มัสก์ เดินหน้าทำ Paywall เพื่อให้คนที่ยอมจ่ายเงินซื้อ Twitter Blue ไม่ต้องเจอบอทในแพลตฟอร์ม รวมทั้งมีรายได้ที่ยั่งยืนด้วย
อีลอน มัสก์ ออกแถลงการณ์ระหว่างสนทนากับ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ว่า X จะมีการออกราคาสำหรับการใช้งานเพื่ออ่านข้อมูลบน X ซึ่งจะเป็นราคาที่ถูกกว่าการจ่ายเพื่อใช้งาน X Blue หรือ Twitter Blue
แนวทางการทำระบบเพย์วอลล์ (Paywall) นี้ เป็นแนวทางที่ มัสก์ คิดว่าจะช่วยกำจัดบอท (BOT) ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
"แม้การสร้างบอทจะมีราคาแค่ไม่กี่สตางค์ แต่ถ้าจะใช้งาน X แล้วต้องจ่ายเงิน ไม่ว่าจะมีบอทจำนวนมากหรือน้อย แต่การเข้าใช้งานแพลตฟอร์มที่มีต้นทุน คนที่สร้างบอทขึ้นมาคงไม่ยอมจ่ายให้บอทจำนวนมาก เพราะเป็นต้นทุนที่สูง"
**เพย์วอลล์ (Paywall) คือ การจำกัดการเข้าถึงเนื้อหา เพื่อให้ผู้อ่านสมัครจ่ายเงินเป็นสมาชิก ซึ่งจะมีหลายรูปแบบ เช่น จำกัดให้อ่านฟรีแค่ 10 บทความก่อน หากต้องการอ่านมากกว่านั้นต้องจ่ายเงิน เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศจำนวนมากนิยมใช้วิธีนี้
นอกจากนี้ การใช้ CAPTCHA เพื่อคัดกรองและตรวจจับว่าผู้ใช้งานเป็นคนหรือบอทนั้น ต้องยอมรับว่าตอนนี้ AI ฉลาดมากขึ้น ทำให้ยากในการตรวจสอบว่าใช่คนจริงๆ หรือไม่
หาก มัสก์ วางคอนเทนต์ทั้งหมดไว้หลังระบบเพย์วอลล์ นั่นหมายความว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้จากเว็บไซต์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ มัสก์ ซื้อกิจการ Twitter เมื่อตุลาคม 2022 เขาได้พยายามในการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้งานทั้งหมด เพื่อควบคุมบอท
ซึ่งที่จริงแล้ว Twitter ก็ต้องหากลยุทธ์เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ เพราะก่อนที่มัสก์จะเข้าซื้อกิจการ ทาง Twitter เองก็ขาดทุนกว่า 344 ล้านดอลล่าร์หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท
ดังนั้นในช่วงแรก มัสก์ จำเป็นต้องปลดพนักงานประมาณ 3,700 คน จากทั้งหมด 7,500 คน ด้วยเหตุผลที่ว่าจำเป็นต้องลดต้นทุนเนื่องจากมีรายได้ใหม่ๆ เข้ามาน้อย
ทั้งนี้ รายได้จากโฆษณาของ X ลดลง 60% และเพื่อหาหนทางสร้างรายได้ใหม่ มัสก์ จึงเปิดตัว Twitter Blue ( X Blue) เพื่อเป็นการตรวจสอบผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม ว่าเป็นคนที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ด้วยสัญลักษณ์เครื่องหมายถูกข้างชื่อบัญชีของผู้ใช้งาน รวมทั้งเพิ่มฟีเจอร์ในการให้บริการ เช่น แก้ไขโพสต์ที่อาจสะกดผิดหลังจากโพสต์ได้ หรือ โพรโมตโพสต์เพื่อเพิ่มการมองเห็นให้มากขึ้น
TweetDeck อีกหนึ่งเครื่องมือยอดนิยมของผู้ใช้งาน ก็เตรียมอัปเกรดเป็น XPro ร่วมกับการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่นให้ผู้ใช้งานดูฟีดได้มากขึ้น แก้ไขภาพและข้อความที่สะกดผิดได้ ซึ่งผู้ที่จะใช้งานก็ต้องจ่ายเงินในการเข้าใช้บริการนี้เช่นกัน
ที่มา : Forbes
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม