โฆษก สธ. ชี้แจง หลังเคยให้ข้อมูล โควิด-19 ไม่มีอาการ ไม่แพร่เชื้อ
จากกรณีที่ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นพ.ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ผ่านสื่อว่า “ไม่มีอาการ = ไม่แพร่เชื้อ” รวมถึงมีการโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยมีเนื้อหาช่วงหนึ่งว่า "...ขอย้ำว่า ขณะไม่มีอาการ ไม่แพร่เชื้อ"
ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลข่าวสารรวมถึงนายแพทย์บางท่านที่ยืนยันว่า ผู้มีเชื้อโควิด-19 แม้ยังไม่มีอาการ (ระยะฟักตัวโดยเฉลี่ย 14 วัน) แต่ก็สามารถเป็นพาหะนำโรค หรือแพร่เชื้อได้
เพื่อไขข้อสงสัยนี้ให้กระจ่าง สปริงนิวส์จึงได้ติดต่อสอบถามไปยัง นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นพ.ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคุณหมอได้ตอบคำถามต่างๆ ดังต่อไปนี้
สปริงนิวส์ : จากข่าวสารต่างๆ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์บางท่านระบุว่า ถ้ามีเชื้อโควิด-19 แล้ว ถึงไม่มีอาการ ก็สามารถแพร่เชื้อได้ แต่ข้อมูลของคุณหมอที่ให้สื่อ และที่โพสต์ลงเฟซบุ๊กของตัวเอง ระบุว่า “ถ้าไม่มีอาการ เท่ากับไม่แพร่เชื้อ”
นพ.รุ่งเรือง : ต้องเข้าใจก่อนว่า กลไกในการติดเชื้อคือ 1. ไอ จาม รดกัน หรือสัมผัสกันในระยะใกล้ชิด ถึงจะติด 2.สารคัดหลั่งที่ออกมา แล้วปนเปื้อน แล้วอีกคนเอามือไปจับ เอามาเข้าปากเข้าจมูก คนที่ติดเชื้อในช่วงแรกๆ ตอนที่ยังไม่มีอาการเลย จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเขาอาจจะไม่ป่วยเลย ไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ เพราะภูมิคุ้มกันเขาดี
แต่อีกกลุ่มหนึ่งสมมติเขาไม่สบาย เขาป่วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ตอนช่วงต้น ศักยภาพในการแพร่เชื้อยังต่ำ ตอนที่ไม่มีอาการ แต่ถ้าช่วงที่เขามีอาการ เช่นมีไข้ ไอ หรือมีอาการหอบ หรือมีอาการไออย่างรุนแรง ช่วงนี้มีศักยภาพในการแพร่เชื้อสูงมาก เพราะว่าไวรัสมีการเพิ่มจำนวน อยู่ในสารคัดหลั่งทางปาก ทางจมูก ทางน้ำลาย เวลาไอมันมีละอองฝอยออกมา เป็นละอองฝอยขนาดใหญ่
ดังนั้น เวลาเราอธิบายให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ ต้องอธิบายด้วยภาพใหญ่ก่อน แล้วข้อมูลที่หมออธิบายเนี่ย ถูกต้องตามหลักขององค์การอนามัยโลก ถูกต้องตามหลักไวรัสวิทยา และถูกต้องตามหลักระบาดวิทยา
สปริงนิวส์ : ฉะนั้นแล้ว จะสรุปอย่างนี้ได้ไหมครับ ผู้ที่ยังไม่มีอาการ มีโอกาสแพร่เชื้อ แต่น้อยมากๆ ?
