svasdssvasds

โรคหัวใจ เลี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

โรคหัวใจ เลี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อทุกระบบในร่างกาย เราจึงควรดูแลหัวใจ ป้องกันความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคร้ายทำลายหัวใจ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้หัวใจแข็งแรงปกป้องชีวิต

หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญยิ่งต่อทุกระบบในร่างกาย ทำหน้าที่คอยรับเลือดดำจากทั่วร่างกายไปฟอกที่ปอด หลังจากนั้นจึงนำกลับมาสูบฉีด เพื่อนำสารอาหารและอากาศไปเลี้ยงทั่วร่างกาย หัวใจจึงเป็นกำลังหลักในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท เราควรดูแลหัวใจให้แข็งแรงด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ สูบบุหรี่ ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย ไม่รับประทานผัก ผลไม้ โรคอ้วนลงพุง และกรรมพันธุ์ เป็นต้น

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า หากหัวใจทำงานผิดปกติ จะพบอาการบ่งชี้ที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น แน่นหน้าอกอย่างรุนแรงคล้ายมีบางอย่างมากดทับ รู้สึกร้าวไปทั้งแขนด้านซ้าย นอกจากนี้ยังรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือในบางรายมีการแสดงอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น ขณะทำงาน เล่นกีฬาหรืออยู่นิ่งๆ แต่มีอาการแน่นหน้าอกที่รุนแรง เหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกรามและสะบักหลังแขนซ้าย จุกคอหอย บางรายมาด้วยอาการจุกลิ้นปี่คล้ายกรดไหลย้อน หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธีและรักษาชีวิตได้อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม เราสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ดังนี้

  • ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารหลากหลายในสัดส่วนอันเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง อาหารประเภทไขมันที่มาจากสัตว์ทุกชนิด มันหมู มันเนื้อ หนังไก่ หรือไข่แดง รวมถึงอาหารที่มีไขมันทรานส์ด้วย
  • ลดหวาน มัน เค็ม ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อาทิ ลดเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง และอาหารที่มีรสเค็มจัด เพื่อลดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อการทำงานของหัวใจและทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน การออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้หัวใจแข็งแรง ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดน้ำหนักส่วนเกิน ผ่อนคลายความเครียด ทำให้อารมณ์ดี และกระดูกแข็งแรงอีกด้วย
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ความอ้วนและน้ำหนักส่วนเกินไม่ส่งผลดีแต่ประการใด โดยเฉพาะกับสุขภาพหัวใจ น้ำหนักเกินนั้นเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ที่มีรอบเอวหนามีความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งทั้ง สามโรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคหัวใจทั้งสิ้น
  • งดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด บุหรี่ประกอบไปด้วยสารเคมีหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต สารเหล่านี้จะเพิ่มความดันให้สูงขึ้น และลดปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือดลง ดังนั้นไม่ว่าจะสูบมากหรือสูบน้อยก็เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นเดียวกัน แม้แต่ผู้ที่สูบเป็นบางครั้ง ก็ยังมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบเลย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากสารโปรตีนในตัวเราจะสะสมมากขึ้นในหัวใจเวลาร่างกายตื่นโดยธรรมชาติ แต่ถ้าหากเราไม่นอน หรือนอนดึก สารโปรตีนเหล่านี้จะยิ่งเข้าไปเกาะที่หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดการอุดตันได้ โดยมีการวิจัยในกลุ่มคนที่ทดลองไม่ได้นอนเป็นเวลา 88 ชั่วโมง พบว่าจะมีความดันเลือดที่สูงมากผิดปกติ และในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 60 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจถึง 2 เท่า

หากสามารถปฏิบัติได้ตามที่กล่าวมาทั้งหมด เพียงเท่านี้ก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หัวใจแข็งแรงปกป้องชีวิตของเราได้อย่างปลอดภัย รวมถึงควรตรวจสุขภาพหัวใจทุกๆ 2 ปี แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงควรเพิ่มความถี่ในการตรวจมากขึ้น บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจหัวใจขั้นสูง เช่น ทดสอบสมรรถภาพหัวใจบนสายพานวิ่ง แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพของผู้เข้ารับการตรวจด้วย

 

related