svasdssvasds

วิธีปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจากโรค โควิด 19

วิธีปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจากโรค โควิด 19

ผู้สูงอายุ นับเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงในช่วงนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19 และมีอัตราเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น และนี่คือคำแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุจากหลากหลายหน่วยงาน

วิธีปฏิบัติเพื่อให้ผู้สูงอายุปลอดภัยจาก โควิด 19 เน้นให้หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน หากไม่จำเป็น ที่สำคัญหากคนในบ้านมีประวัติเสี่ยงหรือไปสถานที่แออัดมา ให้เว้นระยะห่างจากผู้สูงอายุอย่างน้อย 1-2 เมตร เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะหากได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลและใส่ใจมากเป็นพิเศษ หากมีการติดเชื้อในผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงรวมถึงผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป เนื่องด้วยสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันลดลงตามวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เป็นต้น

วิธีปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อป้องกันให้ผู้สูงอายุปลอดภัยจากโรคโควิด 19 ดังนี้  

1.ให้หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน หากไม่จำเป็น 

2.ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่อต้องออกนอกบ้านหรือมีคนมาเยี่ยม

3.ให้หมั่นล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์  

4.แยกสำรับอาหารและของใช้ส่วนตัว 

5.หากออกไปนอกบ้าน เมื่อกลับมาให้รีบอาบน้ำให้และสระผมทันที

ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องการการดูแลจากญาติหรือผู้ดูแล ซึ่งผู้ดูแลส่วนใหญ่แล้วยังมีความจำเป็นที่จะต้องออกไปนอกบ้านเพื่อทำงาน หรือไปหาซื้อของกินของใช้เข้ามาในบ้าน จึงทำให้มีโอกาสนำเชื้อจากภายนอกมาสู่ผู้สูงอายุได้

การจำกัดบริเวณให้ผู้สูงอายุอยู่แต่ในบ้าน เมื่อต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานติดต่อกันหลายเดือน อาจส่งผลให้สภาพร่างกายและสมองของผู้สูงอายุถดถอยลง จนเกิดภาวะพึ่งพิงในระยะยาว รวมทั้งเกิดความเครียด ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบกับทั้งครอบครัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

แนวทางป้องกันเชื้อโควิด 19 ไม่ให้แพร่สู่ผู้สูงอายุ

ข้อปฏิบัติสำหรับญาติที่ไม่ใช่ผู้ดูแลหลัก

- ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ เช่น มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ โควิด 19 หรือ ผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือแหล่งที่มีการติดเชื้อในชุมชนในวงกว้าง ทุกรายต้องแยกตัวออกจาก ผู้อื่น และไม่เข้าไปใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้สูงอายุและเด็กอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเด็กร่างกายไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ เด็กมักจะไปใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ เด็กอาจไม่เข้าใจวิธีและขาดความระมัดระวังในการป้องกัน โดยให้สังเกตอาการอย่างน้อย 14 วัน

- ห้ามไม่ให้ผู้ที่มีไข้ ตัวร้อน หรือมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจล้าบาก เข้าเยี่ยมผู้สูงอายุโดยเด็ดขาด

- งดหรือลดการมาเยี่ยมจากคนนอกบ้านให้น้อยที่สุด โดยแนะนำให้ใช้การเยี่ยมโดยการโทรศัพท์ หรือติดต่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แทน

- ในขณะเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุให้ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง ลดการเข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ดูแลหลักของผู้สูงอายุ และตัวผู้สูงอายุ

- ควรจัดให้มีผู้ดูแลหลักคนเดียว โดยเลือกคนที่สามารถอยู่บ้านได้มากและจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านน้อยที่สุด สามารถสลับสับเปลี่ยนผู้ดูแลหลักได้ แต่ไม่ควรเปลี่ยนบ่อย และต้องแน่ใจว่าผู้จะมาเป็นผู้ดูแลหลักใหม่ต้องไม่ใช่ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ

- ระหว่างมีการระบาดทั้งผู้ดูแลหลักและผู้สูงอายุ ควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านให้มากที่สุด

- ทั้งผู้ดูแลหลักและผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็ก เนื่องจากเด็กมักจะไปใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ เด็กอาจไม่เข้าใจวิธีและขาดความระมัดระวังในการป้องกันได้

- หากผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลต้องออกนอกบ้าน ควรเลือกเวลาออกจากบ้านที่ไม่เจอกับความแออัด หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะและการไปในที่แออัด ต้องรีบทำธุระให้เสร็จโดยเร็ว ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง รวมถึงพกแอลกอฮอล์เจลไปด้วย โดยทำความสะอาดมือทุกครั้งหลังจับสิ่งของและก่อนเข้าบ้านทุกครั้ง

- ผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลเมื่อกลับถึงบ้าน ควรอาบน้ำสระผม ทำความสะอาดร่างกายและของใช้ที่ติดตัวกลับมาจากนอกบ้าน รวมถึงเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที ก่อนไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุคนอื่นๆ

กรณีผู้สูงอายุต้องไปพบแพทย์ตามนัด

- ในกรณีที่อาการคงที่ และ ผลการตรวจล่าสุดปกติ ให้ติดต่อโรงพยาบาลเพื่อเลื่อนนัด หรือไปรับยาแทน หรือรับยาใกล้บ้าน

- ในกรณีที่อาการแย่ลง หรือผลการตรวจล่าสุดผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลเพื่อนัดหมายให้ไปตรวจ ด้วยช่องทางที่ปลอดภัยที่สุด โดยให้ผู้สูงอายุสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า คลุมผ้าที่ตัวผู้สูงอายุให้มิดชิด และเมื่อกลับถึงบ้านให้อาบน้ำสระผม ทำความสะอาดร่างกายและของใช้ที่ติดตัวกลับมาจากนอกบ้าน เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ และซักเสื้อผ้า และผ้าคลุมทันที

- ล้างมือด้วยการฟอกสบู่อย่างน้อย 20 วินาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลโดยทิ้งไว้ให้ชุ่มไม่แห้งเร็วกว่า 20 วินาที ทุกครั้งเมื่อกลับเข้าบ้าน ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังการไอจาม และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน แต่หากมีการมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเอง ไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับ หรือใช้ภาชนะเดียวกัน หรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน

- ผู้สูงอายุควรแยกห้องพักและของใช้ส่วนตัว หากแยกห้องไม่ได้ ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด ที่พักอาศัยและห้องพักควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้ เครื่องปรับอากาศ

- หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ เช่น แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ แอลกอฮอล์เจล sodium hypochlorite (น้ำยาซักผ้าขาว) หรือ chloroxylenol หรือ hydrogen peroxide เช็ด ตามพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยๆ อาทิ สวิตช์ไฟ ลูกบิดหรือมือจับประตู โต๊ะ ราวจับ รีโมท โทรศัพท์ พื้น โถส้วม ปุ่มกดน้ำตรงชักโครก ก๊อกน้ำ ระวังพลัดตกหกล้มโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เปียกน้ำ หรือพื้นลื่นที่เป็นผิวมัน
 

หมายเหตุ

- sodium hypochlorite (น้ำยาซักผ้าขาว) ไม่เหมาะกับพื้นผิวโลหะ หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 2.54 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 40 มิลลิลิตร (2.8 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 5.7 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 18 มิลลิลิตร (1.2 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 20 มิลลิลิตร (1.3 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 6 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 17 มิลลิลิตร (1.1 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร

- Chloroxylenol ถ้าความเข้มข้น 4.8 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 25 มิลลิลิตร (1.7 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร

- hydrogen peroxide ไม่เหมาะกับโลหะและผลิตภัณฑ์ที่มีการเคลือบสี หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 110 มิลลิลิตร (7.5 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร หากผลิตภัณฑ์มีความเข้มข้น 3 เปอร์เซ็นต์ ให้ผสม 200 มิลลิลิตร (13.5 ช้อนโต๊ะ) ต่อ น้ำ 1 ลิตร

หากพบว่าผู้สูงอายุมีอาการไม่ชัดเจนเสี่ยงติดเชื้อ เช่น อาจไม่มีไข้ หรืออาจ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือรับอาหารทางสายยางไม่ได้ ซึม สับสนเฉียบพลัน ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะรุนแรงมากกว่าในวัยอื่นๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

- สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
- สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- กองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย
- สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
- กรมควบคุมโรค

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิธีออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุช่วงกักตัวอยู่บ้าน

วิธีลดการแพร่กระจายเชื้อ โควิด 19 เมื่อกลับถึงบ้าน

การฆ่าตัวตายและวิธีการรับมือกับปัญหาในช่วงการระบาดของ โควิด 19