นพ.รุ่งเรือง : มีอาการ มีโอกาสแพร่เชื้อน้อยมาก ยกตัวอย่างนะครับ สมมติหมอติดเชื้อมา มีเชื้ออยู่ในจมูก หรือทางเดินหายใจ ซึ่งหมอยังไม่มีอาการ แต่ถ้าหมอจะให้คุณติดเชื้อด้วย หมอจะต้องเอามือไปแคะจมูก แล้วนำมาใส่จมูก ใส่ปากคุณ ซึ่งถามจริงๆ พฤติกรรมเหล่านี้ มีใครทำกันบ้างไหมครับ ส่วนใหญ่ไม่มีใครเขาทำกัน
ถามว่าโอกาสมีไหมทางการแพทย์ มีโอกาสทั้งนั้น แต่ต้องตอบว่าโดยส่วนใหญ่ ช่วงที่ยังไม่มีอาการ ศักยภาพในการแพร่เชื้อ ถือว่าแทบไม่มี หรือมีน้อยมาก ต้องเริ่มมีอาการ เช่นเริ่มมีไข้ เริ่มไอ หรือเริ่มมีน้ำมูก อันนี้เชื้อมันเพิ่มจำนวนจนสามารถทำให้อีกคนหนึ่งติดโรคได้ครับ
สมมติเรารับเชื้อมา กว่าจะมีอาการ ส่วนใหญ่จะอยู่ช่วง 5 – 9 วัน สูงสุดคือ 14 วัน ดังนั้นช่วงต้น อาการก็จะอ่อนๆ มาตลอด ช่วงที่ยังไม่มีอาการเลย โอกาสหรือศักยภาพในการแพร่เชื้อ ถือว่าน้อย เพราะจำนวนไวรัสที่เติบโตในร่างกาย มันเพิ่มจำนวนไม่มาก
แต่ ณ วันที่เริ่มมีอาการ วันนั้นเเหละครับ จะเป็นวันที่มีศักยภาพในการเเพร่เชื้อได้สูงสุด จริงอยู่ว่าก่อนมีอาการ อาจจะมีโอกาสแพร่เชื้อได้ ตามข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่หลายคนออกมาพูด แต่ว่าโอกาสน้อยมากๆ เพราะว่าจำนวนเชื้อมันไม่ได้เพียงพอที่จะเเพร่แบบฟุ้งกระจาย อย่างไรก็ตาม หมอถึงเน้นว่า ถ้ามีอาการไม่สบาย ต้องสวมหน้ากกาอนามัย เพื่อไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น ต้องหมั่นล้างมือ เพราะมือไปสัมผัส แล้วมาเข้าปากเข้าจมูก (ทำให้เชื้อ) เข้าสู่ทางเดินทางหายใจได้ครับ
สปริงนิวส์ : จากที่คุณหมออธิบาย หากให้สรุปตามความเข้าใจของผม ก็คือ ผู้ติดเชื้อในระยะเริ่มต้น แต่ยังไม่มีอาการ สามารถแพร่เชื้อได้ แต่มีโอกาสน้อยมาก หรือแทบจะไม่แพร่เชื้อเลย แต่ข้อมูลที่คุณหมอให้กับสื่อ รวมถึงที่โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่า “ถ้าไม่มีอาการ ไม่แพร่เชื้อ” ตรงนี้คุณหมอยังยืนยันตามเดิมอยู่หรือเปล่าครับ ?
นพ.รุ่งเรือง : ยืนยันครับ ผมยังยืนยันว่า ถ้าท่านยังไม่มีอาการเนี่ย ไม่แพร่เชื้อ คือหมอต้องเขียนเน้นอย่างนั้น เพราะว่าเราต้องให้ความมั่นใจในสิ่งที่ถูกต้องกับพี่น้องประชาชน เราจะเอาข้อมูลส่วนน้อยมาเขียน มันไม่ถูกต้อง
เช่นในหนึ่งแสนกว่าคน อาจจะมีคนที่มีอาการน้อยๆ หรือแทบไม่มีอาการ แต่ก็แพร่เชื้อได้ แต่มีศักยภาพในการแพร่เชื้อต่ำ เขาต้องมีพฤติกรรมผิดแปลกไปจากคนธรรมดา ซึ่งถ้าเราเอาข้อมูลส่วนน้อยมาเขียน ก็ทำให้คนตกใจ หมอขอเน้นย้ำ ศักยภาพโอกาสในการเแพร่เชื้อน้อยมาก จนแทบไม่มี ในขณะที่ยังไม่มีอาการ