svasdssvasds

มาเร็วและแรง "ประเทศกูมี" ความอัดอั้นใกล้ถึงวันระเบิด

มาเร็วและแรง "ประเทศกูมี" ความอัดอั้นใกล้ถึงวันระเบิด

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ร้อนที่สุดทั้งบนสื่อหลักและสื่อโซเชียลวันนี้ ไม่มีอะไรเกินกว่าเพลงแร๊พ"ประเทศกูมี"ของกลุ่มศิลปินหลากวัย

เอ็มวีถูกปล่อยออกมาครั้งแรก 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา แรกๆก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่พอมีนำเสนอผ่านสื่อ และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.ฝ่ายความมั่นคง ออกโรงมาพูดว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แบบ 50:50 เท่านั้นแหละ

บุคคลจากหลายฝ่ายหลายกลุ่มต่างเปิดปากวิพากษ์วิจารณ์กันอึงมี่ ส่งผลให้ยอดคนดูในยูทูปแค่ช่วง 2 วันหลังทะลุ 6 ล้านคนเข้าไปแล้ว

ขณะที่โลกโซเชียล ผู้คนส่วนใหญ่ได้ร่วมผสมโรงขยายผล อีกจำนวนไม่น้อยกดไลค์กดแชร์ โดยไม่สนใจเสียงเตือนสุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมาย

คำถามและการตั้งประเด็นที่ฮ็อดฮิตที่สุด หนีไม่พ้นไม่จริงตรงไหน ทำไมตำรวจ ปอท.หรือกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีถึงขั้นต้องเรียกสอบคนทำเอ็มวี และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในเมื่อสาระในเนื้อเพลง ล้วนเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยทั้งสิ้น

ซึ่งคำตอบที่ชัดเจน คือเรื่องการนำเข้าข้อมูลอันจะมีผลต่อด้านความมั่นคงของประเทศ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2560 ที่มีบทลงโทษรุนแรงกว่าพ.ร.บ.คอมฯ ปี 2550

ด้วยเรื่องความมั่นคงนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและประเทศ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลว่า จะมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร แต่โอกาสที่จะชี้ว่า เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงนั้นมีสูง

แม้ในมุมมองของอีกฝ่าย จะเห็นว่าเป็นเหมือนการสะท้อนข้อเท็จจริงและความเป็นไปของบ้านเมือง ในช่วง 2-3 ปีหลัง

อย่างกรณีนาฬิกาหรูราคาแพง ซึ่งเป็น"ความรู้สึกร่วม"ของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า เป็นความพยายามจะช่วยเหลือผู้มีอำนาจ โดยหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และในท้ายที่สุด ป.ป.ช.ก็ไม่มีความคืบหน้าเรื่องนี้มาแจกแจงอธิบายต่อประชาชนให้หายข้องใจสงสัยได้

เช่นเดียวกับเรื่องการแตกแยกเป็น 2 กลุ่ม 2 ขั้วการเมือง ที่สุดท้ายโดนทหารเข้ามาแทรกแซงยึดอำนาจโดยไม่ยอมปล่อย กระทั่งผ่านไปแล้ว 4 ปี ก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง

ดังนั้น สิ่งเดียวที่จะอธิบายเรื่องเตรียมจัดการทางกฎหมายกับกลุ่มศิลปินและผู้เกี่ยวข้องกับเอ็มวีเพลงนี้ จึงถูกมองว่า อยู่ที่ความต้องการกระชับอำนาจต่อไป ไม่ต้องการเห็นใครกลุ่มไหนกล้าหือหรือแสดงออกในทิศทางคัดค้านต่อต้าน

เป็นการปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความรู้สึกของประชาชนส่วนหนึ่ง ที่รู้สึกอึดอัดมานาน ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออก ความไม่พอใจเรื่องความไม่เท่าเทียมของผู้คนที่ถูกจัดอยู่ในขั้วการเมืองใดขั้วการเมืองหนึ่ง การยื้อเรื่อง"ปลดล็อคพรรคการเมือง"ออกไป แค่กลับให้บางฝ่ายบางกลุ่มเคลื่อนไหว ปฏิบัติการ"ดูด อดีตส.ส."ได้ เรื่อยไปกระทั่งถึงเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ซึ่งเป็น"จุดด้อย"ของรัฐบาลมาโดยตลอด

เมื่อท้ายที่สุด แค่กลุ่มศิลปินต้องการประมวลเรื่องสาระพันปัญหาที่หมักหมมของประเทศ มาแสดงออกผ่านบทเพลงแร๊พ ก็ยังจะถูกหาทางเล่นงาน จึงเป็นแรงผลักจากความรู้สึกอุดอู้ที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ให้ระเบิดออกมาผ่าน"ความรู้สึกร่วม"ในโลกโซเชียล

กระทั่งศิลปินอย่างดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค ที่มีแฟนคลับอยู่ไม่น้อย ยังต้องโพสต์ให้ข้อคิด ไม่ว่าแร๊พหรือหมอลำ มาแล้วก็ไปตามกาลเวลา จึงไม่ต้องกลัวว่า "ประเทศกูมี" จะทำลายชาติ

ท่ามกลางความเห็นต่างของอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นสอดคล้องกับฝ่ายความมั่นคงและซีกรัฐบาล กลายเป็นสงครามวิวาทะ ฟาดฟันกันนัวเนีย

และยังจะเป็นปฐมบท การใช้สื่อโซเชียลช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งโค้งสุดท้าย ที่ต้องมีกฎ กติกา มารยาทที่ชัดเจนออกมาใช้โดยเร็ว

หาไม่แล้ว อาจไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รวมถึงความรู้สึกที่อัดอั้น อาจรอวันระเบิดออกมาผสมโรงด้วยก็เป็นได้

ทางออกที่ดีที่สุด คือต้องไม่คิดเอาชนะฝ่ายเดียว โดยไม่ผ่อนปรน หรือเปิดช่องทางระบายให้กับอีกฝ่ายเลย

related