับไดโนเสาร์ ที่มณฑลกุ้ยโจว ประเทศจีน

จะเป็นไปได้หรือเปล่านะที่สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในตำนานของจีนอย่าง “มังกร” จะมีอยู่จริง แต่ไม่ได้เป็นเหมือนดังเรื่องเล่าขาน แต่เป็นไดโนเสาร์ชนิดหนึ่งที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 240 ล้านปีก่อน

งานวิจัยที่เผยแพร่ลงวารสาร Earth and Environmental Science : Transactions of the Royal Society of Edinburgh เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา เผยว่า นักวิทยาศาสตร์ได้มีการขุดพบฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานสายพันธุ์ Dinocephalosaurus orientails หรือมีชื่อเล่นว่า “มังกรจีน (Chinese dragon)” ในมณฑลกุ้ยโจว ทางตอนใต้ของประเทศจีน

ฟอสซิลมังกรจีน Cr.national Museums Scotland

มังกรจีน เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 240 ล้านปีที่แล้ว ในช่วงยุคไทรแอสซิก (252-201 ล้านปีก่อน) ซึ่งสายพันธุ์นี้ถูกพบครั้งแรกเมื่อนานมาแล้วทางตอนใต้ของจีน ราว ๆ ปี 2003 แต่เราเพิ่งได้ต่อชิ้นส่วนของพวกมันและพบร่างจริงของมันในปีนี้

ซากฟอสซิล มังกรจีน มีความยาวกว่า 2.3 เมตร

ความพิเศษของมังกรจีนคือคอที่ยาวเป็นพิเศษ ที่ยาวเกือบ 2.3 เมตร และมีกระดูกสันหลังคอ 32 ชิ้นแยกกัน ในขณะที่ยีราฟและมนุษย์มีกระดูกสันหลังคอเพียง 7 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับไดโนเสาร์ในยุคเดียวกัน มังกรจีนมีความยาวของคอใกล้เคียงกับ Tanystropheus hydroiodes ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานในทะเลอีกชนิดหนึ่งในยุคไทรแอสซิก ซึ่งเร่ร่อนในทะเลยุโรปและทะเลจีน

ภาพวาดจินตนาการ มังกรจีนใต้น้ำ Cr.national Museums Scotland มังกรจีนเป็นสัตว์เลื้อยคลานกินเนื้อ ที่ใช้คอยาว ๆ ของมันซุ่มโจมตีเหยื่อเงียบ ๆ ในพื้นที่น้ำตื้น โดยซากฟอสซิลของมันมีเศษซากของปลาที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

“การค้นพบนี้ทำให้เราได้เห็นร่างเต็ม ๆ ของสัตว์คอยาวเป็นครั้งแรก และเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของโลกที่แปลกประหลาดและมหัศจรรย์ของไทรแอสซิกที่ยังคงทำให้เราสับสน รูปร่างของมันชวนให้นึกถึงมังกรในตำนานของจีน รูปร่างลำตัวยาวเหมือนงู” ดร.นิค เฟรเซอร์ FRSE ผู้ดูแลวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสกอตแลนด์กล่าว

การค้นพบนี้ยิ่งกระตุ้นความหวังของนักวิทยาศาสตร์ ว่างานวิจัยในอนาคตของเราอาจช่วยให้เราเข้าใจวิวัฒนาการของสัตว์กลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์คอยาวเหล่านี้

ที่มาข้อมูล

Live Science

National Museums Scotland

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related