svasdssvasds

กิ้งก่า อีวี คืออะไร ? ภาคต่อของตู้บุญเติม ความใช้งานง่ายที่ไม่ได้มาง่าย ๆ

ไขข้อสงสัย กิ้งก่า อีวี คืออะไร ? ภาคต่อของตู้บุญเติม ที่ใช้ง่ายแต่ไม่ได้มาง่าย ๆ จากการเรียนรู้และประสบการณ์ของ ตู้เติมเงิน ตู้เต่าบิน มาสู่แท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้โหลดแอปฯก็ใช้ได้

กิ้งก่า อีวี (Ginka EV) หรือ ตู้กิ้งก่า คือ เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แบบ AC หรือ การชาร์จแบบกระแสสลับ (ในเฟสแรกเริ่ม) พัฒนาโดย กลุ่มบริษัทในเครือ Forth Corporation ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับเป็นแท่นชาร์จรถไฟฟ้าสัญชาติไทย ที่พัฒนาโดยคนไทยทั้งระบบ โดยมีจุดเด่น คือจอระบบสัมผัส ที่สามารถเชื่อมต่อและใช้งานได้โดยที่ไม่ต้องมีแอปฯ ก่อน เปิดให้ผู้ใช้สามารถ Drive-In เข้ามาชาร์จได้เลย และยังมีระบบเก็บแต้ม รวมถึงกระเป๋าเงินดิจิทัลแบบตู้เต่าบินอีกด้วย

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ระบุกับ SPRiNG News ว่า จากประสบการณ์ของบริษัทในเครือของ FORTH ตั้งแต่ตู้บุญเติมที่ใช้เติมเงิน จนพัฒนามาสู่ตู้ที่สามารถเป็นได้ทั้ง ATM , ตู้ฝากเงิน , ตู้ยืนยันตัวตน ไปจนถึง ตู้กดน้ำ หรือ เวนดิ้ง แมชชีน ซึ่งที่ผ่านมาการที่บริษัทไปลงทุนในบริษัทที่ทำ ตู้เต่าบิน ก็กลายเป็นข้อเรียนรู้ให้นำมาพัฒนาตู้ กิ้งก่า อีวี

กิ้งก่า อีวี คืออะไร ? ภาคต่อของตู้บุญเติม ความใช้งานง่ายที่ไม่ได้มาง่าย ๆ

ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ถือว่าเป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงและการผลักดันไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในประเทศไทยอยู่ที่ราว 40-50 ล้านคัน ซึ่งในระยะเวลา 3-5 ปี หลังจากนี้ จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าอาจขึ้นไปถึง 1 ล้านคัน และยังเติบโตได้อีก ดั้งนั้น FSMART จึงมองว่ายังมีโอกาสอีกมากในตลาดยานยนต์ไฟฟ้านี้

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ที่มาของชื่อกิ้งก่า อีวี

นายณรงค์ศักดิ์ ระบุว่า ชื่อของ Ginka EV เริ่มจาก จุดประสงค์ของรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการพลังงานสะอาด พอนึกถึงพลังงานสะอาดก็จะนึกถึงสีเขียวที่รักษ์โลก ประกอบกับการที่คนไทยคุ้นชื่อกับ เต่าบิน แล้ว ดังนั้นเลยกลายเป็น กิ้งก่า เพราะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แล้วยังเป็นที่จดจำง่ายอีกด้วย

“ส่วนตัวมองว่ามันสะดุดให้คนจดจำได้ เหมือนตู้เต่าบิน อันนี้คนก็เอารถไปชาร์จที่ตู้กิ้งก่า เนื่องจาก FORTH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การเป็น กิ้งก่า อีวี ก็เข้ากับภาพลักษณ์ของบริษัทที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลาด้วย”

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART

กิ้งก่า อีวี ตั้งเป้า ใช้ง่าย ไม่ต้องโหลดแอปฯ

เป้าหมายของ กิ้งก่า อีวี คือ การสนับสนุนให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้งานแท่นชาร์จ และสถานีชาร์จได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยไม่ต้องโหลดแอปฯ ก็สามารถชาร์จได้เลย และยังอำนวยความสะดวกให้ด้วยการชำระเงินผ่านบัตร สแกน Qr Code หรือ กระเป๋าเงินดิจิทัล เช่นเดียวกับตู้เต่าบิน เพียงแค่กรอกเบอร์โทรศัพท์

นายณรงค์ศักดิ์ มองว่า ประสบการณ์ด้านการเงินอัตโนมัติของตู้บุญเติมและประสบการณ์การออกแบบให้ใช้งานง่ายของตู้เต่าบิน จึงทำให้ กิ้งก่า อีวี มีจุดเด่นเรื่องการใช้งานที่เหนือกว่าเจ้าอื่น ๆ

โมเดลธุรกิจของ กิ้งก่า อีวี

ปัญหาที่ผ่านมาของคนใช้รถยนต์ไฟฟ้า คือ ปัญหาเรื่องสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือ ยังครอบคลุมไม่เพียงพอ ดังนั้นจากประสบการณ์การติดตั้งตู้บุญเติม กว่า 100,000 จุด ทั่วประเทศ ของ FSMART จึงทำให้บริษัทเชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องยากในการขยายจุดชาร์จแบบก้าวกระโดด

กิ้งก่า อีวี คืออะไร ? ภาคต่อของตู้บุญเติม ความใช้งานง่ายที่ไม่ได้มาง่าย ๆ

ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่จะนำตู้กิ้งก่าและบริการของบริษัทไปใช้จะเป็น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน คอนโด และที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล ที่ต้องการเครื่องชาร์จที่สวยงามและเครื่องชาร์จที่สเปคดีกว่าสายชาร์จที่แถมมากับรถบางยี่ห้อ

โมเดลธุรกิจของ กิ้งก่า อีวี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  • FSMART ลงทุนเอง แบ่งรายได้กับเจ้าของสถานที่ โมเดลคล้ายกับตู้บุญเติมและตู้เต่าบิน
  • ขายตู้กิ้งก่า+โซลูชั่น เช่น บริษัทดูแลระบบการเงิน ระบบบริการลูกค้าให้ ซึ่งสามารถต่อยอดไปถึงการบริหารที่จอดรถ
  • ร่วมลงทุนกับบริษัทอื่น

ตู้กิ้งก่า อีวี ราคาเท่าไหร่ ?

นายณรงค์ศักดิ์ ประมาณราคาไว้ว่า กิ้งก่า อีวี ราคาขายอยู่ 40,000-60,000 บาท/ตู้ ซึ่งสามารถเทียบสเปคได้ใกล้เคียงกับยี่ห้ออื่นที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ที่ราคาหลักแสน ข้อได้เปรียบคือ เป็นแบรนด์ที่คนไทยพัฒนา ดังนั้นการบริการและรับประกันจึงสามารถบริการได้ดีกว่าแบรนด์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

สำหรับ แท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า กิ้งก่า อีวี จะเปิดตัวต้นแบบให้ได้ชมกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะเริ่มติดตั้งจริงภายในไตรมาส 2 ปี 2566

related